ย้อนวัฒนธรรม "Encore" คอนเสิร์ตจบ แต่คนดูไม่จบ

ย้อนวัฒนธรรม "Encore" คอนเสิร์ตจบ แต่คนดูไม่จบ

ทำความรู้จัก “Encore” วัฒนธรรมการเรียกร้องของคนดูให้ศิลปินกลับมาขึ้นเวทีอีก หลังจากที่คอนเสิร์ตจบไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ที่คอนเสิร์ตไหนก็ขาดไม่ได้

ทันทีที่เสียงดนตรีเพลงสุดท้ายในการแสดงจบ ศิลปินนักร้องเดินลงจากเวที ไฟบนเวทีดับลง นั่นเป็นสัญญาณว่าการแสดงคอนเสิร์ตได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่เหล่าคนดูยังคงไม่ลุกจากที่นั่งไปไหน บางคนก็ร้องตะโกนว่า “เอาอีก เอาอีก” ขณะที่บางคนก็ปรบมือ หรือโบกแท่งไฟ พร้อมส่งเสียงเชียร์เรียกให้ศิลปินกลับมาโชว์ต่อ

เมื่อศิลปินได้ยินเสียงเรียกจากเหล่าผู้ชมที่ดังกระหึ่ม ก็จะออกมาพร้อมกับการแสดงเพลงฮิตที่สุดของพวกเขา (ที่ยังไม่ได้แสดงไปก่อนหน้านี้) อีก 2-3 เพลงก่อนที่การแสดงคอนเสิร์ตจะจบลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการแสดงเพิ่มเติมหลังจากที่ศิลปินแสดงจบไปแล้วนั้นเรียกว่า “Encore” (อังกอร์/ เอ็นคอร์)

ปัจจุบัน Encore กลายเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ตไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินชาวตะวันตก หรือศิลปินเกาหลี รวมถึงศิลปินไทย (บางส่วน) ล้วนแต่มี Encore กันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ชมว่า หากโชว์จบแล้วอย่างพึ่งลุกไปไหน เพราะจะมี Encore ต่อ แล้ววัฒนธรรมนี้มีที่มาจากไหน เริ่มตั้งแต่เมื่อไร กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกัน

 

Encore เริ่มมีตั้งแต่เมื่อไร

ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 18 ยุคที่ยังไม่มีการบันทึกแผ่นเสียงหรือบริการฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิงใด ๆ หากต้องการจะฟังเพลง จะต้องตีตั๋วชมการแสดงสดของวงออร์เคสตราเท่านั้น เนื่องจากผู้ชมไม่สามารถหาฟังเพลงโปรดของตนเองได้จากที่อื่น ๆ อีก หลังจากจบการแสดงแล้ว เหล่าผู้ชมจึงมักขอให้ศิลปินบรรเลงเพลงโปรดของตนเองอีกครั้ง

การแสดงพิเศษนี้ถูกเรียกว่า Encore ซึ่งเป็นคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า "อีกครั้ง" (again) เนื่องด้วยผู้ชมมีมากมาย และแต่ละคนก็มีเพลงที่อยากฟังแตกต่างกัน จึงทำให้หลายครั้ง Encore มีความยาวเกือบเท่ากับคอนเสิร์ตจริง ตัวอย่างเช่น รอบปฐมทัศน์ของ “The Marriage of Figaro” โชว์ละครโอเปราของ วูล์ฟกัง โมซาร์ท นักประพันธ์เพลงชื่อดังของโลก จัดขึ้นในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 1 พ.ค. 2329 ถูกผู้ชมขอให้เล่นหลายเพลง จนทำให้ความยาวของ Encore เกือบเท่ากับโชว์หลัก

ส่งผลให้ช่วงหนึ่งโรงละครโอเปราหลายแห่งต้องออกกฎห้ามไม่ให้มีการแสดง Encore โดยอ้างว่า Encore ทำให้เกิดความวุ่นวาย

ขณะที่วัฒนธรรม Encore ในปัจจุบัน เริ่มต้นจากละครบรอดเวย์ที่ผู้ชมต่างปรบมือเพื่อเรียกให้นักแสดงออกมาโค้งคำนับรับเสียงชื่นชมจากคนดู และวัฒนธรรมนี้ได้ส่งต่อเข้าสู่คอนเสิร์ตของวงร็อก

