'วันครอบครัว' 14 เมษายน เปิดประวัติวันสำคัญช่วง 'สงกรานต์ 2566'

'วันครอบครัว' 14 เมษายน เปิดประวัติวันสำคัญช่วง 'สงกรานต์ 2566'

"วันครอบครัว" เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วง "สงกรานต์ 2566" ซึ่งตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี โดยถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเข้ามาในสมัยรัฐบาลของ "พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ" เมื่อปี 2532

ผ่านพ้นวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนไปแล้ว ถัดมาในวันที่ 14 เมษายน ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วง "สงกรานต์ 2566" เช่นกัน นั่นคือ "วันครอบครัว" โดยถือเป็น วันหยุดราชการ ด้วย 

กรุงเทพธุรกิจ ชวนรู้จักที่มาและความสำคัญของ "วันครอบครัว" ว่าเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมถึงกำหนดให้อยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย

 

  • "วันครอบครัว" กำหนดขึ้นครั้งแรกในปี 2532

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตราได้เสนอมติให้ ครม. พิจารณาให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย 

สาเหตุที่เลือกวันครอบครัวในช่วง "เทศกาลสงกรานต์" เนื่องจากถือเป็นโอกาสดีในการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา ต่อมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันดังกล่าวเป็น "วันครอบครัว" มาจนถึงปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

\'วันครอบครัว\' 14 เมษายน เปิดประวัติวันสำคัญช่วง \'สงกรานต์ 2566\'

 

  • ทำไมภาครัฐจึงได้กำหนด "วันครอบครัว" ขึ้นมา?

สาเหตุที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบผลสรุปจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พบว่า "ปัญหาครอบครัว" เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ ในสังคมตามมาเป็นลูกโซ่

ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และปัญหาทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวด้วย เนื่องจากครอบครัว ที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว

รวมไปถึงวิถีชีวิตคนต่างถิ่นที่ต้องดิ้นรนเข้าเมืองใหญ่เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพและลูกหลานไว้ที่บ้านเกิดห่างไกล ทำให้บางครอบครัวไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุก่อปัญหาให้กับสังคม ดังนั้น ภาครัฐจึงกำหนด "วันครอบครัว" ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวมากขึ้น 

 

  • ชวนรู้ความหมายของ "สถาบันครอบครัว"

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า " สถาบัน" และ " ครอบครัว " ไว้ดังนี้

สถาบัน หมายถึง สิ่งที่สังคมจัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ

ครอบครัว หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร

สถาบันครอบครัว จึงหมายถึง  สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนาผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร 

โดย สามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก

\'วันครอบครัว\' 14 เมษายน เปิดประวัติวันสำคัญช่วง \'สงกรานต์ 2566\'

 

  • ครอบครัวที่ดีสู่พื้นฐานสังคมที่ดี ต้องมีลักษณะอย่างไร?

ครอบครัวที่ดี อาจบ่งบอกได้จากบทบาทหน้าที่พื้นฐาน ของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว ที่ควรพึงปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสมและถูกต้อง ได้แก่

  • การให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอื้ออาทรต่อกัน
  • หันหน้าเข้าหากันและยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 
  • ช่วยเหลือ ดูแล เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน 
  • ดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับครอบครัวอย่างเพียงพอ
  • รู้จักวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด/ไม่ฟุ่มเฟือย
  • รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
  • ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมกัน 

 

  • ข้อแนะนำหลัก 5 อ. เพื่อครอบครัวอบอุ่นแน่นแฟ้น

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมเรียกว่าหลัก "5 อ." ใช้สำหรับปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่ง่าย ๆ สำหรับครอบครัวคนไทยทุกครอบครัว ได้แก่ 

1. อ.อภัย : เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดพลาดไปบ้าง ให้นึกถึงคำว่าอภัยเสมอ และจะไม่นำเอาสิ่งที่ผิดพลาดนั้นมาพูดซ้ำเติมอีก

2. อ.เอื้อเฟื้อ : สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน เช่น คุณพ่อซักผ้า แม่ถูบ้าน ลูกล้างจาน อย่าคิดว่าเป็นงานของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องเข้าไปช่วยเหลือกันให้สำเร็จลุล่วง

3. อ.อารมณ์ขัน : ฝึกให้มีอารมณ์ขันบ้าง มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้างในบางโอกาส เพื่อสร้างความสนิทแน่นแฟ้น ลดความตึงเครียดในครอบครัว

4. อ.อดทน อดกลั้น อดออม : ชีวิตครอบครัวควรอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ อดกลั้นต่อสิ่งที่มากระทบจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้รู้จักอดออมเงินทองที่หามาได้แบ่งไว้ใช้เป็นสัดส่วน ส่วนที่หนึ่ง ใช้จ่ายในครอบครัวส่วนที่สองสำหรับการศึกษาของบุตร สวนที่สามสำหรับค่ารักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บไข้ ส่วนที่สี่ เก็บไว้ใช้เมื่อยามแก่เฒ่าและบริจาคทาน

5. อ.อบอุ่น : เมื่อสมาชิก ทุกคนรู้หน้าที่และบทบาทของตัวเองแล้ว ความอบอุ่นก็จะตามมาโดยปริยาย ดังคำขวัญวันครอบครัวที่ว่า “สุขภาพจิตเริ่มต้นที่บ้าน” นั่นเอง

-------------------------------------

อ้างอิง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรมdmc