"แผ่นดินไหว" ภัยธรรมชาติที่มนุษย์ยังพยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้
จากกรณี "แผ่นดินไหว" รุนแรงที่ถล่มตุรกี-ซีเรีย ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 4,300 ราย ถือเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์ยังพยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้
ติดตามความคืบหน้ากรณีเหตุ "แผ่นดินไหวตุรกี" โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นในตุรกีบริเวณพรมแดนซีเรีย เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (6 ก.พ.) ที่ผ่านมานั้น สร้างความเสียหายรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนนั้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน
ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เกิดเหตุเป็นแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่ค่อนข้างเงียบ, โครงสร้างที่อ่อนแอของตึก รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั่นคือราวๆ 04.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนนอนหลับพักผ่อนจึงไม่สามารถป้องกันตัวได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ รู้หรือไม่? ภัยธรรมชาติอย่าง “แผ่นดินไหว” เป็นภัยที่มนุษย์เรายังไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
อย่างที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่า แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน เกิดจากการปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากที่ถูกสะสมไว้ภายในโลกออกมา เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ ทั้งนี้พื้นดินที่เราเหยียบอยู่นี้ประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นต่อกัน และมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว
บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่น มีสิ่งที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” บริเวณรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนที่จะมีการสะสมแรงดันเอาไว้ ยิ่งเคลื่อนที่มากแรงดันก็ยิ่งมาก แรงดันที่ไม่มีที่ระบายก็จะกลายเป็นแรงเครียด และเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถสะสมแรงเครียดได้อีก ก็จะเกิดการปลดปล่อยออกมากลายเป็นแผ่นดินไหวนั่นเอง
แล้วทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้? เรื่องนี้มีคำตอบจาก ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อธิบายผ่านเพจ Science Learning Space ไว้ว่า
การทำนายแผ่นดินไหว (earthquake prediction) ในที่นี้หมายถึง การทำนายการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงหรือมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรืออาจจะทำให้เกิดสึนามิได้นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นักธรณีวิทยา นักธรณีฟิสิกส์ และนักแผ่นดินไหววิทยา (ในบ้านเรา) ก็ออกมายืนยันตรงกันว่าไม่สามารถทำนายได้ในระดับชัดเจน
เนื่องจากการทำนายการเกิดแผ่นดินไหวนั้น ต้องสามารถระบุถึง 3 องค์ประกอบได้ชัดเจน คือ 1.เกิดที่ตำแหน่งไหน 2.เกิดเวลาเท่าใด และ 3.มีขนาดความแรงเท่าใด แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพยากรณ์ได้เพียงตำแหน่งเกิดเหตุเท่านั้น (ตามข้อมูลเชิงสถิติ) หมายความว่ามีโอกาสทำนายถูกเพียง 33% เท่านั้น
ขณะที่ในส่วนของช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวที่ชัดเจน และขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหวนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ในระยะสั้นๆ ก่อนเกิดเหตุ
โดยที่ผ่านมาเคยมีการวิจัยศึกษาเรื่องการทำนายการเกิดแผ่นดินไหว และพบว่านักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวใน “ระยะปานกลาง” (ก่อนเกิดเหตุไม่กี่ปี) และ “ระยะยาว” ได้ (ก่อนเกิดเหตุไม่กี่สิบปี) ได้ แต่ยังไม่สามารถทำนายเหตุที่จะเกิดในระยะสั้นๆ ได้ (ก่อนเกิดเหตุสองสัปดาห์-ไม่กี่เดือน)
ดังนั้น แผ่นดินไหวและสึนามิ จึงยังคงเป็นปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติ ที่ยังไม่สามารถทำนยล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนายการเกิดเหตุในระยะใกล้ที่จะเกิดหรือในระยะสั้นนั่นเอง
นอกจากนี้ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากล ได้แก่
สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล เมื่อตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนหน่วยงานหลักได้ทันที
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว คงหนีไม่พ้นการติดตามข่าวสารด้านภัยธรรมชาติอยู่เสมอๆ เพื่อรับข้อมูลได้รวดเร็ว หากเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมตัวอพยพได้ทันท่วงที
-------------------------------------
อ้างอิง : Science Learning Space, Earthquake, GISTDA