8 รูปแบบ ‘ป่วนประชุม’ ที่ CIA การันตีความพัง! ใครเคยเจอยกมือขึ้น

8 รูปแบบ ‘ป่วนประชุม’ ที่ CIA การันตีความพัง! ใครเคยเจอยกมือขึ้น

เปิด 8 วิธี ปั่นป่วนการประชุม ที่ “CIA” เคยตีพิมพ์แจกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ใครจะเชื่อ ว่ายังคงใช้ได้ถึงในปัจจุบัน

Keypoints:

  • “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือ “CIA” ได้ตีพิมพ์ “คู่มือก่อวินาศกรรมอย่างง่าย” สำหรับแจกจ่ายแก่เจ้าหน้าที่ OSS ที่ประจำการอยู่ต่างประเทศ เพื่ออบรมเหล่า "ผู้ก่อวินาศกรรมพลเมือง"
  • คู่มือนี้มี 32 หน้า แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ตามอาชีพ หนึ่งในนั้นคือ “การขัดขวางการประชุม” มีด้วยกัน 8 ข้อ
  • ซึ่งหลาย ๆ ข้อยังพบเห็นได้ในการประชุมยุคปัจจุบัน จนกลายเป็น "วัฒนธรรมในการประชุม" ไปเสียแล้ว

 

ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรทุกคนคงต้องเจอกับการประชุมอยู่เสนอ ซึ่งหลายครั้งที่การประชุมนั้นยืดเยื้อและยาวนานแต่กลับไม่ได้แก่นสารอะไร จนทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมนั้นรู้สึกเบื่อหน่าย และเห็นกว่าการประชุมเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ กัดกินเวลาชีวิตของพวกเขาอย่างไม่จำเป็น จนถึงขั้นเกลียดการประชุมไปเลยก็มี

อีกทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า การประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำให้ “ไอคิว” ของผู้เข้าร่วมประชุมลดลงได้อีกด้วย หากพวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่รู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในองค์ประชุม รวมถึงก่อให้เกิดความเครียดและภาวะหมดไฟอีกด้วย

 

โดยมากแล้ว เมื่อเราชี้จุดบอดของการประชุมที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดีนั้น แน่นอนว่า ก็เพราะอยากให้มีการแก้ไข หรือ พัฒนาให้ดีขึ้น ..แต่! ทราบหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่ง การประชุม รวมถึงโปรเซสงานแบบพังๆ เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือ “บ่อนทำลาย” ศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย!

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 OSS (Office of Strategic Services) หรือปัจจุบันที่รู้จักในชื่อ “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือ “CIA” ได้ตีพิมพ์คู่มือก่อวินาศกรรมอย่างง่าย” (Simple Sabotage Field Manual) สำหรับแจกจ่ายแก่เจ้าหน้าที่ OSS ที่ประจำการอยู่ต่างประเทศ เพื่ออบรมเหล่า "ผู้ก่อวินาศกรรมพลเมือง" ในประเทศที่ถูกยึดครอง เช่น นอร์เวย์และฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความก้าวหน้าและสร้างความสั่นคลอนให้เกิดขึ้นในองค์กร ผ่าน “วิธีที่แสนง่าย” ที่ใครๆ ก็ทำได้

ภายในคู่มือระบุว่า “การก่อวินาศกรรมอย่างง่ายไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เตรียมมาเป็นพิเศษ สามารถดำเนินการโดยพลเมืองธรรมดาเพียงตัวคนเดียว ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่จัดตั้งขึ้น และปฏิบัติในลักษณะที่เกิดอันตรายและบาดเจ็บน้อยที่สุด และไม่สามารถตอบโต้หรือตรวจจับได้”

อีกทั้งยังระบุว่า ไม่ควรทำอย่างโจ่งแจ้ง และไม่ใช่การโจมตีเพื่อทำลายศัตรูในครั้งเดียว แต่เป็นการทำให้เกิดความรำคาญในรูปแบบการทำงานผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกวัน ซึ่งคู่มือดังกล่าวมีทั้งสิ้น 32 หน้า แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ มากมาย ที่ครอบคลุมครบทุกสายอาชีพ (ในขณะนั้น) หนึ่งในนั้นคือ

