เปิดประวัติ "ชาไทย" เมนูขึ้นแท่นอันดับ 7 เครื่องดื่มที่ดีที่สุดในโลก

เปิดประวัติ "ชาไทย" เมนูขึ้นแท่นอันดับ 7 เครื่องดื่มที่ดีที่สุดในโลก

“ชาไทย” มาจากไหน? เปิดประวัติและต้นกำเนิด “ชาไทย” เมนูเครื่องดื่มที่ดีที่สุดอันดับ 7 ของโลก จากการจัดอันดับของ Tasteatlas ในหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 100 อันดับทั่วโลก

จากอดีตถึงปัจจุบัน “ชาไทย” เครื่องดื่มสีส้มที่ทั้งหอม หวานมัน กลมกล่อม คงเป็นเครื่องดื่มแก้วโปรดของคนไทยทุกเพศทุกวัย วันนี้เครื่องดื่มชนิดนี้ไม่ได้ถูกปากแค่คนไทยเท่านั้น แต่โด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก! เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้การตอบรับเป็นอย่างดี

ล่าสุด.. มีรายงานผลสำรวจจากเว็บไซต์ TasteAtLas.com ระบุว่า เมนูเครื่องดื่มชาไทยเย็น หรือ ชาส้ม หรือ Thai Iced Tea ติดโผอันดับ 7 ของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ดีที่สุดในโลก จากการสำรวจทั้งหมด 100 อันดับทั่วโลก

โดยหากเจาะเฉพาะ 10 อันดับแรกของเมนูเครื่องดื่มที่ดีที่สุดในหมวดนี้ ได้แก่ 

  • อันดับ 1 : ชานมสไตล์ฮ่องกง, ฮ่องกง
  • อันดับ 2 : อากัวส เฟรสกัส, เม็กซิโก
  • อันดับ 3 : ชัยมาซาลา (ชานมใส่เครื่องเทศ), อินเดีย
  • อันดับ 4 : ชามินต์, แอฟริกาเหนือและโมร็อกโก
  • อันดับ 5 : ฮอร์ชาตา, เม็กซิโก
  • อันดับ 6 : ซาเลป, ตุรกี
  • อันดับ 7 : ชาไทย, ประเทศไทย
  • อันดับ 8 : เอล ซับมาริโน (ช็อกโกแลตร้อน), อาร์เจนตินา
  • อันดับ 9 : ริสเทรตโต (เอสเปรสโซเข้มข้นสูง), อิตาลี
  • อันดับ 10 : ชาดาร์จีลิง, อินเดีย

เปิดประวัติ \"ชาไทย\" เมนูขึ้นแท่นอันดับ 7 เครื่องดื่มที่ดีที่สุดในโลก

เห็นแบบนี้แล้วเชื่อว่าคอชาไทยหลายคนคงปลื้มใจไม่น้อย ที่เครื่องดื่มแก้วโปรดแก้วนี้โด่งดังไปไกลทั่วโลก แล้วรู้หรือไม่? ชาไทยมีต้นกำเนิดมาจากที่ไหน และเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่? 

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การดื่มชาของคนไทย พบว่าคนไทยน่าจะรู้จักการดื่มชามานานแล้ว แม้ว่าไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย แต่ก็พบบันทึกเกี่ยวกับการดื่มชาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยมีจดหมายเหตุของท “ลาลูแบร์” (ปี พ.ศ. 2230) ได้พูดถึงวัฒนธรรมการดื่มชาในสยามประเทศไว้ว่า..

