ไขข้อสงสัย “บัตรคอนเสิร์ต” ยุคหลังโควิด ทำไมราคาพุ่งแรง?
ผ่อนคลายปุ๊บ คอนเสิร์ตมารัว ๆ ปั๊บ หลังจากงดจัดมานานเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่เมื่อกลับมาเปิดจำหน่ายบัตรอีกครั้ง ราคากลับพุ่งกระฉูดจนน่าตกใจ ชวนดูปัจจัยที่ทำให้ราคาบัตรคอนเสิร์ตสูงขึ้นในยุคหลังโควิด
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กระทบต่ออุตสาหกรรมดนตรี ศิลปินทั่วโลกไม่สามารถออกทัวร์คอนเสิร์ตได้หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย แต่ละประเทศผ่อนคลายมาตรการการควบคุมลง ทำให้ศิลปินเริ่มกลับมาจัดคอนเสิร์ตหลังจากอัดอั้นมาร่วม 3 ปี
เห็นได้จากในประเทศไทย ตั้งแต่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายสามารถให้คนกลับมารวมตัวกันได้เหมือนเดิม ก็มีการจัดคอนเสิร์ตและแฟนมีตติ้งในทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินดาราชาวไทย ศิลปินเกาหลี และศิลปินจากชาติตะวันตก ซึ่งในบางวันนั้นมีการจัดคอนเสิร์ตหลายแห่ง เช่น เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา มีคอนเสิร์ตทั่วทั้งกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น
- 안녕 BANGKOK, ARENA K 2022 คอนเสิร์ตรวมตัวทั้งศิลปินไทยและเกาหลี ไม่ว่าจะเป็น NCT DREAM, WayV, AKMU, ALICE, 4EVE, บิวกิ้น พุฒิพงศ์ และ พีพี กฤษณ์ จัดที่ Impact Challenger Hall 1
- Kamikaze Party 2022 คอนเสิร์ตการรวมตัวกันครั้งสำคัญของศิลปินจากค่ายกามิกาเซ่ที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดีที่สร้างผลงานฮิตไว้มากมาย จัดที่ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี และงานนี้ได้สร้างตำนานบทใหม่หลายต่อหลายซีน จน #KamikazeParty2022 ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของไทยแบบข้ามวันข้ามคืน
- 2022 World Tour JAYB Tape : Press Pause คอนเสิร์ตของหนุ่ม JAYB สมาชิกวง GOT7 จัดที่ Impact Exhibition Hall 5, 6 ตั้งแต่วันที่ 14-16 ต.ค.
- OCTOPOP! งานคอนเสิร์ตที่ปลุกกระแส T-Pop ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ขนกองทัพศิลปินมาสร้างความสนุกทั้ง 15-16 ต.ค. จัดที่ ราชมังคลากีฬาสถาน
- SANGSOM PRESENTS SINGLE FESTIVAL 2022 เทศกาลดนตรีที่มีทั้ง Slot Machine, MEAN, Safeplanet, Stamp และ Sarah Salola ขึ้นแสดงที่ ไบเทค บางนา
- THE ANAN EMPIRE คอนเสิร์ตเดี่ยวของ หยิ่น อานันท์ หว่อง นักแสดงผู้โด่งดังมาจากซีรีส์วาย “กลรักรุ่นพี่” ที่เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนคลับดังสนั่นทั่ว MCC HALL THE MALL BANGKAPI
- Feel Fan Fun Camping Concert คอนเสิร์ตฟีลตั้งแคมป์ของ 3 คู่จิ้นสุดน่ารักจาก GMMTV มามอบความสนุกให้แก่แฟนคลับ ใน Union Hall F6 ศูนย์การค้า Union Mall
- JEREMY ZUCKER MORE NOISE !!!! WORLD TOUR LIVE IN BANGKOK คอนเสิร์ตในไทยครั้งแรกของนักร้องหนุ่มเจเรมี ซัคเกอร์ เจ้าของเพลงฮิตอย่าง "comethru", "you were good to me" และ "all the kids are depressed" จัดที่ Voice Space
หลังจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตพร้อมกองทัพศิลปิน รอสร้างความสนุกให้กับแฟน ๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงคอนเสิร์ตที่พึ่งประกาศให้แฟนคลับเตรียมกดบัตรอีกหลายคอนเสิร์ต แฟนคลับถึงกับกุมขมับ ทั้งระยะเวลาที่ประกาศที่สั้นเกินไป และราคาบัตรที่สูงลิ่ว จนหลายคนแซวว่า “ปีนี้พระโคกินบัตรคอน” หรือเปล่า อีเวนต์คอนเสิร์ตถึงออกมากันอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้แฟนคลับมีเวลาหมุนเงินได้ทัน
