Coffee or Tea จุดลงเอย เส้นทางต่อสู้วัฒนธรรมจีน ดื่มชา vs กาแฟ
ทศวรรษนี้ เป็นยุคทองของภาพยนตร์จีนกลับมาเฟื่องฟูและพัฒนามากขึ้น เพราะมีการนำเทคนิคแอนิเมชั่นมาใช้ในการผลิต สะท้อนจากรายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนที่สร้างเม็ดเงินสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ยืนยันโอกาสทางธุรกิจความบันเทิงว่าไปได้สวย
“หาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย กล่าวไว้ในการเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16 ว่า ปัจจุบันมีผลงานดีๆ จำนวนมากที่สอดคล้องกับยุคสมัยและจังหวะของการพัฒนาประเทศอย่างใกล้ชิด บนความร่วมมือที่ได้มีการแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาพยนตร์และโทรทัศน์ของจีน-ต่างประเทศ
“ภาพยนตร์จีนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือการผลิตภาพยนตร์ระดับโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และใช้ศิลปะของแสงและเงาเพื่อเล่าเรื่องราวของประเทศจีนให้โลกได้รับรู้” ทูตหานกล่าวย้ำว่าคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีสี จิ้นผิงเป็นแกนนำได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างวัฒนธรรม ยึดมั่นในแนวทางการทำงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างประเทศที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมสังคมนิยม และกระตุ้นการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของคนทั้งชาติ
เทศกาลภาพยนตร์ สะพานเชื่อมวัฒนธรรม
ทูตหาน มองว่า“เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16” ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย และได้เรียนรู้อารยธรรมร่วมกัน การเสริมสร้างความเข้าใจกันและกันมองเป้าหมายเดียวกันในการลดความขัดแย้ง ควบคู่กับรักษาสันติภาพโลก
เอกอัครราชทูตจีน กล่าวด้วยว่า “เทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ” ในฐานะแบรนด์ทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูตจีนและศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ มีความมุ่งมั่นที่จะแนะนำแนวทางการพัฒนาของจีน และเล่าเรื่องราวของชาวจีนสู่สังคมไทย สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ หวังว่าเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนชาวไทยมีความเข้าใจและความประทับใจเกี่ยวกับจีนยุคใหม่อย่างลึกซึ้ง
หนึ่งในภาพยนตร์ที่โดดเด่นและน่าสนใจ ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนประจำกรุงเทพฯ แนะนำให้คนไทยต้องดูคือ“Coffee Or Tea?” บอกเล่าเรื่องราวของเว่ยจิ้นเป่ย เผิงซิ่วปิน และหลี่เส้าฉวิน ชายหนุ่มสามคน สามบุคลิก เดินทางออกจากเมืองใหญ่กลับมาสู่หมู่บ้านโบราณอายุนับพันปีของยูนนาน เพื่อเริ่มต้นเส้นทางความฝันที่บ้าคลั่งด้วยการก่อตั้งธุรกิจออนไลน์ร่วมกัน
ฉายภาพจีน ศตวรรษที่ 21
หนังเรื่องนี้ สะท้อนถึงการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของคนจีนรุ่นใหม่ ท่ามกลางความเป็นไปของโลกดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญ ขณะที่คนหนุ่มสาวหลายล้านชีวิตต้องจากภูมิลำเนาของตนเองเพื่อหาอาชีพและโอกาสทำเงินในเมืองใหญ่ๆ เช่นเสิ่นเจิ้นทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)เป็นอันดับ 3 รองจากปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ เพราะถูกกำหนดให้เป็นแหล่งสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมดิจิทัลและไอทีของประเทศที่จีนผลักดันให้เป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย
ภาพยนตร์เรื่อง Coffee or Tea? ยังสะท้อนถึงการต่อสู้ทางวัฒนธรรมระหว่าง “การดื่มชา” ของชาวจีน สืบเนื่องยาวนานกว่า 4,000 ปี และถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่การชงชาในจีนยังมีศิลปะเฉพาะตัวที่มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดปรัชญาขงจื๊อ ในเรื่อง “ความสมดุลและสามัคคี”
คนจีนรุ่นใหม่ เปิดรับอิทธิพลต่างชาติ
คนรุ่นใหม่ชาวจีนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก สะท้อนความนิยม “ดื่มกาแฟ” ที่เพิ่มสูงขึ้นและแผ่หลายไปทั่วประเทศเพราะให้ภาพลักษณ์เป็นคนทันสมัย จนอาจหลงลืมความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด ซึ่งในหนังเรื่องนี้ มีจุดพีคอยู่ที่คนรุ่นใหม่พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสืบทอดวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้คงไว้ กับเสรีภาพยืดหยัดความเป็นตัวเอง ท่ามกลางโลกทั้งใบที่เชื่อมเข้าหากันทั้งการเดินทางและผ่านอินเทอร์เน็ต
จุดพลิกผันอยู่ที่นายทุนใหญ่ที่มีชื่อออกเสียงคล้ายกับ "ซิงปาเค่อ" ในจีนหรือทั่วโลกรู้จักในชื่อ “สตาร์บัคส์” ธุรกิจด้านกาแฟคั่วบดและค้าปลีกกาแฟยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งได้เข้ามาเจรจาขอซื้อไร่กาแฟที่เว่ยจิ้นเป่ย เผิงซิ่วปิน และหลี่เส้าฉวินพยายามพลิกฟื้นไร่ชาที่รกร้างของคนรุ่นพ่อ ให้กลับมามีชีวิตและทำรายได้ด้วยการขายเมล็ดกาแฟคุณภาพผ่านอีคอมเมิร์ซ
จุดสมดุล วัฒนธรรมดื่มชา - กาแฟ
พวกเขาต้องต่อสู้กับใจตัวเอง เมื่อนายทุนใหญ่เสนอตัวเลขเงินที่สูงลิ่วหวังเข้าซื้อกิจการ มากกว่าความสนใจในคุณภาพเมล็ดกาแฟ เพียงเพราะต้องการกำจัดแหล่งเพาะปลูกกาแฟของพวกเขา ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตและสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจได้ โดยที่ในปัจจุบันกาแฟซิงปาเค่อได้เข้ามาทำการตลาดในจีน และเปิดกาแฟหลายสิบสาขา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่อง Coffee or Tea? ได้ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของไร่ชาเมืองผู่เอ่อร์ที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ในมณฑลยูนนานแห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นไร่ปลูกกาแฟ 51,733.33 เฮกตาร์ หรือคิดเป็น 48.8% ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดในประเทศ และให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟอยู่ที่ 58,600 ตันต่อปี โดยที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแห่งใหญ่ที่สุดของโลก