คนเลี้ยง “กระต่าย” รู้ยัง? “แครอท” ไม่ใช่อาหารหลัก ต้องให้น้องกินหญ้า!

คนเลี้ยง “กระต่าย” รู้ยัง? “แครอท” ไม่ใช่อาหารหลัก ต้องให้น้องกินหญ้า!

เรามักคุ้นภาพกระต่ายกิน “แครอท” จากนิทานหรือการ์ตูน แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของพวกมันคือ “หญ้า” เพราะแครอทนั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคได้มากกว่าที่คิด

หากพูดถึง “สัตว์เลี้ยง” หลายคนมักนึกถึงเจ้าขนปุกปุยสี่ขาที่คนเราเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา เช่น สุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ กระต่าย ฯลฯ ซึ่งการดูแลสัตว์เลี้ยงให้ถูกวิธีถือเป็นความรับผิดชอบที่เจ้าของสัตว์ต้องทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน แต่ในปัจจุบันพบว่าเจ้าของบางคนก็มักละเลยเรื่อง “อาหารสัตว์” ทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยโดยไม่รู้ตัว

มีหลายกรณีที่พบว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยง เข้าใจผิด! เกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งติดภาพมาจากการ์ตูนหรือสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “หนู” ที่ไม่ได้ชอบกินชีสหรือเนยแข็ง แต่จริงๆ แล้วพวกมันควรกินอาหารตระกูลถั่วสลับกับอาหารเม็ดสำหรับหนู นอกจากนี้การสร้างภาพให้ “หมา” ชอบกินกระดูก หรือ “แมว” ชอบกินก้างปลานั้น ยังสร้างความเข้าใจผิดให้คนในสังคมมานาน ทำให้บางคนมักให้กระดูกหรือก้างปลากับหมาแมว ส่งผลให้พวกมันเกิดโรคกระเพาะเป็นแผลได้

โดยเฉพาะกรณีการเลี้ยง “กระต่าย” ที่พบว่ามีผู้เลี้ยงบางคนให้กระต่ายกิน “แครอท” เป็นหลัก เพราะเข้าใจผิดและติดภาพจากสื่อต่างๆ ที่มักฉายภาพกระต่ายน้อยน่ารักกับแครอทสีส้มให้เราเห็นอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว กระต่ายกินแครอทมากๆ ไม่ได้ เพราะจะทำให้พวกมันท้องเสียและนำไปสู่โรคอื่นๆ

แต่อาหารหลักที่เหมาะสม ได้แก่ หญ้าสด หญ้าแห้ง และอาหารเม็ดสำหรับกระต่าย ส่วนอาหารประเภทอื่นๆ เช่น แครอท ผักใบเขียว ผลไม้ กระต่ายสามารถกินได้ในสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น หากจะให้แครอทเป็นอาหาร ก็ควรจำกัดปริมาณให้เหลือเพียงเล็กน้อย และจำเป็นต้องให้กินควบคู่กับผักใบเขียวชนิดอื่นด้วย

  • “กระต่าย” สัตว์ที่มีอายุมายาวนานในประวัติศาสตร์

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถือกำเนิดมาตั้งแต่ประมาณ 50 ล้านปีมาแล้วในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ ต่อมาเริ่มกระจายพันธุ์ไปทั่วโลกยกเว้นโอเชียเนียและทวีปออสเตรเลีย

สำหรับกระต่ายที่เราเห็นกันทั่วไปนั้นส่วนใหญ่จะเป็น “กระต่ายบ้าน” ซึ่งนิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ยังมี “กระต่ายป่า” ซึ่งเป็นกระต่ายที่ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติอีกด้วย แม้จะมีชื่อเรียกและลักษณะแตกต่างกันแต่ก็ยังมีพฤติกรรมที่คล้ายกันโดยเฉพาะเรื่องการกินอาหาร

- กระต่ายป่า อยู่ในพื้นโล่ง เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ตามพื้นที่ต่ำหรือตามชายป่าใกล้แหล่งน้ำ ออกหากินหากินเวลากลางคืนถึงช่วงเวลาเช้ามืด กินหญ้า และเปลือกไม้ เป็นอาหารหลัก มีนิสัยชอบวิ่งหนีศัตรูมากกว่าต่อสู้ ชอบอยู่โดดเดี่ยวตัวเดียว

- กระต่ายบ้าน ส่วนใหญ่นิยมเป็นกระต่ายขนาดกลางและขนาดเล็กหรือกระต่ายแคระ ชอบซุกซ่อนในโพรงหรือในที่ปลอดภัยมากกว่าออกมาวิ่งเล่นในที่พงหญ้าหรือที่โล่ง เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูง

โดยทั้งกระต่ายป่าและกระต่ายบ้านจะมีอาหารหลักที่เหมือนกัน ก็คือ “หญ้า” ในลักษณะต่างๆ รวมไปถึงผักผลไม้บางชนิด

  • “หญ้า” อาหารหลักที่แท้จริงของกระต่าย

สำหรับช่วงที่ยังเป็นกระต่ายทารกอาหารหลักมีแค่นมแม่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากพวกยังเล็กเกินไปที่จะกินอาหารที่มาจากแหล่งอื่น แต่หลังจากนั้นอาหารของพวกมันจะเริ่มเปลี่ยนไปตามช่วงวัยและไม่ใช่แครอทอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่เป็นหญ้าลักษณะต่างๆ ดังนี้

- กระต่ายวัยเด็ก เป็นวัยที่กำลังเติบโตและต้องการพลังงานมาก นอกจากอาหารเม็ดแล้ว อาหารที่จำเป็นคือ “หญ้าแห้ง” ที่มีไฟเบอร์สูง เช่น หญ้าเมโดว์ มีไฟเบอร์ร้อยละ 29.8 หรือ หญ้าออร์ชาร์ด มีไฟเบอร์ร้อยละ 35.6 เป็นต้น

- กระต่ายวัยรุ่น พวกมันจะต้องการโปรตีนและแคลเซียมในปริมาณที่สูง อาหารหลักคือ หญ้าสด เช่น หญ้าขน ซึ่งมีโปรตีน ไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ และมีไฟเบอร์หยาบประมาณร้อยละ 20-40 

- กระต่ายโตเต็มวัย เป็นช่วงนี้การพัฒนาของร่างกายคงที่แล้ว หากให้อาหารที่มีไฟเบอร์สูงเกินไปอาจทำให้กระต่ายเป็นโรคอ้วนได้ ดังนั้นควรให้กินหญ้าสดและหญ้าแห้งสลับกันไปแทนอาหารเม็ด

  • โรคใน “กระต่าย” ที่เกิดขึ้นได้หากให้อาหารผิดประเภท

1. โรคฟัน (Dental disease)

กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีฟันที่สามารถงอกยาวได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ปกติฟันจะถูกทำให้สึกด้วยการบดเคี้ยวอาหารประเภทไฟเบอร์ ดังนั้นกระต่ายที่กินอาหารที่มีแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตสูงและไฟเบอร์ต่ำ จะทำให้การสึกของฟันน้อยลง ทำให้ฟันยาวขึ้น มีรูปร่างบิดเบี้ยว และยังอาจไปทิ่มลิ้น ทิ่มเหงือก อาจทำให้เจ็บปาก ปิดปากไม่สนิท และฟันหน้าไม่สบกัน เกิดปัญหาฟันหน้ายาว หรือเกิดการติดเชื้อแล้วเกิดฝีได้

2. โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal disease)

ไฟเบอร์มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบทางเดินอาหารกระต่าย เพราะเป็นตัวกระตุ้นและรักษาสภาพการเคลื่อนที่ในทางเดินอาหารให้เป็นปกติ การกินอาหารที่มีปริมาณไฟเบอร์ต่ำ จะเป็นสาเหตุหลักให้เกิดภาวะหยุดนิ่งของทางเดินอาหารและการสะสมของก้อนขนตามมา มักพบได้บ่อยในลูกกระต่ายที่เพิ่งหย่านมแล้วกินหญ้าน้อย

3. โรคอ้วน (Obesity)

ไขมันเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารสำเร็จรูปของกระต่าย เพื่อเป็นแหล่งพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต ไขมันเป็นตัวกระตุ้นการเคลื่อนที่ของทางเดินอาหาร แต่ไปลดการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้ หากได้รับไขมันมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นภาวะไขมันสะสมในตับ

4. นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Urolithiasis)

ปริมาณแคลเซียมที่มากเกินไปในอาหารมีส่วนทำให้ปัสสาวะมีตะกอนขุ่น หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีกระบวนการเมตาบอลิซึมของแคลเซียมแบบพิเศษ ยิ่งกินแคลเซียมมาก ก็ยิ่งดูดซึมมาก จึงเสี่ยงที่จะมีปัญหาติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีแนวโน้มเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงอย่าง “กระต่าย” เท่านั้นที่เจ้าของผู้ดูแลต้องใส่ใจเรื่องอาหารสัตว์ให้เหมาะสม แต่ยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะให้อาหารสัตว์ชนิดใดควรศึกษาให้รอบด้านก่อนว่าจะส่งผลเสียกับสัตว์หรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้สัตว์เสียชีวิตได้

อ้างอิงข้อมูล : Guru Rabbit Club, Love Pet Jung, Gatoro และ VPN