10 สิงหาคม "วันขี้เกียจสากล" เช็กประโยชน์ความขี้เกียจ พร้อมส่องสิทธิวันลา
รู้ไหม? “ความขี้เกียจ” ก็มีประโยชน์นะ! ยืนยันจากคำกล่าวที่ว่า นวัตกรรมความก้าวหน้าต่างๆ ไม่ได้เกิดจากคนที่ตื่นเช้าทุกวัน แต่ถูกสร้างขึ้นโดย “คนขี้เกียจ” ที่พยายามหาวิธีที่ง่ายกว่าในการทำบางสิ่ง โดย Robert A. Heinlein
10 สิงหาคม เนื่องใน "วันขี้เกียจสากล" ชวนเจาะลึกสาเหตุพฤติกรรมความขี้เกียจของมนุษย์ในเชิงจิตวิทยา และประโยชน์ของความขี้เกียจที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
มีข้อมูลจาก Psychology Today ระบุว่า ความเกียจคร้านติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด และถูกสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษยุคแรกสุดของมนุษยชาติ ซึ่งพฤติกรรมความขี้เกียจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ไปจนถึงแมลงตัวเล็กๆ
พูดได้ว่าคนทุกคนมีความขี้เกียจอยู่ในตัว แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จสูง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาระดับโลกหรือแม้แต่ CEO ที่ทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็พบรายงานว่าพวกเขาอยากที่จะขี้เกียจเช่นกัน แต่กลับไม่ค่อยได้ทำตามความต้องการนั้น
อีกทั้ง ดร.แดเนียล คานีแมน (Daniel Kahneman) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์ ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเกียจคร้าน เขาพบว่า พฤติกรรมเกียจคร้านที่มองเห็นได้จากภายนอกนั้น สะท้อนมาจากความคิดเกียจคร้านภายใน โดยพบว่าแม้แต่สมองของเราก็ยังขี้เกียจ โดยปกติสมองของคนเราพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เราครุ่นคิดตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันภาวะสมองล้า
นอกจากนี้ ความขี้เกียจยังเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่เฟื่องฟูในโลกทุนนิยม เพื่อนำเสนอสินค้า/บริการ ที่ตอบโจทย์ “ความขี้เกียจ” ของคนเราได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- การพัฒนา iPhone ของ Steve Jobs เขาคิดค้นสมาร์ทโฟนที่ผู้คนสามารถพกพาโทรศัพท์ กล้อง และแล็ปท็อป รวมกันไว้ในเครื่องเดียวได้
- Jeff Bezos ค้นพบว่าผู้คนจำนวนมากต้องการซื้อของอย่างรวดเร็วและง่ายดาย จึงก่อกำเนิดเว็บไซต์ Amazon ขึ้นมาตอบโจทย์นักช้อป
- Mark Zuckerberg พัฒนา Facebook (Meta) เพื่อให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับผู้อื่นโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะช่วยลดเวลาและลดการเดินทางไกลๆ ลงได้
รวมไปถึงบริษัทส่งพิซซ่า, Netflix, เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์, Zoom และธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต่างก็ใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจของคนเรา มาเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ และถือเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล
ไม่เพียงเท่านั้น "ความขี้เกียจ" ยังสอดคล้องกับประโยชน์ที่ได้รับจากพักผ่อน ซึ่งช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตใจให้ดีขึ้นได้ด้วย หลังจากเคร่งเครียดกับภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ยืนยันจากบทความเรื่อง “The benefits of laziness: why being a lazy person can be good for you” ที่ระบุถึง
ประโยชน์ของความขี้เกียจในมิติของสุขภาพจิตเอาไว้หลายข้อ ได้แก่
1. ความขี้เกียจช่วยให้เราจัดการกับความเครียดได้
มีงานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการผัดวันประกันพรุ่ง และการใช้เวลาอยู่ว่างๆ เสียบ้าง ก็ช่วยให้เรารับมือกับความเครียดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนช่วงวัยรุ่น
2. ความเกียจคร้านลดภาวะ Burnout ได้
