จาก “ทุนกาตาร์” ถึง “อีลอน มัสก์” ใครจะได้ครอบครอง แมนฯ ยูไนเต็ด?
ไม่มีใครที่ไม่รู้จักทีม “ปิศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด! เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคอบอลตัวยงหรือไม่ก็ตามอย่างน้อยคงต้องเคยได้ยินชื่อของสโมสรฟุตบอลที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากที่สุดสโมสรหนึ่งของโลกอย่างแน่นอน
Keypoints
- ตามการประเมินของ Forbes ในการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลกในปี 2022 แมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ในอันดับที่ 3 มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 4,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.57 แสนล้านบาท
- ทางด้านตระกูลเกลเซอร์มีตัวเลขในใจที่จะยอมขายอยู่ที่ 5,000 ล้านปอนด์ หรือ 2.05 แสนล้านบาท
- กลุ่มทุนที่ถูกจับตามองที่สุดคือกลุ่มทุนจากกาตาร์ ชาติมหาอำนาจด้านพลังงานและการลงทุน โดยตามรายงานข่าวจากอังกฤษระบุว่าแมนฯ ยูไนเต็ดคือสโมสรที่ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี ให้ความสนใจ
- คาดว่าจะมีการเปิดเผยรายชื่อแคนดิเคตทั้งหมดอย่างเป็นทางการภายในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.นี้
ขออนุญาตสรุปแบบรวบรัดว่า แมนฯ ยูไนเต็ด คือทีมฟุตบอลที่ได้แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษหรือพรีเมียร์ลีกมากที่สุด 20 สมัย เป็นแชมป์สูงสุดของยุโรปยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อีก 3 สมัย ไม่นับแชมป์ต่าง ๆ อีกมากมาย มีสนามฟุตบอลความจุ 78,000 ที่นั่ง และมีแฟนฟุตบอลอีกมากมายมหาศาลทั่วโลก
ในเชิงของธุรกิจแล้วพวกเขาคือหนึ่งในสโมสรที่เป็นผู้บุกเบิกการทำการตลาดฟุตบอลสมัยใหม่ตั้งแต่ยุค 90 เป็นสโมสรหัวก้าวหน้าที่สร้าง “เมกะสโตร์” หรือร้านค้าขนาดใหญ่เป็นแห่งแรก ๆ รวมถึงการหารายได้จากสปอนเซอร์จากสารพัดแบรนด์ที่อยากจะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนาม “พาร์ทเนอร์” ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงแค่ไหนก็ตาม เพราะรู้ว่า Exposure ของการได้เกาะติดไปกับทีมปิศาจแดงนั้นจะไปถึงแฟนฟุตบอลทั่วโลก
- ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี เอมีร์แห่งกาตาร์ หนึ่งในตัวเต็งเทคโอเวอร์สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด (เครดิตภาพ: AFP) -
แมนฯ ยูไนเต็ดยังเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลก โดยปัจจุบัน Forbes ประเมินว่าสโมสรมีมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์ อยู่ในอันดับที่ 3 รองจากเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา สองมหาอำนาจลูกหนังโลกจากสเปน
ส่วนผลงานในสนามพวกเขากำลังกลับมาเป็นทีมที่น่าจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ได้เอริค เทน ฮาก ผู้จัดการทีมชาวเนเธอร์แลนด์เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างภายในทีมจนเวลานี้อยู่ในอันดับที่ 3 และแอบมีลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกในรอบ 10 ปี
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้เองที่ทำให้ข่าวการขายกิจการของสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ที่กำลังจะถึงเส้นตายในการยื่นข้อเสนอเทคโอเวอร์ครั้งแรกเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะเมื่อมีชื่อของ “ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี” เอมีร์แห่งกาตาร์ผู้เป็นประมุขของชาติให้ความสนใจที่จะยื่นข้อเสนอเพื่อขอซื้อสโมสรแห่งนี้มาไว้ในครอบครอง รวมถึงชื่อของเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ และอีลอน มัสก์ ไอคอนของยุคสมัยผู้เป็นซีอีโอของ Tesla, SpaceX และ Twitter
เรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร และกำลังจะเป็นไปอย่างไร?
