"วันสารทไทย 2565" เปิดลิสต์ 5 ขนมที่ใช้ในประเพณี "ชิงเปรต"

"วันสารทไทย 2565" เปิดลิสต์ 5 ขนมที่ใช้ในประเพณี "ชิงเปรต"

เปิดลิสต์รายชื่อ “ขนมโบราณ” ที่นิยมใช้ไหว้บรรพบุรุษในประเพณี “ชิงเปรต” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญในเทศกาล “วันสารทไทย 2565” ของพี่น้องชาวใต้พร้อมรู้ความหมายของขนมในแต่ละชนิด

หากดูในปฏิทินของเดือนกันยายนนี้จะพบว่า นอกจากเทศกาลกินเจแล้วยังมีอีกหนึ่งประเพณีที่สำคัญกับคนไทยไม่ต่างกันก็คือ “ประเพณีสารทเดือนสิบ” หรือ “วันสารทไทย” ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายร้อยปี โดยปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ย. 2565

ประเพณี “สารทเดือนสิบ” หรือ “วันสารทไทย” เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังออกดอกออกผล ซึ่งประเพณีนี้จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย  โดยในแต่ละภูมิภาคก็จะมีชื่อเรียกการทำบุญวันสารทไทยแตกต่างกันไป ได้แก่ 

  • บุญข้าวสาก ของชาวภาคอีสาน 
  • บุญชิงเปรต ของชาวภาคใต้ 
  • บุญสลากภัต/ตานก๋วยสลาก ของชาวภาคเหนือ
  • บุญข้าวสารท ของชาวภาคกลาง 


วันสารทเป็นวันตรงข้ามกับวันสงกรานต์ เพราะวันสงกรานต์เป็นวันที่โลกเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันแรก และโลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่วนวันสารทเป็นช่วงที่โลกออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด โลกจึงมืดมิดที่สุด ดังนั้นตามความเชื่อของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถือว่าวันสารทเป็นช่วงเวลาที่วิญญาณขึ้นมาจากนรก ญาติพี่น้องทั้งหายจึงต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ จนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา วันสารทจึงถือว่าเป็นวันรวมญาติและไหว้บรรพบุรุษไปพร้อม ๆ กัน

เดิมทีพิธีสารทไทยมีต้นกำเนิดมาจากพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและยาคูเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ อีกทั้งเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป เมื่อคนเริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธก็ได้นำเอาประเพณีนี้มาปฏิบัติด้วย จนกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หนึ่งในประเพณีในวันสารทไทยที่โด่งดังและพี่น้องชาวใต้คุ้นเคยกันดี ก็คือ “ประเพณีชิงเปรต” โดยจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็น “วันรับเปรต” หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูผีบรรพบุรุษให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ส่วน “วันส่งเปรต” ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้น เป็นวันที่เปรตกลับสู่นรก เรียกกันว่า วันสารทใหญ่

การชิงเปรตนั้น ผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก ตามความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ไม่ถือเป็นเรื่องอัปมงคลแต่อย่างใด

สำหรับขนมที่ใช้ในพิธีชิงเปรตนั้นมีด้วยกัน 5 ชนิด คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ขนมดีซำ และขนมบ้า ซึ่งขนมแต่ละอย่างนั้นมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ขนมพอง ทำมาจากข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วนำไปตากแห้ง จากนั้นนำมาทอดจนกรอบฟู เป็นสัญลักษณ์แทน “แพ” ใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพล่องพาดวงวิญญานข้ามสังสารวัฏสู่สุคติ

2. ขนมลา ทำจากแป้งและน้ำตาลมะพร้าว โดยนำมาโรยเป็นเส้นเล็ก ๆ ในกระทะที่มีน้ำมัน เมื่อทอดเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นเส้นใยสีทอง ให้ความหมายแทน แพรพรรณเครื่องนุ่มห่ม โดยในปัจจุบันเป็นขนมที่หารับประทานได้ง่ายที่สุดในบรรดาขนมทั้ง 5 ชนิด