อีกปัญหาหนึ่งที่เหล่าแฟนคลับกำลังตั้งคำถามคือ ราคาบัตรคอนเสิร์ตตอนนี้สูงเกินไปหรือไม่ ยกตัวอย่าง JACKSON WANG MAGIC MAN WORLD TOUR 2022 BANGKOK ที่มี “Magic 1” VIP Package ราคา 18,000 บาท แต่กลับได้แค่ถ่ายภาพเป็นกรุ๊ปรวม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอย่างมาเลเซีย ที่จำหน่ายราคาถูกกว่าในไทย (1,688 ริงกิต หรือประมาณ 13,675 บาท) แต่ได้ถ่ายภาพแบบตัวต่อตัวกับแจ็คสัน จนในท้ายที่สุด ผู้จัดในไทยก็ต้องเปลี่ยนสิทธิประโยชน์เป็นได้ถ่ายภาพคู่กับแจ็คสันแทน
นี่ไม่ใช่คอนเสิร์ตแรกที่แฟนคลับและผู้ชมรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากราคาบัตรที่แพงเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด แต่กลับไม่ได้รับความสะดวกสบายทั้งในแง่ของผังที่นั่ง ความต่างระดับของที่นั่งแต่ละโซน ขนาดของเวทีและจอภาพที่ควรจะให้คนทั้งฮอลล์มองเห็นได้อย่างชัดเจน ระบบการกดบัตรที่ล่มทุกครั้งที่เปิดให้จองบัตร สิทธิประโยชน์ของแพ็คเกจ VIP ที่ควรจะได้รับ
ตลอดจนถึงบัตรแข็งเดี๋ยวนี้หลายคอนเสิร์ตเปลี่ยนไปใช้ e-Ticket แต่ก็ยังต้องเสียค่าออกบัตรอยู่ดี รวมถึงกล่าวอ้างว่าหลายคอนเสิร์ตมีการกั๊กบัตรจากคนใน ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถกดบัตรได้ จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก #ผู้จัดไม่ควรเอาเปรียบติ่ง ในทวิตเตอร์ และรวมตัวกันยื่นเรื่องฟ้องต่อ สคบ. ให้ควบคุมราคาบัตรคอนเสิร์ต ไม่ใช่ว่าจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ ถึงอย่างไรแฟนคลับก็ต้องซื้อบัตรอยู่แล้ว
ปัญหาเรื่องราคาบัตรแพงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศก็เกิดปัญหานี้ด้วยเช่นกัน บัตรคอนเสิร์ตในทัวร์ครั้งล่าสุดของ “บรูซ สปริงส์ทีน” ศิลปินระดับตำนานที่จะเริ่มทัวร์ในปีหน้า ราคาพุ่งเป็น 5,000 ดอลลาร์ บนเว็บไซต์ Ticketmaster ผู้จัดจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตรายใหญ่ของโลก ทั้ง ๆ ที่ราคาบัตรก่อนคิดค่าบริการโดยเฉลี่ยของคอนเสิร์ตนี้อยู่ที่ตั้งแต่ 59.50 จนถึง 399 ดอลลาร์เท่านั้น
ราคาบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินที่ยอดนิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี สไตล์ส โอลิเวีย ร็อดริโก เทย์เลอร์ สวิฟต์ อเดล แบดบันนี ต่างก็มีราคาสูงลิ่วเช่นกัน
นิตยสารบิลบอร์ดระบุว่า การกำหนดราคาบัตรคอนเสิร์ตนั้นคิดคำนวณจาก ค่าเช่าสถานที่ ค่าการตลาด และค่าโปรดักชัน ขณะที่นิตยสารไทม์ ระบุว่า ค่าบัตรคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 เนื่องจากศิลปินให้ความสำคัญกับการทำโชว์มากยิ่งขึ้น ทำให้ต้นทุนในการทำโปรดักชันของทัวร์แต่ละครั้งนั้น มีราคาสูงมากขึ้น ยิ่งในภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ยิ่งทำให้ต้นทุนของโปรดักชันคอนเสิร์ตสูงขึ้นไปอีก
“หลังจากยุคโควิด-19 ศิลปินมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง เพราะทุกคนต่างออกทัวร์พร้อมกัน ทำให้ต้องแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้” เทย์เลอร์ มิมส์ นักเขียนสายคอนเสิร์ตและการแสดงสดของนิตยสาร Billboard กล่าว