“การขัดขวางการประชุม” มีด้วยกัน 8 ข้อ คือ

1. ทำตามทุกขั้นตอนของการประชุม ไม่ให้ใช้ทางลัด เพื่อทำให้เกิดการตัดสินใจช้าที่สุด

2. ยื้อเวลาด้วยการพูดให้ยาวที่สุด และหาโอกาสแสดงความเห็นให้นานที่สุด โดยอาจเสริมความเห็นส่วนตัว หรือยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปด้วย และจะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้าเราแสดงออกต่อความจงรักภักดีต่อบริษัท

3. ส่งเรื่องให้บอร์ดพิจารณาเพิ่มเติม โดยอาจใช้คณะกรรมบริษัทที่มีอยู่แล้ว หรือหาทางจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน เพราะยิ่งมีคนมากก็จะใช้เวลาในการตรวจสอบนาน

4. พูดนอกเรื่องให้ได้มากที่สุดเท่าจะเป็นไปได้ หากวาระการประชุมมีไม่มาก สามารถนำเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการประชุมมาพูดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน ไปจนถึงสภาพดินฟ้าอากาศ

5. ถ่วงเวลาตัดสินใจให้นานที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการพูด ระยะเวลาที่ใช้ และการแก้ไขปัญหา

6. เอาวาระการประชุมครั้งก่อนมาพูดใหม่ และพยายามให้ที่ประชุมทบทวนการตัดสินใจในการประชุมครั้งก่อนอีกครั้ง

7. โน้มน้าวให้คนอื่นใช้เวลาตัดสินใจนาน ๆ โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและความผิดพลาดที่จะตามมาจากการตัดสินใจในครั้งนี้

8. แสดงความกังวล พร้อมตั้งคำถามต่อวิธีแก้ปัญหา ว่าอยู่ในขอบเขตและเป็นอำนาจของที่ประชุมหรือไม่ รวมถึงจะขัดแย้งกับนโยบายขององค์กรหรือไม่

 

แน่นอนว่า ทั้ง 8 ข้อที่ปรากฏในคู่มือแนะนำนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะในปัจจุบันเรายังคงพบเจอได้อยู่ เห็นได้จากในการประชุมส่วนใหญ่ ก็มักจะมีการพูดนอกเรื่อง ออกทะเลไปไกล (ข้อ 4) พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง (ข้อ 2) และนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ (ข้อ 6) อยู่เสมอ ขณะที่การใช้เวลาตัดสินใจนาน ๆ (ข้อ 7) นั้นก็เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เพราะคนเรามักจะไม่ยอมรับความคิดใหม่ ๆ ได้ง่ายอยู่แล้ว การแนะนำให้คิดโดยละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอต่าง ๆ จึงทำได้ง่ายกว่าการสนับสนุนสิ่งใหม่

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผ่านมา 79 ปี จากสิ่งที่แนะนำให้ทำเพื่อสร้างความรำคาญและแทรกแซงการทำงานขององค์กร กลับกลายเป็นจนกลายเป็น “วัฒนธรรมการประชุม” ในหลาย ๆ แห่งไปแล้ว

นอกจากนี้ CIA ยังมีคำแนะนำสำหรับการเป็น “พนักงานยอดแย่” อีกด้วย ใครอยากรับตำแหน่งนี้ วิธีการก็ง่ายๆ แค่ทำงานให้ช้าและไม่มีประสิทธิภาพเข้าไว้ หากหัวหน้าคุณหัวเสียกับคุณ ให้ขอโทษและทำเป็นไม่เข้าใจคำสั่ง ขอโอกาสทำใหม่อีกครั้ง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองย้อนกลับมามองว่าคุณเคยพบเจอกับ “ตัวป่วน” ในที่ประชุมรูปแบบใดบ้าง หรือบางทีคุณเคยเผลอเป็นตัวป่วนในสายตาของคนอื่นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้

 

ที่มา: INC, Insider, Open Culture

กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา

8 รูปแบบ ‘ป่วนประชุม’ ที่ CIA การันตีความพัง! ใครเคยเจอยกมือขึ้น