“มาสาย” อาจไม่ใช่ ขี้เกียจ แต่มีเหตุผลทางจิตวิทยา

“มาสาย” อาจไม่ใช่ ขี้เกียจ แต่มีเหตุผลทางจิตวิทยา

“มาสาย” อาจไม่ได้เป็นเพียงเพราะความขี้เกียจ ไม่รักษาเวลา ความประมาทเลินเล่อ หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น รถติด อุบัติเหตุ ลืมของ ที่หลายคนมองว่าเป็นข้ออ้าง แต่ความจริงแล้วผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา

มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา…” ท่อนหนึ่งจากเพลง “เหลวไหล” (2537) ของ มอส ปฏิภาณ เพลงดังเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ที่เหตุการณ์ในเนื้อเพลงยังคงเกิดขึ้นกับผู้คนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เป็นคนรอ ก็เหนื่อยหน่ายใจกับการทนรอ แถมต้องเจอกับคำแก้ตัวที่เหมือนจะเป็นข้ออ้าง ทั้งรถติด ไม่มีรถ เจอพายุ ปิดถนน ติดขบวนแห่ อยากติดต่อก็ดันแบตหมด จำเบอร์โทรไม่ได้ 

ขณะที่คนมาสายบางทีก็อาจจะโชคไม่เข้าข้าง พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้มาสายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เตรียมตัว เผื่อเวลาออกจากบ้านเป็นอย่างดี ไม่ได้ต้องการให้คนรอลำบากใจ เป็นที่รู้กันอยู่ว่าเราไม่สามารถเอาแน่เอานอนกับการจราจรของบ้านเราได้เลย ซึ่งหากมองลงไปในด้านเชิงจิตวิทยาแล้ว คนที่มาสายมักจะถูกคนรอบข้างมองในแง่ลบอยู่เสมอ ซึ่งความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น

“มันเป็นเรื่องง่ายที่จะมองว่าพวกที่มาสายเป็นคนไม่มีระเบียบ เป็นตัวปัญหา หยาบคาย ไม่นึกถึงคนอื่น เพราะการต้องทนรออย่างไร้จุดหมาย มันเป็นเรื่องน่าหงุดหงิด น่ารำคาญมาก” แฮร์เรียต เมลลอตต์ นักบำบัดพฤติกรรมทางปัญญาและนักจิตวิทยาคลินิกเปิดเผยกับสำนักข่าว BBC

เป็นปรกติที่คนตรงต่อเวลาจะรับรู้ว่าถ้าพวกเขามาสายจะสร้างความเสียหายและความรู้สึกไม่ดีของอีกฝ่ายได้มากเพียงใด คนเหล่านี้จึงพยายามมาตรงต่อเวลาเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง อาชีพการงาน การเงิน และความสัมพันธ์พวกเขา รวมถึงไม่ต้องเกิดความรู้สึกผิด ละอายใจที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาเองอีกด้วย 

“แม้ว่าจะมีคนจำนวนมากที่ยอมปล่อยให้คนอื่นรอ ซึ่งถ้าคุณเป็นคนปรกติ คุณจะไม่ชอบมาสาย แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น คนอื่นก็ยังคงมาสายอยู่ดี” ไดอานา ดีลอนเซอร์ เขียนไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อว่า “Never Be Late Again”

  • มาสายเพราะนิสัยส่วนตัว

หนึ่งในข้อแก้ตัวที่ใช้กันทั่วโลกของการมาสายคือ การเกิดอุบัติเหตุและการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งฟังดูก็น่าจะเป็นเรื่องที่ฟังขึ้น เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็ไม่ใช่ทุกเหตุผลที่จะได้รับการยอมรับ คนที่มาสายบางคนอาจจะกล่าวว่าเขามาสายเพราะ เขาเป็นคนกลางคืน ชอบทำงานตอนกลางคืน เลยทำให้นอนดึก และตื่นสาย หรือมักจะคิดว่ามาสายนิดหน่อยไม่เป็นไรเพราะสุดท้ายก็มาอยู่ดี (เหมือนกับในเพลงเหลวไหล)

อย่างไรก็ตาม การมาสายเป็นประจำอาจไม่ใช่ความผิดของคน เพราะมันเป็นลักษณะนิสัยของคุณ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คนที่ไม่ตรงต่อเวลามักจะมีลักษณะบุคลิกภาพร่วมกัน เช่น มองโลกในแง่ดี ควบคุมตนเองได้น้อย มีความวิตกกังวล หรือชอบแสวงหาความตื่นเต้น 

ในปี 2544 เจฟฟ์ คอนเต ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานดิเอโก ทำการทดลองด้วยการแยกผู้เข้าร่วมการศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะนิสัย โดยกลุ่ม A มีนิสัยทะเยอทะยานและชอบแข่งขัน ขณะที่กลุ่ม B เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไตร่ตรอง และชอบการสำรวจ 

คอนเตให้กลุ่มการทดลองประเมินว่า ระยะเวลา 1 นาทีคือประมาณเท่าใดโดยไม่ใช่นาฬิกา ผลการทดลองพบว่า กลุ่ม A ระบุว่าครบ 1 นาทีเมื่อเวลาผ่านไปได้ประมาณ 58 วินาที ขณะที่กลุ่ม B รู้สึกว่าครบ 1 นาทีหลังจากผ่านไป 77 วินาที