- ข่าวดีที่แฟนผีรอคอย
สำหรับแฟนบอล “Red Army” ทุกคนแล้วการประกาศพร้อมปล่อยขายกิจการของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด โดยตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสโมสรรายปัจจุบันนั้นถือเป็นข่าวดีที่พวกเขาเฝ้ารอมานานแสนนาน
การรอคอยนั้นไม่ใช่การรอคอยธรรมดาหากแต่เป็นการรอคอยที่แสนทรมานด้วย เพราะนับจากที่ครอบครัวนักธุรกิจกีฬาที่เป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส เข้ามาขอซื้อกิจการของสโมสรในปี 2005 ด้วยมูลค่ารวม 790 ล้านปอนด์ ทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอังกฤษก็ประสบปัญหาในหลายด้าน
ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่มัลคอล์ม เกลเซอร์ อดีตเจ้าของสโมสรเดิมผู้ล่วงลับได้ผลักภาระหนี้สินที่กู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อสโมสรให้เป็นภาระของสโมสร ซึ่งหมายถึงการที่ตระกูลเกลเซอร์ไม่ต้องลงเงินเองแม้แต่แดงเดียว และนั่นทำให้สโมสรต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปีเพื่อจ่ายเป็นดอกเบี้ยในสิ่งที่สโมสรไม่ได้ก่อ
นอกเหนือไปจากนั้นคือการบริหารแบบทิ้งขว้าง ไม่ได้ใส่ใจลงไปในการดูแลสโมสร ทำให้แม้จะพอประคับประคองตัวได้ในยุคที่มีสุดยอดผู้จัดการทีมอย่างเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ยังพอมองเห็นความสำเร็จ แต่หลังจากที่ยอดกุนซือชาวสกอตแลนด์วางมือในปี 2013 สโมสรก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย
- อัฟราม (ซ้าย) และ โจเอล (ขวา) เกลเซอร์ 2 เจ้าของร่วมสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด (เครดิตภาพ: AFP) -
ในด้านหนึ่งตระกูลเกลเซอร์อาจจะมีการอนุมัติงบประมาณสำหรับการซื้อผู้เล่นให้ แต่ในเชิงของการบริหารแล้วพวกเขาสอบตกอย่างเลวร้ายเมื่อเทียบกับทีมคู่แข่งอย่างลิเวอร์พูลที่บริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่างได้อย่างเป็นมืออาชีพ ใช้เงินน้อยแต่ประสบความสำเร็จมากภายใต้การนำของกลุ่มทุน Fenway Sports Group
สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ดและศูนย์ฝึกซ้อมแคร์ริงตัน ถูกทิ้งไม่มีการปรับปรุงใด ๆ จนทำให้คริสเตียโน โรนัลโด ตำนานของสโมสรประหลาดใจเมื่อครั้งตัดสินใจกลับมาเล่นใน “โรงละครแห่งความฝัน” อีกครั้ง
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการที่โจเอล เกลเซอร์ ลูกชายของมัลคอล์ม เกลเซอร์ ในฐานะเจ้าของสโมสรปัจจุบันแอบลักลอบตกลงนำสโมสรเข้าร่วมภาคีในการก่อตั้ง “ซูเปอร์ลีก” รายการแข่งขันใหม่ที่มีเป้าหมายอย่างเดียวเพื่อโกยเงินโดยไม่สอบถามแฟน ๆ ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทันทีที่เรียกว่า “Green & Gold” (ซึ่งเป็นสีประจำสโมสรเดิมในช่วงก่อตั้งที่ใช้ชื่อว่า นิวตัน ฮีธ)
การประท้วงดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายอย่าง แต่หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นโดยที่แฟน ๆ ที่รุมสาปแช่งเช้า กลางวัน เย็นไม่เคยคิดคือการประกาศขายสโมสรของตระกูลเกลเซอร์
- มูลค่าที่แท้จริงของทีมปีศาจแดง
ตามการประเมินของ Forbes ในการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลกในปี 2022 แมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ในอันดับที่ 3 มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 4,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.57 แสนล้านบาท
มูลค่าดังกล่าวนั้นถือว่าเพิ่มสูงขึ้นจากปีกลายราว 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน (ในปี 2021 มูลค่าอยู่ที่ 4,200 ล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะขนาดสโมสรประสบปัญหาเหมือนทีมฟุตบอลทุกแห่งในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่กินระยะเวลานานตั้งแต่ปี 2020-2023 แต่มูลค่าของสโมสรยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วมูลค่าของสโมสรเพิ่มขึ้นมาถึง 1,400 ล้านดอลลาร์ เรียกว่ามีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก
ขณะที่ตัวเลขที่ทางด้านตระกูลเกลเซอร์ในฐานะเจ้าของสโมสรทดไว้ในใจในการจะยอมขายออกไปนั้นสูงกว่ามูลค่าประเมิน ตามรายงานข่าวจากอังกฤษระบุว่าอยู่ที่ 5,000 ล้านปอนด์ หรือ 2.05 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
แต่มูลค่าที่เชื่อว่าบรรดากลุ่มทุนที่สนใจพร้อมจะยื่นข้อเสนออยู่ที่ราว 4,000 ล้านปอนด์ หรือราว 1.64 แสนล้านบาท ซึ่งจะใกล้เคียงกับมูลค่าที่ Forbes ประเมินไว้
- ของเล่นชิ้นใหม่ของเอมีร์แห่งกาตาร์?
