ปรากฏการณ์ “องุ่นเปรี้ยว” ความล้มเหลวซ้ำซาก ที่อาจนำไปสู่ความสำเร็จ
“องุ่นเปรี้ยว” ไม่ได้หมายถึงผลไม้ แต่คือปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายคนต้องพบกับ “ความล้มเหลวซ้ำซาก” แต่ก็สามารถนำความล้มเหลวนั้น มาวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดและก้าวไปสู่ “ความสำเร็จ” ได้เช่นกัน
ปัจจุบันมีงานเขียนเพื่อสร้างแรงบันใจมากมายที่เกี่ยวข้องกับ “ความล้มเหลว” ความผิดหวัง หรือ ความผิดพลาด ที่อาจเป็นบันไดขั้นหนึ่งในการก้าวไปสู่ “ความสำเร็จ” ในอนาคต หรือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนลุกขึ้นสู้ แทนที่จะอยู่กับความทุกข์หรือความสิ้นหวัง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การล้มเหลวไปข้างหน้า” ก็ว่าได้
แต่ในความจริงแล้วการมองความล้มเหลวในแง่ดีกลับไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดการกับความล้มเหลวได้ และล้มเลิกความตั้งใจไปก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “องุ่นเปรี้ยว”
- พฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่าย “องุ่นเปรี้ยว” ?
สำหรับ “องุ่นเปรี้ยว” ในที่นี้หมายถึงพฤติกรรมที่มีการวิจัยในโลกตะวันตก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนวนสุภาษิตของไทย ซึ่งบุคคลที่มีพฤติกรรมองุ่นเปรี้ยวจากงานวิจัยดังกล่าว มีลักษณะดังนี้
- ท้อแท้และล้มเลิกความตั้งใจได้ง่าย เมื่อเกิดอุปสรรคระหว่างทาง หรือเมื่อมีคนทักท้วง
- มักไม่เปิดใจฟังคำตำหนิหรือข้อแนะนำจากผู้อื่น เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง จึงไม่ก้าวสู่ความประสบความเร็จ
“ล้มเหลวอีกครั้ง ล้มเหลวดีกว่า” เป็นคำพูดของนักเขียนนวนิยายชื่อ ซามูเอล เบ็คเก็ตต์ ซึ่งวลีนี้ได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยนักพูดสร้างแรงบันดาลมากมายหลายคน ซึ่งวลีดังกล่าวเหมือนเป็นคำที่ให้กำลังใจได้ดี แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าคนส่วนใหญ่กลับล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และก้าวไม่พ้นกับดักแห่งความล้มเหลวได้สักที
ตัวอย่างจากงานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีวิธีหลีกเลี่ยงกับดักเหล่านี้เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำซาก แต่วิธีแก้ไขเหล่านี้มักจะสวนทางกับสัญชาตญาณ หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้จากความผิดพลาด คือ ให้คำแนะนำกับบุคคลอื่นที่อาจเผชิญกับความผิดพลาดที่ใกล้เคียงกัน การช่วยผู้อื่นหลีกเลี่ยงความล้มเหลวนั้นอาจช่วยให้เพิ่มโอกาสความสำเร็จได้
- ใครเป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์ “องุ่นเปรี้ยว” และเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สำหรับปรากฏการณ์นี้ค้นพบโดย ทีมงานของ Hallgeir Sjåstad ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและความเป็นผู้นำที่ Norwegian School of Economics ซึ่งเขาระบุว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ผู้คนเลือกที่จะทิ้งความฝันก่อนวัยอันควร ทำให้เขาเริ่มสนใจว่าเพราะอะไรบางคนจึงยอมแพ้เร็วเกินไป และไม่มองว่าถ้าอดทนมากกว่านี้และลองทำอีกครั้งก็อาจประสบความสำเร็จได้
จากการทดลองครั้งแรกเขาให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบวัดความแม่นยำของสัญชาตญาณ เช่น ให้เดาว่าแอปเปิ้ล 20 ลูก มีน้ำเท่าไหร่ เป็นต้น จากการทดลองด้วยคำถามที่หลากหลายเขาได้คำตอบหลายข้อที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีความสัมพันธ์กับ “ผลลัพธ์เชิงบวกในชีวิต” ได้แก่ ความสำเร็จบางอย่างในการทำงาน การใช้ชีวิต สังคม เป็นต้น