ทิม เออร์บัน นักเขียนและนักพูด ระบุว่า คนที่ชอบมาสายมักมีการบังคับที่แปลกประหลาดเพื่อเอาชนะตัวเอง โดยเขาเรียกคนเหล่านี้ว่า CLIPs ซึ่งย่อมาจาก Chronically Late Insane People ที่แปลว่า คนบ้าที่มาสายเป็นประจำ

แน่นอนว่าส่วนใหญ่มักมีหลายปัจจัยทำให้เกิดการมาสาย แต่หลายครั้งก็เกิดจากการทำตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ตั้งใจว่าจะไปสายอยู่แล้ว หรือแม้แต่สนใจในรายละเอียดมากเกินไปจนลืมเวลา รวมไปถึงไม่มีการกำหนดเส้นตายว่าควรทำอะไรหรือออกจากบ้านตอนไหนเพื่อไปให้ทันเวลา

สำหรับในบางกรณี การมาสายมาจากผลพวงของภาวะผิดปรกติทางระบบประสาท หรือจิตใจและอารมณ์ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง

เมลลอตต์กล่าวกว่า “ผู้ป่วยโรควิตกกังวลมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่าง เช่น ผู้ที่มีความนับถือตนเองต่ำ มีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อในศักยภาพตนเอง ทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบงานของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น จนเกินกำหนดเวลา” อีกทั้งโรคซึมเศร้า และความหดหู่ มักทำให้มีพลังงานต่ำ ทำให้มีแรงในการก้าวต่อไปข้างหน้ายากยิ่งขึ้น

 

  • ปรับวิธีคิด เปลี่ยนตัวเอง

ดร. ลินดา ซาปาดิน นักจิตวิทยาที่ทำงานส่วนตัวในนิวยอร์ก ระบุว่า ในบางครั้ง ความล่าช้าก็เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ “คนที่คอยแต่ผัดวันประกันพรุ่งจะพุ่งความสนใจทั้งหมดอยู่ที่ความกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาทำงานเสร็จไม่ทันกำหนด และแทนที่จะหาวิธีก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้น พวกเขากลับใช้ความกลัวเป็นข้ออ้าง ซึ่งมักจะมาด้วยประโยคที่มีคำว่า แต่”

เช่น “ฉันอยากจะไปให้ทันนัด แต่ฉันไม่รู้ว่าจะใส่ชุดไหนดี” หรือ “ฉันอยากเริ่มทำงาน แต่ก็กลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะคิดว่ามันไม่ดีพอ” 

ซาปาดินกล่าวเสริมว่า “อะไรก็ตามที่มาหลังคำว่า ‘แต่’ ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญ ลองเปลี่ยนจากคำว่า ‘แต่’ เป็นคำว่า ‘และ’ แทน เพราะคำว่า ‘แต่’ เป็นการต่อต้านและขัดขวาง ขณะที่ ‘และ’ เป็นการเชื่อมต่อและการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่ งานก็จะน่ากลัวน้อยลง และอุปสรรคก็จะเล็กลงด้วย

ขณะที่ ดีลอนเซอร์เองก็ใช้เวลานานในการปรับตัวให้เป็นคนตรงต่อเวลา ซึ่งเธอได้ผ่านความล้มเหลวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

“ช่วงที่ฉันปรับตัวให้ไม่ไปสาย ฉันก็ค้นพบว่า การไปสายมันบั่นทอนความน่าเชื่อถือของฉันด้วย ฉะนั้นฉันจึงต้องตรงต่อเวลา เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือของฉันคืนมา”

ถึงแม้ดีลอนเซอร์ปรับปรุงตนเองเพื่อตัวเอง แต่ก็มีลูกค้าของซาปาดินหลายคนที่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อคนที่พวกเขารัก เพราะไม่ต้องการเสียพวกเขาไป

สำหรับคนที่เป็นฝ่ายรอ ซาปาดินแนะนำว่า ให้เปลี่ยนความโกรธและหงุดหงิดเมื่ออีกฝ่ายมาไม่ตรงต่อเวลา เป็นการกำหนดระยะเวลาและสิ่งที่คุณจะทำหากอีกฝ่ายมาสายอีก เช่น ถ้าหากคราวหน้ามาสายเกิน 10 นาที พวกเราจะไปเที่ยวกันโดยไม่รอ หรือ ถ้าครั้งต่อไปเพื่อนร่วมงานของคุณส่งงานไม่ทันเวลา เขาจะไม่ได้อยู่ร่วมทีมอีกต่อไป และหัวหน้าจะรู้เรื่องนี้แน่

ไม่ว่าคุณจะมาสายด้วยเหตุผลอะไร มันก็อาจรบกวนใจหรือสร้างความขุ่นเคืองให้กับคนอื่นอยู่ดี ทางที่ดีควรมาให้ตรงต่อเวลา เพื่อรักษาความสัมพันธ์และความน่าเชื่อถือของตัวคุณเอาไว้ แต่ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ก็ควรบอกอีกฝ่ายให้รับรู้ตามความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น อย่าโกหก เพราะถ้ามารู้ทีหลัง เรื่องคงไม่จบง่าย ๆ

ที่มา: BBC, Smart Company