จากโอเปราแพร่กระจายยังเพลงร็อก

ในช่วงยุคทศวรรษที่ 60-70 ที่เพลงร็อกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก Encore เริ่มแพร่หลายไปด้วยเมื่อผู้ชมต่างร้องเรียกศิลปินให้ออกมาบนเวทีอีกครั้งหลังจากจบคอนเสิร์ต ศิลปินส่วนใหญ่กลับออกมาบนเวทีอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวงร็อกระดับตำนาน Led Zepplin, The Rolling Stones, หรือ Aerosmith ที่เล่นเพลงฮิตที่เป็นเพลงชาติของวงอีก 2-3 เพลงหลังจากขึ้นเวที เพื่อมอบความสุขให้แฟนเพลงอีกครั้ง

ขณะที่ The Who วงร็อกจากอังกฤษจะแสดง Encore ก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นตรงกันว่าการแสดงครั้งนั้นพิเศษจริง ๆ ไม่ใช่แค่แฟน ๆ ขอให้ทำ แต่ก็มีศิลปินบางคนเช่นกันที่ไม่ได้เล่น Encore การแสดงจบแล้วก็ถือว่าจบกัน

เอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อกแอนด์โรล ถูก พันเอก ทอม พาร์กเกอร์ ผู้จัดการส่วนตัวห้ามไม่ให้เล่น Encore เพราะคิดว่าเพรสลีย์ควรปล่อยให้แฟนเพลงแสดงความต้องการของพวกเขาให้มากกว่านี้ จนเกิดวลี “Elvis has left the building” ที่แปลว่า เอลวิสออกจากตึกไปแล้ว กล่าวโดย โฮเรซ โลแกน ผู้จัดงานในครั้งนั้นกล่าวต่อแฟน ๆ ของเพรสลีย์เพื่อให้ทุกคนอยู่ในความสงบและกลับบ้านไป วลีดังกล่าวกลายเป็นคำติดปากและใช้เป็นมุกตลกในสถานการณ์ที่พูดถึงคนที่หนีออกจากสถานที่บางแห่งจนถึงปัจจุบัน



ทางด้าน เอลวิส คอสเทลโล ศิลปินบุกเบิกดนตรีแนวพังก์และนิวเวฟของอังกฤษ ก็ไม่เล่น Encore เช่นกัน โดยให้ผู้จัดการพูดผ่านลำโพงหลังจากการแสดงจบว่าจะไม่มีการเล่น Encore ฟังดูอาจจะโหดร้ายไปหน่อย แต่ก็ทำให้คนดูไม่ต้องนั่งรออย่างมีความหวัง

ส่วน เดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles) วงร็อกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจนเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ ก็ไม่สามารถอยู่แสดง Encore ได้ หลังจากที่ทำการแสดงจบ พวกเขาทั้ง 4 คนถูกนำตัวขึ้นรถกลับทันที เพื่อป้องกันไม่ให้แฟน ๆ ที่คลั่งไคล้คอยตามรุมเร้าพวกเขา

 

Encore กลายเป็นเรื่องปกติ

บรูซ สปริงส์ทีน ทำให้ Encore กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ประสบการณ์ที่แปลกใหม่หรือแฟนเพลงต้องตั้งตารอ เนื่องจากคอนเสิร์ตของสปริงส์ทีน มีความยาวกว่า 3 ชั่วโมง แล้วยังมี Encore ต่ออีก 1 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่ได้มีความแตกต่างจากคอนเสิร์ตปกติและ Encore 

ขณะที่ The Cure วงร็อกจากอังกฤษ และ Prince ศิลปินชาวอเมริกัน สร้างภาพจำใหม่ให้กับ Encore ด้วยการเล่น Encore ติดต่อเนื่องกันหลายเพลง จนบางครั้งเพลงใน Encore มากกว่าเพลงในคอนเสิร์ตหลักเสียอีก

พอเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 90 Encore กลายเป็นเรื่องปกติที่ศิลปินทุกคนต้องทำหลังคอนเสิร์ต ซึ่งมักจะนำเพลงฮิตที่สุดของตนเองไปไว้ร้องในช่วงนั้นแทน และไม่ได้แค่ขึ้นมาร้องเพลงเฉย ๆ แต่มีการเตรียมตัวมาอย่างดี พัฒนารูปแบบการแสดงไม่แตกต่างจากโชว์หลักในคอนเสิร์ต ทั้งแสง สี เสียง ให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นการจบคอนเสิร์ตอย่างแท้จริง