ท่ามกลางกลุ่มทุนที่ให้ความสนใจที่มีข่าวเปิดเผยนั้น กลุ่มทุนที่ถูกจับตามองที่สุดคือ กลุ่มทุนจากกาตาร์ ชาติมหาอำนาจด้านพลังงานและการลงทุน โดยตามรายงานข่าวจากอังกฤษระบุว่า แมนฯ ยูไนเต็ดคือสโมสรที่ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี ให้ความสนใจ
ความสนใจจากเอมีร์แห่งกาตาร์นั้นมาจากการที่ประเทศกาตาร์ต้องการที่จะใช้การลงทุนในเกมกีฬาเพื่อต่อยอดภาพลักษณ์และการขยายโอกาสทางธุรกิจของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายโปรเจ็คต์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็คต์อย่างการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีเมื่อปี 2022
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นกาตาร์เข้ามาลงทุนกับสโมสรฟุตบอลเป็นแห่งแรกกับทีมปารีส แซงต์-แชร์กแมง สโมสรดังของฝรั่งเศสในปี 2011 ภายหลังจากที่มองเห็นโอกาสจากการซื้อกิจการทีมแมนเชสเตอร์ ซิตีของกลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ให้ประโยชน์มากกว่าแค่เรื่องผลประกอบการจากสโมสรฟุตบอล
ดังนั้นเมื่อสโมสรฟุตบอลในระดับเพชรยอดมงกุฎของโลกอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด ถูกนำออกมาเร่ขายแบบนี้ นี่คือโอกาสสำหรับกาตาร์ที่จะขยาย “พอร์ตโฟลิโอ” ในเกมลูกหนังขึ้นไปอีก และค่อนข้างการันตีว่าจะไม่ขาดทุนหรือเข้าตัวอย่างแน่นอนเพราะมูลค่าของสโมสรเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้งนี่อาจเป็นโอกาสครั้งเดียวที่หาไม่ได้อีกแล้วที่กาตาร์จะมีโอกาสครอบครองทีมระดับนี้
- แผนสอดไส้ของกาตาร์
ปัญหาใหญ่ของกาตาร์คือการที่พวกเขาเป็นเจ้าของทีมปารีส แซงต์-แชร์กแมง มาก่อนผ่านกองทุน Qatar Sports Investment หรือ QSI ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการซื้อและบริหารกิจการสโมสรแห่งนี้โดยเฉพาะ
ตามกฎของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า มีข้อบังคับที่ห้ามมิให้สโมสรที่มีเจ้าของเดียวกันลงแข่งขันในรายการเดียวกันเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานเพื่อป้องกันเรื่องของการล้มบอลหรือรู้เห็นเป็นใจกันเอื้อประโยชน์ในทางการแข่งขัน
จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้กาตาร์มีการพิจารณาเรื่องอย่างถี่ถ้วนเพราะไม่ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา
อย่างไรก็ดีจากรายงานล่าสุดดูเหมือนยูฟ่าจะเปิด “ไฟเขียว” ให้กาตาร์ลงทุนในสโมสรฟุตบอลแห่งที่ 2 ได้ โดยอาศัยเกณฑ์ในการพิจารณาง่าย ๆ ว่าหากสโมสรฟุตบอล 2 แห่งมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงไม่มีบุคคลหรือมีอะไรที่เกี่ยวข้องกันในเชิงของโครงสร้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎ
ในอดีตเคยมีกรณีใกล้เคียงกันมาแล้วในปี 2017 กับสโมสรฟุตบอล 2 แห่งที่อยู่ในเครือของ Red Bull อย่าง RB ไลป์ซิก และ Red Bull ซัลซ์บวร์ก ที่ผ่านเข้ามาเล่นในรายการยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ซึ่งเป็นรายการระดับสูงสุดเหมือนกัน ซึ่งทาง Red Bull มีการจัดการแก้ไขส่วนที่อาจเป็นปัญหาด้วยการตัดขาดสองสโมสรออกจากกัน ไม่ให้มีบุคลากรที่เชื่อมโยงกัน ก็ไม่เป็นการผิดกฎ
ดังนั้นเชื่อว่ากาตาร์เองจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เช่นกัน ส่วนชีค ทามิมจะใช้วิธีไหน ให้กองทุนใดเข้าซื้อกิจการ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็น Qatar Investment Authority หรือ QIA หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ ต้องรอจับตามองอีกครั้ง
- คู่แข่งของกาตาร์คืออีลอน มัสก์?
สำหรับคู่แข่งในการยื่นข้อเสนอเทคโอเวอร์ทีมแมนฯ ยูไนเต็ดนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนัก
โดยผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินการทั้งหมดคือธนาคาร The Raine Group ซึ่งเคยมีส่วนในการประมูลซื้อสโมสรเชลซีเมื่อปีกลายได้รับมอบหมายให้มาดูแลการเปลี่ยนถ่ายเจ้าของทีมฟุตบอลดังแห่งอังกฤษ และคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายชื่อแคนดิเคตทั้งหมดอย่างเป็นทางการภายในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.นี้
ที่ต้องเป็นวันที่ 17 ก.พ. เนื่องจากเป็น “เดดไลน์” ของบรรดากลุ่มทุนที่สนใจที่จะต้องยื่นข้อเสนอเข้ามาให้พิจารณา หากช้าไปกว่านี้ถือว่าไม่ทันการ
- อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ควบตำแหน่งซีอีโอ Tesla, SpaceX และ Twitter มีข่าวสนใจซื้อสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด (เครดิตภาพ: AFP) -
หนึ่งในคนที่ “ลือ” กันหนักคืออีลอน มัสก์ แห่ง Tesla, SpaceX และ Twitter ว่าอาจจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นข้อเสนอด้วย ซึ่งเรื่องนี้ในทางข่าวแล้วยังไม่มีการยืนยันหรือการให้น้ำหนักอะไรมากนัก
เหตุผลที่ชื่อของมัสก์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ครั้งหนึ่งเขาเคยทวีตเล่น ๆ ว่า “ผมกำลังจะซื้อแมนฯ ยูไนเต็ด” จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และทำให้เจ้าตัวต้องรีบออกมาแก้ข่าวทันควันว่ามันเป็นแค่การล้อเล่นเท่านั้น
อย่างไรก็ดีนั่นไม่ได้หมายความว่าโอกาสที่มัสก์จะขอซื้อแมนฯ ยูไนเต็ดเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะมหาเศรษฐีผู้นี้ถือเป็นหนึ่งในคนที่เดาทางได้ยากที่สุดในโลก ดังเช่นกรณีการซื้อ Twitter ที่พลิกไปพลิกมาแต่สุดท้ายก็เข้ามาซื้อกิจการได้สำเร็จ
แต่ในหน้าสื่อคนที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการซึ่งความจริงเปิดตัวเป็นคนแรกก่อนเพื่อนและมีน้ำหนักมากกว่าคือเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ ในฐานะเจ้าของ INEOS บริษัทด้านการพลังงานยักษ์ใหญ่ของเมืองผู้ดี
เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ ตกเป็นข่าวพัวพันกับวงการฟุตบอลมาสักพักใหญ่โดยปีกลายเคยมีข่าวเชื่อมโยงว่าสนใจจะซื้อเชลซีต่อจากโรมัน อบราโมวิช ซึ่งถูกบังคับให้ขายสโมสรจากการกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียของวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ก่อสงครามรุกรานยูเครน แต่ยื่นข้อเสนอไม่ทัน ครั้งนี้มหาเศรษฐีผู้นี้จึงประกาศตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ และมีการยืนยันว่าจะร่วมวงด้วยอย่างแน่นอน
ที่สำคัญเซอร์ จิม ยังเป็นแฟนบอล “ปีศาจแดง” ตัวยงมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกด้วย จึงมีความต้องการที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์เพื่อพาสโมสรกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
กระบวนการจะใช้เวลาอีกนานไหม?
เรื่องสุดท้ายที่หลายคนอยากรู้คือโอเคตอนนี้กำลังจะมีการยื่นข้อเสนอ แต่เมื่อไรที่จะมีการซื้อขายเกิดขึ้นกันจริง ๆ ?
ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยทาง Sky Sports รายงานว่ากรณีการขายทีมของตระกูลเกลเซอร์ในครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่โรมัน อบราโมวิช ถูกบังคับให้ขายเชลซีเมื่อปีกลายที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ มีการแทรกแซงโดยรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้มีการขายสโมสรออกไปโดยเร็วที่สุด
กรณีของแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาแต่อย่างใด ซึ่งต้องรอให้ทาง The Raine Group เป็นผู้เปิดเผยว่าจะมีกรอบระยะเวลาในการเจรจานานแค่ไหน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งใช้ระยะเวลาไม่กี่เดือน หรืออาจจะนานหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของตระกูลเกลเซอร์
โดยสิ่งที่น่าจับตามองคือพวกเขามีทางเลือกว่าจะขายหุ้นออกไปทั้งหมด หรือจะขายออกไปแค่บางส่วน หรือเก็บเอาไว้แค่บางส่วน
ดังนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเวลานี้จึงเป็นยังเป็นแค่การคาดการณ์ และต้องการเวลาเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นอีกมาก
แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร นี่จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลในฐานะการซื้อขายสโมสรที่โด่งดังและน่าจะเป็นมูลค่าในการซื้อขายสูงที่สุดในโลกเวลานี้
---------------------------------