“ชามีให้ดื่มกันเฉพาะในเมืองหลวง ช่วงนั้นคนไทยรู้จักดื่มชากันแล้ว และชอบชงน้ำชารับแขก คนสยามไม่ใส่น้ำตาลในชา ดื่มชาร้อนๆ แบบคนจีน การปฏิเสธไม่ดื่มชาในสยามถือว่าไม่มีมารยาท ต้องนั่งดื่มกันเมื่อได้รับการเชื้อเชิญ”

ในช่วงแรกๆ มีการอนุมานกันว่าคนไทยมีการดื่มชากันเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง และใช้สำหรับถวายพระเป็นส่วนใหญ่ โดยนิยมดื่มแบบไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำตาล แต่ต่อมาคนไทยได้รับอิทธิพลวิธีดื่มชาแบบ “อินเดีย” เข้ามาด้วย ยุคต่อมาจึงมีการดื่มชาแบบใส่นมและน้ำตาล โดยดื่มเป็นชาร้อนเป็นหลัก

เปิดประวัติ \"ชาไทย\" เมนูขึ้นแท่นอันดับ 7 เครื่องดื่มที่ดีที่สุดในโลก

จากนั้นในปี พ.ศ. 2436 ประเทศไทยเริ่มมีผู้ประกอบการวางขาย “นมข้นหวานตราแหม่มทูนหัว” ทำให้วัฒนธรรมการดื่มชาแบบใส่นมยิ่งเพิ่มขึ้น และคนทั่วไปก็ดื่มกันอย่างแพร่หลาย ต่อมาปี พ.ศ. 2446 มีการจัดตั้งโรงน้ำแข็งเป็นแห่งแรก ทำให้น้ำแข็งเข้าไปเพิ่มความเย็นสดชื่นให้กับหลากหลายเมนูเครื่องดื่ม รวมถึงเกิดเมนู “ชาเย็น” ขึ้นมาในยุคนี้ด้วย

โดยเฉพาะช่วงปลายรัชกาลที่ 6 พบว่าช่วงเวลานั้นไทยเริ่มมีร้านกาแฟโบราณเพิ่มขึ้นในพระนครเยอะ ร้านเหล่านี้นอกจากจะขายเมนูกาแฟแล้ว ก็ยังมีเมนูชาต่างๆ รวมอยู่ในร้านด้วย จึงคาดว่ายุคนี้เป็นยุคที่คนทั่วไปรู้จักการดื่ม “ชาใส่นม” มากขึ้น

แต่ยุคที่ถือเป็นต้นกำเนิดของ “ชานมสีส้ม” จริงๆ น่าจะเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 เนื่องจากเป็นปีที่ “ชาตรามือ” ถือกำเนิดขึ้นมาในไทย โดยเจ้าของแบรนด์เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย และทำธุรกิจนำเข้าใบชาจากเมืองจีน

เปิดประวัติ \"ชาไทย\" เมนูขึ้นแท่นอันดับ 7 เครื่องดื่มที่ดีที่สุดในโลก

โดยในปีนั้น ชาตรามือได้นำเข้า “ชาแดง” เข้ามาขายเป็นครั้งแรก โดยนำมาชงเป็นชาไทยใส่นม (ชาส้ม) และชาดำ ซึ่งปรากฏว่าถูกปากคนกินสมัยนั้น แถมยังราคาถูก ทำให้ชานมสีส้มหรือชาไทยกลายเป็นเมนูเครื่องดื่มมาตรฐานที่หาซื้อได้ทั่วไปในทุกๆ ร้านกาแฟตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปัจจุบัน “ชาไทย” ตามร้านเครื่องดื่มทั่วไป ถูกปรับแต่งและมีการเลือกใช้ใบชาที่แตกต่างกัน บางร้านใช้ชาแดงอัสสัม บางร้านใช้ชาซีลอน หรือบางร้านก็ใช้ใบชาทั้งสองอย่างผสมกัน แต่สูตรการชงที่เหมือนกันมาทุกยุคทุกสมัยก็คือ มีการใส่นมและน้ำตาลเข้าไป เพื่อเพิ่มความหวานมัน และนิยมดื่มแบบเย็นมากกว่าแบบร้อน

ส่วนคำว่า “ชาไทย (Thai Tea)” นั้น เอาเข้าจริง.. คนไทยไม่ได้ตั้งชื่อเครื่องดื่มแบบนี้มาแต่แรก แต่เป็นชื่อที่ชาวต่างชาตินิยมเรียกกัน เพราะเป็นเครื่องดื่มชาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหาดื่มได้ในประเทศไทยเท่านั้น

----------------------------------------

อ้างอิง : silpa-magcha-thaiUrbanCreature