ความสำคัญ 'วันมาฆบูชา 2566' พร้อมแนะเทคนิคเวียนเทียน
ความสำคัญ "วันมาฆบูชา 2566" ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2566 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่ (4) พร้อมแนะเทคนิคเวียนเทียน
"วันมาฆบูชา" เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง ตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้น วันมาฆบูชา ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม
ซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมาย และมีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการ หรือที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และในวันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" วันแสดงธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น อันประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส
เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
- วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
- มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
- พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมการศาสนา ให้ข้อมูลว่า การปฏิบัติ วันมาฆบูชา ในประเทศไทยปรากฏครั้งแรกในสมัยพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โดยมีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบ พระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย
ในอดีตมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไปให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชาด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่างๆ
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน "วันมาฆบูชา 2566"
วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่นๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนก ปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
ก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกัน "ปฏิบัติภาวนา" ใน "วันพระอุโบสถ" ซึ่งเป็นหน้าที่ตามปกติของชาวพุทธ กล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่างๆจะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา
ขั้นตอนการ "เวียนเทียน" มีดังนี้
- ชำระร่างกายและจิตใจ
ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
- เตรียม 3 สิ่งคือ
ดอกไม้ 1 คู่ (ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือพวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระ) ธูป 3 ดอก และ เทียน 1 เล่ม
- ไหว้พระประธานก่อน
แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน
- เวียนประทักษิณาวัตรคือ
การเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือ 3 รอบ พร้อมสวดมนต์ไปด้วยในแต่ละรอบ
- บทสวดมนต์ เวียนเทียน
รอบที่ 1 : ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวด "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ"
รอบที่ 2 : ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยสวด "สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม"
รอบที่ 3 : ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวด "สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ"
- ขณะเดินเวียนเทียน
ต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และต้องระวังธูปเทียนไปโดนผู้อื่น
- หลังจากเวียนเทียนครบ 3 รอบ
ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้