'วันหยุด 2566' อัปเดตหลังสงกรานต์ ยังเหลือ 'วันหยุดยาว' ได้อีกกี่วัน
ชวนเช็ก "วันหยุด 2566" โดยเฉพาะ "วันหยุดยาว" หลังสงกรานต์ ปี 2566 อีก 8 เดือนที่เหลือมีวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่สำคัญปีนี้มีประกาศวันหยุดพิเศษเพิ่มเติม มีวันไหนบ้าง
อัปเดต “วันหยุด 2566” ล่าสุด หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ 2566 กันไปแล้ว ปีนี้สงกรานต์หยุดยาว 5 วันให้หลายคนได้เที่ยวกันอย่างเต็มอิ่ม แต่สำหรับใครที่ยังเที่ยวไม่หนำใจ ติดลมอยากไปอีก จนถึงใครที่คิดจะแพลนทริปเที่ยวหยุดยาวในช่วงอื่นๆ นั้น
...หลังจากสงกรานต์นี้ไป เรายังเหลือวันหยุดวันไหนอีกบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดพิเศษ ทั้งที่หยุดเฉพาะราชการ กับที่เป็นวันหยุดเฉพาะเอกชน
ที่สำคัญคือแล้วจะมี “วันหยุดยาว” มากน้อยแค่ไหน.. ตามไปดูกัน!
- วันหยุดเดือนพฤษภาคม 2566
1 พฤษภาคม : วันแรงงาน
วันแรงงานปี 2566 ตรงกับวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นวันหยุดของภาคเอกชน รวมถึงเป็นวันหยุดธนาคาร แต่ข้าราชการไม่หยุดในวันแรงงาน
4 พฤษภาคม : วันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคลปี 2566 ตรงกับพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2566 โดยถือเป็นวันหยุดของทั้งข้าราชการและเอกชน
ทั้งนี้ วันฉัตรมงคลเป็นวันสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย
5 พฤษภาคม : วันหยุดพิเศษ
เกี่ยวกับวันหยุดปี 2566 นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้มี “วันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ” ประจำปี 2566 จำนวน 1 วัน คือ วันศุกร์ที่ 5 พ.ค. 66 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่อง และกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
โดยวันหยุดพิเศษ 5 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวันหยุดของทั้งราชการ และ เอกชน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2566 เป็นวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ
17 พฤษภาคม : วันพืชมงคล
วันพืชมงคลปี 2566 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่กำหนดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งจะไม่ซ้ำวันกันในแต่ละปี แต่ตามปกติจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่คนทั่วไปมักจำกันได้ ก็คือ “พระโคเสี่ยงทาย” ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนำของกินเลี้ยง 7 สิ่ง ประกอบด้วยข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่ว, งา, เหล้า, น้ำ และหญ้า เพื่อนำไปพยากรณ์ถึงการเพาะปลูกในปีนั้นๆ รวมถึงยังมีภาพคุ้นตา คือ ประชาชนจะวิ่งเข้าไปเก็บเมล็ดข้าวเปลือกที่พระยาแรกนาขวัญหว่านไถในบริเวณลานแรกนา เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพต่อไป
ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว วันพืชมงคล จะถือเป็นวันหยุดราชการ แต่วันพืชมงคลไม่ใช่วันหยุดธนาคาร และไม่ใช่วันหยุดสำหรับภาคเอกชน
- วันหยุดเดือนมิถุนายน 2566
3 มิถุนายน : วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินี และวันวิสาขบูชา
5 มิถุนายน : ชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินี และวันวิสาขบูชา
ในปี 2566 นี้ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และวันวิสาขบูชา เวียนมาตรงกัน คือ เสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 จึงได้จัดให้วันจันทร์ที่ 5 มิ.ย. เป็นวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินี และวันวิสาขบูชา โดยถือเป็นวันหยุดของทั้งข้าราชการและเอกชน
- วันหยุดเดือนกรกฎาคม 2566
28 กรกฎาคม : วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2566 นี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นวันหยุดของทั้งข้าราชการและเอกชน
- วันหยุดเดือนสิงหาคม 2566
1 สิงหาคม : วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งในปี 2566 ตรงกับวันอังคารที่ 1 สิงหาคม โดยความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” และมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรก คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
2 สิงหาคม : วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา นับตามปฏิทินจันทรคติ คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งวันเข้าพรรษาปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2566 โดยถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในวัดเป็นเวลา 3 เดือน
ทั้งนี้ วันเข้าพรรษา ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่ไม่ใช่วันหยุดธนาคาร รวมถึงภาคเอกชน
12 สิงหาคม : วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ
14 สิงหาคม : ชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ
วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และยังถือว่าวันแม่แห่งชาติ ซึ่งนับเป็นวันหยุดราชการ รวมถึงวันหยุดธนาคารและภาคเอกชนด้วย
สำหรับปี 2566 วันที่ 12 สิงหาคม ตรงกับวันเสาร์ จึงนับให้วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคมเป็นวันหยุดชดเชย
- วันหยุดเดือนตุลาคม 2566
13 ตุลาคม : วันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 9
วันที่ 13 ตุลาคม ถือเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยในปี 2566 ตรงกับวันศุกร์ และถือเป็นวันหยุดสำหรับทั้งราชการและเอกชน
23 ตุลาคม : วันปิยมหาราช
ในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็น “วันปิยมหาราช” เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สำหรับปีนี้ วันปิยมหาราช ตรงกับวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566
- วันหยุดเดือนธันวาคม 2566
5 ธันวาคม : วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร , วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ
สำหรับวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งยึดเอาจากวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 9 และยังจัดให้เป็นวันชาติ รวมถึงวันดินโลกอีกด้วยนั้น ในปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566
10 ธันวาคม : วันรัฐธรรมนูญ
11 ธันวาคม : ชดเชยวันรัฐธรรมนูญ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัฐกาลที่ 7) ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวรเพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย จึงเอาวันดังกล่าวเรียกว่า “วันรัฐธรรมนูญ” ให้ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี
สำหรับวันรัฐธรรมนูญปี 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม จึงจัดให้วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2566 เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ
สำหรับวันหยุดช่วงปีใหม่ 2566 นี้ เราจะได้หยุดทั้งสิ้น 4 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2566 ต่อเนื่องถึง 2 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันอังคาร