เลิกเกลียดวันจันทร์! เริ่มสัปดาห์แบบ "Bare Minimum Mondays" ทำงานแค่จำเป็น
ชาว TikTok คิดค้นแนวคิดใหม่ช่วยให้อาการ “เกลียดวันจันทร์” หายเป็นปลิดทิ้งด้วย “Bare Minimum Mondays” ทำงานในวันจันทร์ให้น้อยที่สุด เลือกทำแต่ที่จำเป็น ภาคต่อจาก “Quiet Quitting” เพื่อฟื้นฟูจิตใจให้กลับเข้าสู่โหมดการทำงาน
เริ่มต้นสัปดาห์แห่งการทำงานทั้งที มันควรจะเป็นเช้าวันจันทร์ที่แสนสดใส แต่กลับกลายเป็นวันที่แสนหดหู่ของใครหลายคน เพราะต้องตื่นแต่เช้า หอบร่างกายสะโหลสะเหล ฝ่ารถติดไปทำงาน แค่คิดก็ท้อแล้ว ทั้งที่เมื่อวานยังได้นอนตื่นสาย พักผ่อนอย่างเต็มที่อยู่แท้ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะมีอาการ “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) ไปโดยปริยาย แต่อาการนี้จะหมดไป ด้วยแนวคิด “Bare Minimum Mondays”
ชาว TikTok มักคิดเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อให้เข้ากับชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ล่าสุดเกิดเทรนด์ Bare Minimum Mondays โดยติ๊กต็อกเกอร์ชื่อว่า เมริสา โจ เมย์ส เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ และกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย มียอดเข้าชมเกือบ 2 ล้านครั้ง
สำหรับแนวคิด Bare Minimum Mondays นั้นคล้ายกับ Quiet Quitting ที่เป็นการทำงานไปตามหน้าที่ ไม่ทำงานหนักจนกดดันตนเองมากเกินไป ทำงานสบาย ๆ ตามความหมายของ “Bare Minimum” ที่แปลว่า ทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลือกทำเฉพาะงานที่จำเป็น เน้นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่มีการประชุม และเน้นการดูแลตนเองให้มากขึ้น แต่ “Bare Minimum Mondays” นั้นอนุญาตให้ทำเฉพาะในวันจันทร์เท่านั้น
จากการสำรวจของ YouGov บริษัทวิจัยข้อมูล เมื่อปี 2021 พบว่า 58% ของชาวสหรัฐที่ทำแบบสำรวจชอบวันจันทร์น้อยที่สุดในสัปดาห์ ส่วนวันเสาร์เป็นวันที่ชาวสหรัฐชอบมากที่สุดถึง 35% ตามมาด้วยวันศุกร์ที่ 29%
สาเหตุหลักที่ผู้คนต่าง เกลียดวันจันทร์ จนมีคะแนนนำลิ่วแซงหน้าวันอื่น ๆ เพราะวันจันทร์เป็นวันแรกของการทำงาน หลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ทุกคนได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือจะนอนทั้งวันอยู่ในห้องก็ตาม ทำให้เราปรับตัวไม่ทัน จนระรานไปถึงวันอาทิตย์ จนมีคำเรียกว่า “Sunday Scaries” วันอาทิตย์แสนสาหัส ที่หลายคนใช้เวลาไปในวันอาทิตย์อย่างขวัญผวา แทนที่จะได้ใช้เวลาพักผ่อนอย่างมีความสุข แต่ก็สุขไม่สุด เพราะมัวแต่คิดถึงความสาหัสสากรรจ์ของการทำงานที่กำลังจะมาถึง จนไม่อยากให้วันอาทิตย์สิ้นสุดลง
- ตารางการทำงานแบบ Bare Minimum Mondays
เมย์สได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Insider ว่าเดิมทีเธอเป็นพนักงานฝ่ายขายในบริษัทขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพบว่าตัวเองกำลัง หมดไฟ และเกิดภาวะ Sunday Scaries ในทุกสัปดาห์ จึงทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงาน มาร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ชื่อว่า Spacetime Monotasking