Encore จึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้และไม่ได้เกิดขึ้นจากการเรียกร้องของผู้ชมอีกต่อไป

เมื่อ โอลิเวีย ร็อดริโก นักร้องสาวที่แจ้งเกิดเมื่อปีที่แล้ว ลงจากเวทีไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ร้องเพลงที่ฮิตที่สุดของตัวเองอย่าง “Good 4 U” คนดูสามารถคาดเดาได้ทันทีว่าอีกไม่เกิน 5 นาที เธอจะกลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้งพร้อมกับร้องเพลงนี้ ไม่ว่าคนดูจะเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม 

แต่ไม่ใช่ศิลปินทุกคนจะชื่นชอบวัฒนธรรมนี้ “ปีเตอร์ ฮุก” อดีตนักร้องนำวง New Order เปรียบเทียบการเล่นคอนเสิร์ตตามเซ็ตลิสต์เป็นเหมือนกับการมีเพศสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่ Encore เป็นเมื่อการบังคับให้ถึงจุดสุดยอดหลังจากที่เสร็จไปแล้ว

 

ทำไมศิลปินยังต้องลงจากเวที ทั้งที่ผู้ชมคาดเดาได้

แม้ว่าในปัจจุบันคนดูจะรู้อยู่แล้วว่ามี Encore แต่ Encore ยังคงมีความสำคัญกับทั้งศิลปินและนักดนตรี เนื่องจากเป็นช่วงโอกาสเดียวที่ทั้งตัวศิลปินและนักดนตรี รวมถึงทีมงานทุกคนได้หยุดพัก ดื่มน้ำดื่มท่า ซับเหงื่อเช็ดหน้า เข้าห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนชุด แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่กี่นาที แต่เพียงพอที่จะทำให้ศิลปินได้ชาร์จพลังก่อนจะไประเบิดความมันอีกครั้งในช่วง Encore

แต่สำหรับวงการ K-POP Encore ถูกรวมเป็นหนึ่งองก์ของโชว์ นอกจากศิลปินทั้งบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ป จะออกมาร้องและเต้นเพลงฮิตแล้ว พวกเขาใช้ช่วงเวลานี้ให้สมาชิกแต่ละคนพูดขอบคุณแฟนคลับ ขณะเดียวกัน เสื้อผ้าที่ใส่ในช่วงนี้ มักจะเป็นสินค้าที่ระลึกของคอนเสิร์ต เพื่อกระตุ้นให้แฟนคลับอยากซื้อสินค้าหลังจากออกจากคอนเสิร์ตอีกด้วย นี่จึงเป็นส่วนที่ทำให้ Encore ของศิลปิน K-POP ส่วนมากมักจะยาวนานกว่าศิลปินตะวันตก

ตัวอย่างเช่น “SEVENTEEN WORLD TOUR [BE THE SUN]” คอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ครั้งที่ 3 ของวง “เซเวนทีน” (Seventeen) ที่จัดขึ้นที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 25-26 มิ.ย. ที่ผ่านมา มี Encore นานเกือบชั่วโมง และมี Encore ซ้อน Encore อีกที อันเป็นเอกลักษณ์ของวงที่จะเล่นท่อนฮุคเพลง “Very Nice” หนึ่งในเพลงชาติของวงไปมากกว่า 10 รอบ ทำให้แฟนคลับหลายคนไปบ่นในทวิตเตอร์ว่า ตกรถไฟจนต้องเดินกลับบ้าน แต่ก็ไม่มีแฟนคลับคนไหนเลือกจะเดินออกจากฮอลล์ไปก่อนที่คอนเสิร์ตจะจบจริง ๆ 

ดังนั้น Encore จึงกลายเป็นอีกหนึ่งโชว์ที่ศิลปินอยากจะมอบแก่ผู้ชม เพื่อให้พวกเขากลับออกไปด้วยความสุข สนุก และความประทับใจไม่รู้ลืม

-------------------------------------

อ้างอิง : Ennui MagazineGramo Phone, Indie Panda, Mental Floss