การปล่อยตัวเองให้ขี้เกียจบ้างจะช่วยให้มีเวลาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง การหยุดพักเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายและจิตใจได้เติมพลัง และหลีกเลี่ยงความเหนื่อยหน่าย
3. ความขี้เกียจช่วยส่งเสริมการคิดแบบกระจาย
จิตใจของเรามีโหมดการคิดสองแบบคือ “โหมดกระจาย” และ “โหมดการคิดเน้น” เราจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างสองโหมดเพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์และการทำงานที่ได้ประสิทธิผลมากที่สุด
4. ความเกียจคร้านส่งผลดีต่อสุขภาพจิต
Manfred FR Kets de Vries นักจิตวิเคราะห์ชาวดัตช์ อธิบายว่า ความขี้เกียจอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพจิตของเรา ช่วยให้สมองและจิตใจได้พักผ่อนมากขึ้น
5. ความขี้เกียจช่วยเติมพลังชีวิต
การพักผ่อนและความเกียจคร้านมีผลในเชิงบวกที่คล้ายคลึงกัน มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้กเห็นว่า การงีบหลับในเวลากลางวันและการหยุดพักเป็นประจำนั้น ช่วยลดความดันโลหิตและช่วยรีเฟรชจิตใจให้ปลอดโปร่ง
สิทธิการลางานในแต่ละประเภท
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการพักผ่อนและการอนุญาตให้ตัวเองขี้เกียจบ้างในบางครั้ง ก็นำไปสู่สิทธิในการ “ลางาน” ของพนักงานออฟฟิศ เพื่อพักผ่อนและลดความเครียดในการทำงาน ทั้งนี้ ลูกจ้างควรรู้สิทธิการลางานในแต่ละประเภทและใช้ให้ถูกต้อง ดังนี้
ลาป่วย : กรณีลาป่วยไม่เกิน 3 วัน บริษัทไม่มีสิทธิ์ขอใบรับรองแพทย์และหักเงินลูกจ้าง ขณะเดียวกันหากลูกจ้างหยุดเกิน 3 วันทำงาน บริษัทมีสิทธิที่จะขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันการป่วย ถ้าไม่มี บริษัทสามารถหักเงินได้
ลากิจ : การลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัว เช่น ทำใบขับขี่หรือทำบัตรประชาชน, ธุระที่ต้องติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ, ลาไปร่วมงานรับปริญญา หรืองานแต่ง หรืองานศพ เป็นต้น
(ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แม้จะลากิจลูกจ้างก็ต้องได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี แต่หากลากิจมากกว่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของบริษัทว่าจะจ่ายค่าจ้างให้หรือไม่)
ลาพักร้อน : ลาหยุดพักผ่อนประจำปี ให้โอกาสลูกจ้างได้พักหลังจากการทำงานอย่างหนักและทุ่มเทมาตลอด โดยตามกฎหมายลูกจ้างมีสิทธิได้รับวันลาพักร้อนอย่างน้อยคนละ 6 วันต่อปี
ลาคลอด : วันลาสำหรับพนักงานหญิงที่กำลังจะมีบุตร เพื่อใช้สิทธิลาคลอดและยังได้ค่าจ้างในวันที่ลา ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานระบุว่าคนทำงานสามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน
ลาเพื่อทำหมัน : วันลาสำหรับพนักงานชายหรือหญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สามารถแจ้งลากับผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าตามใบนัดของแพทย์ และบริษัทต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันลานั้นด้วย
ลาเพื่อรับราชการทหาร : วันลาสำหรับพนักงานชายที่ถูกเรียกเข้าเป็นพลทหารกองหนุน โดยลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก และได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา แต่สูงสุดไม่เกิน 60 วันต่อปี
ลาฝึกอบรม : การลาเพื่อไปฝึกอบรมหลักสูตรอะไรก็ตามที่นำมาพัฒนาความรู้ ความสามารถ และเพิ่มทักษะในเรื่องงานได้ แต่! ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้น และต้องยื่นเอกสารขอลาฝึกอบรมพร้อมหลักสูตร ให้นายจ้างทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยลูกจ้างลาได้ไม่เกิน 30 วันต่อปี
------------------------------------------
อ้างอิง : psychologytoday, nesslabs, jobthai