3 แม่ไม้ “มวยไทย” มวยท่าเสา-มวยโคราช-มวยไชยา Soft Power กระหึ่มโลก

3 แม่ไม้ “มวยไทย” มวยท่าเสา-มวยโคราช-มวยไชยา Soft Power กระหึ่มโลก

หากเอ่ยถึง “แม่ไม้มวยไทย” บางคนอาจยังไม่รู้ว่ามีการแบ่งประเภทตามภูมิภาคหรือท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ “มวยไทย” ยังเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ไทย ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

หลังจากมีการบันทึกสถิติโลก หรือ Guinness world records ครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องใน “วันมวยไทย” ที่ผ่านมา  เพื่อนำเสนอให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยมีการ รำไหว้ครูมวยไทย จากนักมวยจำนวนมากที่สุดในโลก

โดยผู้ที่มาร่วมแสดงการรำมวยบันทึกสถิติโลกครั้งนี้ เป็นกำลังพลกองทัพบก จำนวน 3,650 นาย มาร่วมกันถ่ายทอดความภาคภูมิใจในศิลปะของชาติ เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ อุทธยานราชภักดิ์ ในงาน Amazing Muaythai Festival 2023 ทำให้ไทยมี “สถิติโลก” บันทึกเพิ่มเป็นของตัวเองอีกสถิติหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมศิลปะป้องกันตัว “แม่ไม้มวยไทย” เพื่อผลักดันไปสู่การขึ้นเป็น Thailand Soft Power เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจมวยไทยเป็นจำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากสถิติในปี 2561 พบว่าการท่องเที่ยวเชิงกีฬามีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเฉพาะตลาด “มวยไทย” มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 5% รวมถึงยังมีค่ายมวยและยิมมวยไทยกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศและมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งทางด้าน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย”

นอกจากนี้ภายในงาน Amazing Muaythai Festival 2023 ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวของ “มวยไทย” อีกเป็นจำนวนมาก และที่น่าสนใจคือความแตกต่างของมวยไทยในแต่ละภูมิภาคที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ความจริงแล้วมวยไทยแบ่งออกเป็น มวยท่าเสา จากภาคเหนือ จ.อุตรดิตถ์ มวยโคราช ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา และ มวยไชยา ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี

3 แม่ไม้ “มวยไทย” มวยท่าเสา-มวยโคราช-มวยไชยา Soft Power กระหึ่มโลก

  • รู้จัก “แม่ไม้มวยไทย” ศิลปะป้องกันตัว และการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์

แม่ไม้มวยไทย คือ ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่เป็นพื้นฐานของการใช้ “ไม้มวยไทย” ที่ผู้ฝึกมวยไทยทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้ได้ ก่อนที่จะฝึก “ลูกไม้” ซึ่งเป็นการใช้ไม้มวยไทยที่ละเอียดขึ้น

สำหรับความสำคัญของแม่ไม้มวยไทยนอกจากใช้เพื่อต่อสู้และป้องกันตัวในระยะประชิดแล้ว ยังเป็น “ศิลปะการรุกและรับ” ที่ต้องเลือกใช้ไม้มวยไทย และกลวิธีต่างๆ ผสมผสานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไม้มวยไทยที่ใช้ในมวยไทย นั้น ได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก โดยมีท่าทางต่างๆ ดังนี้ 

- การใช้หมัดชกคู่ต่อสู้ เรียกว่า "ไม้หมัด"

- การใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้เรียกว่า “ไม้เตะ”

- การใช้เท้าถีบเรียกว่า “ไม้ถีบ”

- การใช้เข่าเรียกว่า “ไม้เข่า”

- การใช้ศอก ก็เรียกว่า “ไม้ศอก”

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งตามลักษณะความสั้น-ยาว ของการใช้ไม้มวยไทย โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ “ไม้สั้น” เช่น การใช้หมัดเหวี่ยงสั้น, หมัดงัด, ศอก และเข่า ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือ “ไม้ยาว” เช่น การใช้เท้าเตะ ใช้เท้าถีบ และหมัดเหวี่ยงยาว สำหรับแม่ไม้มวยไทยขั้นพื้นฐานที่ผู้ฝึกซ้อมต้องปฏิบัติให้ได้ครบถ้วนมีทั้งหมด 15 ท่า ดังนี้

1. สลับฟันปลา  2. ปักษาแหวกรัง  3. ชวาซัดหอก  4. อิเหนาแทงกริช  5. ยอเขาพระสุเมรุ  6. ตาเถรค้ำฝัก 
7. มอญยันหลัก  8. ปักลูกทอย  9. จระเข้ฟาดหาง 10. หักงวงไอยรา  11. นาคาบิดหาง 12. วิรุฬหกกลับ
13. ดับชวาลา  14. ขุนยักษ์จับลิง  15. หักคอเอราวัณ

สำหรับการรำมวย “ไหว้ครู” ก่อนที่จะทำการขึ้นชกมวยไทยนั้น นอกจากจะเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนขึ้นสังเวียนแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพที่มีต่อครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิประศาสตร์วิชามวยให้ด้วย