ในเดือนมี.ค. ปีที่แล้ว เมย์สเริ่มทำงานเพียงเล็กน้อยในวันจันทร์ และเธอรู้สึกว่ามันดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเธอก็ทำตลอดมา และแชร์แนวคิดนี้ลง TikTok จนกลายเป็นไวรัล
สำหรับกิจวัตรประจำวันของเธอในทุกวันจันทร์มีดังนี้
เธอจะเริ่มวันจันทร์ด้วยการตั้งเป้าหมาย 2-3 ข้อที่เมื่อทำเสร็จแล้วจะทำให้เธอตื่นเต้น หลังจากนั้นเธอจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วแรกของวันไปกับการอ่านหนังสือ เขียนโน้ต จัดบ้าน หรือทำอะไรก็ตามที่รู้สึกดีอย่างช้า ๆ สำหรับการเริ่มวันใหม่ โดยไม่แตะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แม้แต่น้อย
จากนั้นราว ๆ 10 โมงเช้า เธอจะเริ่มทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การถ่ายทำคอนเทนต์ หรือ คิดคอนเซปท์งานต่าง ๆ ซึ่งงานเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ทำให้เธอรู้สึกสนุกกับการใช้ความคิด เมื่อผ่านไปได้ 1 ชั่วโมง เธอจะพักไปทานอาหารกลางวัน หรือเดินเล่น หลังจากนั้นกลับมาทำงานหลักของเธอต่ออีก 2 ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากยังไม่เสร็จเธอจะทำต่อไปอีก 1 ชั่วโมง
เมย์สกล่าวว่า ระหว่างที่ทำงานนั้น เธอจะใช้สมาธิอย่างเต็มที่ ไม่วอกแวก ไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น ทำให้เธอสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แถมใช้เวลาน้อยลง แต่ได้เนื้องานเท่ากับทำงาน 8 ชั่วโมงในวันปกติ
- วิธีเริ่มต้นวันจันทร์ที่แสนสดใส
ในทางปฏิบัติแล้ว Bare Minimum Mondays อาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับทุกคน ซึ่งเมย์สก็รู้ดี และเธอบอกว่าที่เธอทำแบบนี้ได้เพราะเธอทำงานจากที่บ้าน ซึ่งหากใครอยากจะลองดูก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าหากคิดว่าตนเองไม่เหมาะกับนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” มีอีกหลายทางเลือกมานำเสนอ
วิธีง่าย ๆ ที่คุณสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเกลียดวันจันทร์ได้ เพียงแค่คุณสละเวลาเพียงเล็กน้อยในช่วงเสาร์-อาทิตย์สำหรับวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมในการเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่
เริ่มจากตั้งเป้าหมายว่าในสัปดาห์มีอะไรที่คุณต้องทำให้เสร็จ จากนั้นเลือกเสื้อผ้าที่อยากจะใส่ในวันจันทร์ให้เรียบร้อย แล้วรีบเข้านอนให้ไว ให้เพียงพอ ตื่นเช้ามาจะได้รู้สึกสดชื่น
รวมถึงออกกำลังกายเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นออกไปจ๊อกกิ้ง เล่นโยคะ หรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ซึ่งจะช่วยสามารถลดความกลัวภายในจิตใจ ทำให้คุณรู้สึกดีกับตนเอง ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีไอเดียบรรเจิดยิ่งขึ้น
