จีนยื่นเรื่อง'ดับเบิลยูทีโอ' ขอหารือสหรัฐคุมส่งออกชิพ
จีนใช้เวทีองค์การการค้าโลกเริ่มต้นกระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้า กรณีสหรัฐออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิพ นักวิเคราะห์มอง ‘เวียดนาม-อินเดีย’ ได้ประโยชน์ ผู้ผลิตย้ายฐานจากจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ตามที่สหรัฐออกกฎหมายพุ่งเป้าควบคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนในเดือน ต.ค. ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงเมื่อคืนวันจันทร์ (12 ธ.ค.) จีนเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการพิพาททางการค้า
“จีนดำเนินการทางกฎหมายภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก ในฐานะวิธีการที่จำเป็นเพื่อแก้ข้อกังวลและปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของเรา การควบคุมการส่งออกชิพของจีนเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโลก”
กระบวนการปรึกษาหารือนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการอันยาวนานขององค์การการค้าโลก แต่การที่สหรัฐขวางการแต่งตั้งผู้ดูแลองค์กรระงับข้อพิพาททางการค้าเท่ากับว่า ข้อขัดแย้งต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันได้
อดัม ฮอดจ์ โฆษกสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ กล่าวว่า สำนักงานได้รับคำร้องขอปรึกษาหารือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่องการกระทำบางอย่างของสหรัฐส่งผลต่อเซมิคอนดักเตอร์
“อย่างที่เราสื่อสารกับสาธารณรัฐประชาชนจีนไปแล้ว การกระทำอันมีเป้าหมายเหล่านี้เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ และดับเบิ้ลยูทีโอไม่ใช่เวทีที่เหมาะสมในการหารือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ” โฆษกกล่าว
ข้อร้องเรียนของจีนเรื่องสหรัฐควบคุมการส่งออกชิปเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากดับเบิลยูทีโอตัดสินไม่เป็นคุณกับสหรัฐในอีกคดีหนึ่งเกี่ยวกับภาษีเหล็กตามที่จีนและชาติอื่นๆ ยื่นฟ้อง ซึ่งสหรัฐที่ปกติวิจารณ์กระบวนการชี้ขาดของดับเบิลยูทีโออยู่แล้ว ไม่ยอมรับข้อค้นพบของดับเบิลยูทีโอ
ด้านเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การที่สหรัฐควบคุมการส่งออกชิพไปยังจีน ถือเป็นแรงกระเพื่อมล่าสุดกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตชิพไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนามและอินเดีย แต่ความเคลื่อนไหวนี้ไม่มีทีท่าทำลายความโดดเด่นในการผลิตชิพของจีนได้
วอลเตอร์ ไคเปอร์ส หุ้นส่วนของบริษัทเคพีเอ็มจีในสิงคโปร์ระบุว่า การคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายขีดความสามารถในการผลิตชิพทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 30% - 40% เทียบกับช่วงก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 ระบาด
“บริษัทต่าง ๆ มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับสร้างความหลากหลายให้กับห่วงโซ่อุปทาน แทนที่จะพึ่งพาจากแหล่งเดียว โดยพัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งให้กลยุทธ์เหล่านี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” ไคเปอร์สกล่าว
ทั้งนี้ ในเดือน ต.ค. สหรัฐเริ่มกำหนดให้บริษัทต้องมีใบอนุญาตก่อนส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ก้าวหน้าหรืออุปกรณ์การผลิตที่เกี่ยวข้องไปยังจีน และถ้าบริษัทเหล่านั้นใช้อุปกรณ์สหรัฐผลิตชิพไฮเอนด์บางชนิดเพื่อขายให้กับจีนต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลวอชิงตันเสียก่อน