 

  • มวยโคราช ดุดัน ไม่เกรงใจใคร

มวยโคราช หรือ มวยไทยโคราช มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ช่วงอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในอดีตชาวไทยต้องฝึกวิชามวยเพื่อใช้ในการทำสงครามโดยเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องเข้าต่อสู้แบบประชิดตัว

แต่ในยามบ้านเมืองสงบ “มวย” ถูกพัฒนาต่อจนกลายเป็นศิลปวัฒนธรรมด้านการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาที่มวยไทยรุ่งเรือง มีการจัดการแข่งขันมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่งพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ณ หัวเมืองทั่วประเทศ มีการคัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้ามาแข่งขัน และมีนักมวยจากมณฑลนครราชสีมา ได้เป็นขุนหมื่นครูมวย คือ นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหมื่นชงัดเชิงชก นอกจากนี้ยังมีนักมวยจากโคราชอีกหลายคน ที่มีฝีมือดีที่เดินทางเข้าไป ฝึกซ้อมมวยกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ วังเปรมประชากร

เอกลักษณ์ของมวยโคราชคือ การสวมมงคลที่ศีรษะขณะชก และมีการพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยไทยสายโคราช มักจะต่อย เตะแบบวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควาย ในส่วนของกระบวนท่านั้นจะฝึกฝนในพื้นที่ธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะชกกันบนพื้นดิน โดยเฉพาะพื้นทรายเพราะเวลาล้มจะไม่เจ็บตัว

เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วจึงทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ท่าฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า แล้วก็มีโครงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วย พร้อมทั้งคำแนะนำเตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ต่อสู้

3 แม่ไม้ “มวยไทย” มวยท่าเสา-มวยโคราช-มวยไชยา Soft Power กระหึ่มโลก

 

  • มวยไชยา กับการป้องกันตัวอย่างมีศิลปะ

สำหรับมวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่น อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ 5-6 จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น นายนิล ปักษี นักมวยฝีมือเยี่ยมลูกศิษย์พระยาไชยา 

สำหรับความเป็นมานั้น พบหลักฐานเพียงแค่การบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่าต้นตำรับมวยไชยาเจ้าของฉายา “พ่อท่านมา” มีตัวตนจริงหรือไม่? เป็นใครกันแน่? แต่ว่ากันว่าเป็นครูมวยใหญ่มาจากพระนคร บ้างก็ว่าเป็นขุนศึกมากฝีมือ ที่เดินทางมายังเมืองไชยาและได้ฝึกสอนแม่ไม้มวยไทยให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้มวยเมืองไชยาเป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.5 คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ หรือ ขำ ศรียาภัย นอกจากนี้ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่า ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร หรือ อั้น สาริกบุตร มีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ ท่านมา (หลวงพ่อ) ครูมวยแห่งเมืองไชยา  ซึ่งนับเป็นต้นสายของมวยไชยามรดกอันล้ำค่าของคนไทย

สำหรับการ ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์ พร้อมฝึกฝนท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียกท่าครูรวมทั้งแม่ไม้ต่างๆ เช่น การออกอาวุธ ป้องปัด ปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ เมื่อเชี่ยวชาญแล้วจึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เวลาใช้ออกไป จึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ ทำให้มวยไชยานอกจากจะมีความโดดเด่นด้านความความสวยงามและความแข็งแรงแล้ว ยังถือว่าเป็นการป้องกันตัวในระยะประชิดอย่างมีศิลปะอีกด้วย

 

  • มวยท่าเสา ว่องไว ปราดเปรียว

มวยไทยภาคเหนือ หรือ มวยท่าเสา เป็นอีกหนึ่งมวยไทยที่แบ่งตามภูมิภาคแต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดปรากฏเท่าใดนัก แต่มีครูมวยคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงคือ ครูเมฆ โดยมีวิชามวยที่เป็นเอกลักษณ์คือ ความคล่องแคล่ว ว่องไว รวดเร็ว เด็ดขาด มีลีลาท่าทางสวยงามและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เตะ ถีบ และศอก เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจน “นายทองดี” ที่ต่อมาดำรงตำแหน่ง “พระยาพิชัย” ก็ได้นำแม่ไม้มวยไทยดังกล่าวไปถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังจนกลายเป็นมวยไทยประจำเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนครูเมฆเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกำนันปกครองตำบลท่าอิฐ และได้ถ่ายทอดวิชามวยท่าเสาให้แก่ผู้สืบสกุลต่อไป

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะศึกสงครามที่มีการสู้รบบ่อยครั้งเหมือนในอดีต แต่ “แม่ไม้มวยไทย” ยังคงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนานทุกยุคทุกสมัย และกลายเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจศึกษาเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง Thailand Soft Power เลยก็ว่าได้

อ้างอิงข้อมูล : สารสนเทศท้องถิ่น นครราชสีมา, เจริญทองมวยไทย, โครงการสารานุกรมไทยฯ และ Siam Sport Talk