จากการทดลองด้วยหลายๆ ชุดคำถามทำให้เขาพบว่า พฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง ดังนั้น เมื่อสังคมภายนอกไม่ได้มองหรือเชื่อแบบนั้น ทำให้พวกเขาปฏิเสธที่จะรับฟังเพื่อรักษาความรู้สึกด้านบวกของตัวเองไว้ นอกจากนี้เมื่อพวกเขาล้มเหลวจากการทำแบบทดสอบต่างๆ จึงมีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในแบบที่ถูกนิยามว่า องุ่นเปรี้ยว
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับข้อเสนอแนะเชิงลบ พวกเขามักจะไม่มองว่าผลการทดสอบนั้นสะท้อนว่าตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาเป็นอย่างไร แต่ยังคงเชื่อมั่นว่าความรู้และสัญชาตญาณที่มีอยู่ของพวกเขาเป็นสิ่งที่กำหนดความสำเร็จของชีวิตในอนาคต
นอกจากนี้เขายังได้ทดสอบพฤติกรรมองุ่นเปรี้ยวในชีวิตจริงกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของนอร์เวย์อีกด้วย และพบว่าการเตือนนักเรียนถึงเกรดเฉลี่ยต่ำในปัจจุบันทำให้นักศึกษาคาดหวังเกรดเฉลี่ยที่น้อยลง
เขาพยายามไขข้อสงสัยว่าพฤติกรรมองุ่นเปรี้ยวอาจมีอิทธิพลต่อแรงจูงใจในหลายด้านของชีวิตอย่างไร เช่น หากคุณมีประสบการณ์การสัมภาษณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับงานในฝันของคุณ คุณอาจตัดสินใจว่าคุณไม่ต้องการทำงานลักษณะนั้นจริงๆ ทำให้ล้มเลิกที่จะสมัครงานในตำแหน่งงานคล้ายกันไปด้วย
แม้ว่าเขาไม่ได้ระบุว่าเราควรอดทนต่อเป้าหมายทั้งหมดตลอดเวลา แต่การใส่ความทะเยอทะยานในมุมมองและเปลี่ยนแนวทางอาจเป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะปรากฏการณ์องุ่นเปรี้ยวอาจทำให้เราตัดสินใจล้มเลิกเรื่องต่างๆ ก่อนเวลาอันควร แทนที่จะมองว่าเราจะเรียนรู้และปรับปรุงได้หรือไม่
- ความล้มเหลวก็เป็นเรื่องสร้างสรรค์ได้
แม้ว่าปรากฏการณ์องุ่นเปรี้ยวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนล้มเหลวซ้ำซาก แต่ยังมีงานวิจัยของ Fishbach และ Eskreis-Winkler ที่ชี้ให้เห็นว่า ยังพอมีกลยุทธ์ที่จะเอาชนะอุปสรรคทางอารมณ์ได้ เมื่อเผชิญหน้ากับความล้มเหลว แบ่งออกเป็น 2 กลยุทธ์ ดังนี้
1. กระบวนการเว้นระยะห่าง โดยใช้มุมมองจากบุคคลที่สาม
แทนที่จะมองว่า ทำไมเราจึงล้มเหลว? ให้เปลี่ยนเป็น ทำไมนาย ก. จึงล้มเหลว? คล้ายกับการมองตัวเองผ่านมุมมองจากผู้อื่น นี่เป็นงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมิชิแกนที่แสดงให้เห็นว่า การเว้นระยะห่างจากตนเองช่วยลดปฏิกิริยาทางอารมณ์ด้านลบของเราได้ ทำให้เรามองเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจได้อย่างเป็นกลางมากขึ้น จึงส่งผลให้เราสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความผิดหวังได้ดีขึ้น โดยมองข้ามปรากฏการณ์องุ่นเปรี้ยวไป
2. การให้คำแนะนำผู้อื่นที่อยู่ตำแหน่งเดียวกัน
จากการทดสอบที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พวกเขาพบว่า การช่วยเหลือผู้อื่นช่วยให้เรารู้สึกความพึงพอใจ และรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ที่จะเผชิญหน้ากับความล้มเหลวของตนเอง เช่น ผู้ที่ประสบปัญหาในการลดน้ำหนักได้เขียนคำแนะนำจากความล้มเหลวของตนเองให้กับคนอื่นที่พยายามควบคุมอาหาร แต่หลังจากนั้นพวกเขารู้สึกมีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการทำตามเป้าหมายน้ำหนักของตนเองต่อไป
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น “ความล้มเหลว” รูปแบบไหนๆ ก็ตาม เราสามารถนำมันมาใช้เป็นบทเรียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง เพื่อเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น และควรตระหนักไว้เสมอว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความผิดหวัง อาจพบว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จง่ายขึ้น โดยที่ไม่ให้พฤติกรรม “องุ่นเปรี้ยว” มาขัดขวางความพยายามของคุณ
อ้างอิงข้อมูล : BBC, Science Direct