เมื่อคุณเริ่มทำงาน ให้เริ่มต้นจากงานที่ยากที่สุด หรือไม่อยากทำก่อน เพราะถ้าคุณผ่านสิ่งยากที่สุดไปได้แล้ว วันที่เหลือคุณก็จะทำงานได้อย่างสบาย ๆ ไม่มีงานสุมหัว ขณะเดียวกันถ้ามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง งานก็จะสุมหัวคุณทั้งวัน แถมเมื่อใกล้ถึงเส้นตาย ต้องมาเร่งทำงาน จนงานที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นไม่ควรกดดันตัวเองให้มากจนเกินไป ปล่อยจอยและดื่มด่ำกับความสุนทรีย์ของวันจันทร์อย่างละเมียดละไม แต่อย่าลืมทำงานด้วยนะ
จากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากวันหยุดสู่วันทำงาน ซึ่งหลายคนอาจจะต้องการเวลาปรับตัวให้เข้าสู่โหมดการทำงานมากกว่าแค่วันจันทร์แค่วันเดียว ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ เช่น "Try-Less Tuesday" หรือ วันอังคารทำงานน้อย
นอกเหนือจากนี้ ในวันพุธไปจนถึงวันศุกร์ ก็มีศัพท์ในทำนองเดียวกันเกิดขึ้น เพื่อแทนเป้าหมายในแต่ละวันว่าจะทำงานน้อย ๆ แต่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ วันพุธหยุดทำงาน (Work-Not Wednesday) วันพฤหัสอยู่เฉย ๆ (Thumb-Your-Nose Thursday) และ วันศุกร์สุดสบาย (Feckless Friday)
แน่นอนว่าคำศัพท์เหล่านี้มันอาจจะฟังดูน่าเอ็นดูและน่าขำในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึง “ด้านมืด” ของการทำงาน ที่เป็นทั้งความท้าทาย แต่ก็น่าเบื่อและทำให้เครียดด้วย จนลุกลามเกิดความรู้สึกไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีคุณค่าในที่ทำงาน จนกลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่อยู่คู่กับแรงงานมาช้านานตั้งแต่มนุษย์เข้ามาทำงานในออฟฟิศ
- เปลี่ยนวิธีคิด หรือไม่ก็เปลี่ยนงาน
การหัวเสียกับการทำงานในวันจันทร์ นั้นไม่ช่วยให้อะไรให้ดีขึ้น แถมจะทำให้การเริ่มต้นวันใหม่ของเพื่อนร่วมงานของคุณไม่สดใสไปด้วย บรรยากาศการทำงานคงหดหู่และไม่เป็นมิตร หากคนรอบ ๆ ตัวคุณต้องมารับฟังว่าคุณเหนื่อยหน่ายกับการทำงานขนาดไหน พร้อมส่งต่อความคิดลบ ๆ และรังสีความโศกเศร้าไปทั่วออฟฟิศ ทุกคนคงจะไม่กล้าเข้าใกล้คุณ และ “โอกาส” ที่คุณจะได้รับงานดี ๆ ก็คงจะหายไป แถมเจ้านายคงจะไม่ปลื้มอีกด้วย
ดังนั้นคุณควรคิดบวก ถ้าเป็นไปได้ลองชวนเพื่อนร่วมงานไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน หรือไปแฮงเอาท์กันหลังเลิกงาน เพื่อเติมไฟในชีวิต และอย่างน้อยจะได้มีเป้าหมายให้คิดถึง แต่ถ้าหากคุณยังรู้สึกไม่ดีขึ้นเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ จนเริ่มไม่อยากทำงานอีกต่อไป ควรปรึกษากับหัวหน้าของคุณว่า มีงานอื่น ๆ ที่จะช่วยทำให้คุณกลับมามีไฟในการทำงานได้หรือไม่ หรือลองถามว่าคุณมีโอกาสจะเลื่อนตำแหน่งในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ถ้าทำตอบว่ามีก็อาจจะทำให้คุณกลับมามีเป้าหมายเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แต่ถ้าไม่มีก็ควรหางานสำรองเอาไปเพื่อไปเติบโตที่อื่น ดีกว่าอยู่ไปวัน ๆ ให้ไฟในตัวค่อย ๆ มอดดับในไม่ช้า
ที่มา: CNN, Entrepreneur, Forbes, Insider 1, Insider 2, The Guardian