เหล่าผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จึงพยายามหาหนทางแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทีเอสเอ็มซี ยักษ์ใหญ่ผลิตชิพจากไต้หวัน และคู่แข่งจากเกาหลีใต้อย่างซัมซุง และเอสเคไฮนิกซ์ ได้รับยกเว้นหนึ่งปีให้ส่งอุปกรณ์ผลิตชิพอเมริกันไปยังโรงงานในจีนต่อไปได้ ด้านเอเอสเอ็มแอล ผู้ผลิตเครื่องมือเซมิคอนดักเตอร์เนเธอร์แลนด์ เผยว่า พนักงานของบริษัทในสหรัฐถูกห้ามไม่ให้บริการบางอย่างแก่โรงงานผลิตชิพก้าวหน้าในจีน
ย้ายจากจีนไปเอเชีย
มาตรการของสหรัฐถือเป็นความวุ่นวายล่าสุดที่มีต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเหล่าผู้ผลิตชิพที่เคยชื่นชอบจีนกลับต้องเจอค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ความปั่นป่วนในห่วงโซ่อุปทานจากข้อจำกัดโควิด-19 และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ทำให้ต้องหาแหล่งผลิตใหม่ทดแทน
แจน นิโคลัส ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทดีลอยต์ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายมาเป็นตัวเลือกโดยธรรมชาติสำหรับโรงงานที่กำลังวางแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีความน่าดึงดูดใจมากกว่ามหาอำนาจด้านการผลิตชิพ อย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน เนื่องจากมีสถานภาพเป็นกลางท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
“เกาหลีใต้และไต้หวันไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้ แต่ประเทศต่าง ๆ เช่นเวียดนาม อินเดีย และสิงคโปร์สามารถวางสถานะให้ตนเองเป็นตัวเลือกที่สาม โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองยักษ์ใหญ่ได้”ซาราห์ เครปส์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการนโยบายเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยคอร์เนลกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี
จุดแข็งเวียดนาม-อินเดีย
เวียดนามผงาดขึ้นในฐานะฐานการผลิตทางเลือกทดแทนจีนสำหรับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลก ประเทศนี้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษา ดึงดูดบริษัทชิพรายใหญ่ให้มาลงทุนที่นั่น มีรายงานว่าซัมซุง ผู้ผลิตเมมโมรีชิพรายใหญ่สุดของโลก ให้คำมั่นลงทุนในเวียดนามเพิ่มอีก 3.3 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ตั้งเป้าผลิตส่วนประกอบชิพภายในเดือน ก.ค.2566
“บริษัทที่มีโรงงานผลิตในจีนอย่างซัมซุง สามารถลงทุนในตัวเลือกการผลิตที่ให้ผลตอบแทนเหมือนกับโรงงานในจีนแต่ไม่ต้องมีภาระทางการเมือง” เครปส์กล่าว
ส่วนอินเดีย ไคเปอร์ส์กล่าวว่าเป็นแหล่งรวมของคนเก่งดีไซน์ในไมโครโพรเซสเซอร์, ระบบความจำย่อย และดีไซน์ชิพอนาล็อก มีแรงงานมากและค่าแรงต่ำ แต่การขาดความสามารถในการผลิตทำให้อินเดียน่าสนใจน้อยลง
จีนยังเป็นผู้นำ
แม้ผู้ผลิตชิพจะสนใจประเทศอื่นๆ ในเอเชียมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จีนยังเป็นผู้นำในภูมิภาคในแง่ของความสามารถในการแข่งขัน ในพิมพ์เขียว “เมดอินไชนา 2025” ที่เผยแพร่ในปี 2558 จีนวางรากฐานการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีผลิตชิพ ภาคส่วนชิพภายในจีนเองก็เติบโตได้แรงหนุนจากความต้องการชิพไปใช้ในอุปกรณ์ 5จี ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์
ถึงวันนี้จีนยังเป็นผู้เล่นสำคัญในการผลิตชิพ โดยเฉพาะชิพระดับโลว์เอนด์ การประมาณการณ์จำนวนหนึ่ง มองว่า จีนเป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่อันดับสามของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดราว 16% ของขีดความสามารถการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลก นำหน้าสหรัฐแต่เป็นรองเกาหลีใต้และไต้หวัน