3. ขนมกงหรือขนมไข่ปลา ทำจากถั่วเขียวผ่าซีกนำมาบดละเอียดและปั้น เป็นรูปคล้ายกงจักร (หรือบางพื้นที่ก็ทำเป็นเส้นยาวคล้ายไข่ปลา) แล้วนำไปชุบแป้งทอดจนกรอบ ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ สำหรับตกแต่งร่างกายให้แก่บรรพบุรุษ

4. ขนมดีซำ หรือขนมเจาะรู บ้างก็เรียกว่าขนมรู เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าปั้นเป็นวงกลมแล้วเจาะรูตรงกลาง จากนั้นนำไปทอดให้เหลืองฟู รูปร่างคล้ายกับโดนัท ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเบี้ยหรือเงินทอง สำหรับให้บรรพบุรุษนำไปใช้สอยในโลกวิญญาณ

5. ขนมบ้า คือขนมที่ทำจากมัน แป้ง และน้ำตาล แล้วนำมาปั้นเป็นรูปทรงกลม ๆ แบน ๆ นำมาทอดจนกรอบ เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า การละเล่นสมัยโบราณ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่บรรพบุรุษ

ส่วนขนมของไหว้ในพิธี “วันสารทไทย” ของภูมิภาคอื่นๆ ที่น่าสนใจก็ได้แก่ “ขนมเทียน” ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำตาลโตนด ห่อใบตองแล้วนึ่งจนสุก ไม่มีไส้ แต่ในบางภูมิภาคจะสอดไส้มะพร้าวปรุงรสหวานหรือถั่วเขียวปรุงรสเค็ม คล้ายกับขนมไหว้เจ้าของจีน แต่ขนมเทียนในสารทไทยนี้มักจะห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เป็นสัญลักษณ์แทนหมอนให้บรรพบุรุษหนุนนอน พร้อมหนุนนำความเจริญให้บังเกิดแก่ลูกหลาน

ขณะที่ “กระยาสารท” เป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ไหว้บรรพบุรุษในช่วงวันสารทไทยของชาวภาคกลาง โดยคำว่า “กระยา” แปลว่า เครื่อง สิ่งของ ของกิน ส่วนคำว่า “สารท” หมายถึง เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ อันเป็นสัญลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ซึ่งเป็นการเก็บพืชผลครั้งแรกของปีอีกด้วย โดยสันนิษฐานว่าดัดแปลงมาจากข้าวมธุปายาสที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

กระยาสารทเป็นขนมที่ทำมาจากธัญพืชนานาชนิด ทั้งถั่วลิสง งา ข้าวเม่า ข้าวตอกเพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลอ้อย หรือน้ำตาลโตนด ทำให้มีรสหวานที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถโรยมะพร้าวขูดเพื่อตัดเลี่ยน หรือรับประทานคู่กับกล้วยไข่ก็ได้เช่นกัน 

แม้ว่าจะสันนิษฐานว่ากระยาสารทเริ่มแพร่หลายในช่วงสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นช่วงที่พราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทย แต่หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของกระยาสารทนั้นปรากฏอยู่ใน “นิราศเดือน” เขียนโดย หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) กวีและจิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่เล่าถึงความรัก ประเพณี รวมทั้งเหตุการณ์ประจำเดือนต่าง ๆ ในรอบปี โดยมีใจความว่า

ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร
กระยาสารท กล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านถ้วนหน้าธารณะ

อีกไม่กี่วันก็จะถึง “วันสารทไทย” แล้ว ช่วงนี้จึงจะเห็นว่ามีขนมที่เป็น “ของไหว้” บรรพบุรุษในรูปแบบต่างๆ เริ่มออกมาวางจำหน่าย นอกจากลูกหลานชาวไทยจะซื้อหาของไหว้เพื่อใช้ในงานบุญแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้ลิ้มลองขนมโบราณที่มีให้กินเพียงปีละครั้งเท่านั้น


ที่มา: ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่Thai DishcoveryTrue IDWongnai