มิมส์ เสริมว่า ในปัจจุบัน รายได้ของศิลปินนั้นมาจากการทัวร์คอนเสิร์ตเป็นหลัก เนื่องจากการเข้ามาของสตรีมมิงทำให้รายได้จากการขายเพลงและยอดดาวน์โหลดลงน้อยลง ศิลปินจึงยิ่งตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตให้สูงขึ้นเพื่อให้มีกำไร
ขณะที่โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตก็สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมของบัตรคอนเสิร์ต จึงมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าออกบัตร ค่าบริการ ค่าการดำเนินการตามคำสั่งซื้อ บางครั้งผู้จัดการศิลปินก็เพิ่มค่าธรรมเนียมเข้าไปอีก ส่วนฝ่ายสถานที่นอกจากจะคิดค่าเช่าสถานที่แล้ว ยังมีคิดค่าสิ่งอำนวยความสะดวกอีกด้วย จึงทำให้ค่าธรรมเนียมที่แฝงอยู่กับบัตรคอนเสิร์ตแต่ละใบอาจสูงถึง 78% ของราคาบัตร
สำหรับศิลปินที่มีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง K-POP หรือ สากลก็ตาม มักจะมีแพ็คเกจบัตรแบบพิเศษในราคาสุดมหัศจรรย์ เพื่อให้เหล่าแฟนคลับได้รับสิทธิพิเศษเหนือระดับ ไม่ว่าจะเป็นการได้ใกล้ชิดกับศิลปินคนโปรด การถ่ายภาพคู่ ได้เข้าร่วมกิจกรรมถามตอบ ตลอดจนได้รับลายเซ็น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ยิ่งจะทำให้ราคาบัตรแพงยิ่งขึ้น
ระบบ ราคาบัตรแบบไดนามิก (Dynamic Pricing) เป็นระบบที่ปรับราคาบัตรอัตโนมัติตามจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ เช่นเดียวกับการจองบัตรเครื่องบินและโรงแรม ซึ่งมักเป็นจะเป็นระบบที่ใช้ในเว็บไซต์ขายบัตรการแสดงต่าง ๆ
จากการรายงานของสำนักข่าว Washington Post ระบุว่า อัลกอริธึมของ Ticketmaster จะคำนวณราคาของบัตรคอนเสิร์ตและปรับราคาแบบเรียลไทม์ตามอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งการกำหนดราคาแบบนี้จะทำให้ศิลปินสามารถตั้งราคาโดยหวังผลกำไรได้อย่างแน่นอนก่อนที่จะนำบัตรเข้าสู่ระบบ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าบัตรจะขายหมดหรือไม่
“แน่นอนว่าเหล่าแฟนเดนตายของศิลปินก็ต้องซื้อบัตรอยู่แล้ว เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่ได้เจอศิลปินที่รัก ไม่ว่าราคาจะสูงลิ่วแค่ไหนก็พร้อมสู้” มิมส์ระบุ
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจากนิตยสาร BillBoard จะแนะนำให้เลือกซื้อบัตรคอนเสิร์ตในช่วงที่ใกล้กับเวลาการแสดงจะได้ราคาที่ถูกกว่า แต่ในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีการลดราคาบัตร แม้ว่าคอนเสิร์ตจะเริ่มแล้วก็ตาม มีแต่ราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากบรรดาตั๋วผี หรือ บัตรมือสอง โดยเฉพาะโซนที่นั่งดี ๆ
ดังนั้น ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อว่าจะสามารถจ่ายได้ไหวที่ราคาเท่าใด แต่ในขณะเดียวกันทางผู้จัดก็ควรฟังเสียงผู้บริโภคบ้าง อย่ารีบกำหนดวันกดบัตรให้ใกล้กับวันแสดง หรือใกล้กับวันประกาศมากนัก เพราะผู้ชมต้องเตรียมเงิน เตรียมลางาน เตรียมตัวด้วยเช่นกัน อีกทั้งไม่ควรทำให้คอนเสิร์ตกลายเป็นการมหรสพที่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง หรือให้เฉพาะคนมีเงินเท่านั้นถึงจะไปรับความสุขได้ ท้ายที่สุดแล้ว หากไม่มีใครซื้อบัตร คนที่ต้องเจ็บตัวก็คือผู้จัดงาน เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับหลายคอนเสิร์ตมาแล้ว
ที่มา: A Journal of Musical Things, Billboard, Deseret, Time, Washington Post