‘ความหลากหลาย' เท่าเทียม ในมุม ‘ปอย ตรีชฎา’
ในโลกที่เปลี่ยนไป คนเราต้องรู้จักปรับตัว ให้เท่าทัน 'ความหลากหลาย' ที่มากขึ้น จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เป็นพื้นฐานจิตใจของทุกคนที่ไม่สามารถมองข้ามได้"
ปอย ตรีชฎา หงษ์หยก (เพชรรัตน์) นักแสดง นางแบบ นางงาม กล่าวในวันเปิดงาน Gender Fair 2023 Innovation for Gender Equality เพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา
ตอนอายุ 18 ปอยเข้าประกวดมิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส 2547 ได้ตำแหน่งชนะเลิศ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน ก็ได้รับตำแหน่งชนะเลิศ สร้างชื่อเสียงให้กับหญิงข้ามเพศไทย
จากนั้นเข้าสู่วงการบันเทิง แสดงละคร ภาพยนตร์ และเซ็นสัญญากับ Universe Hongkong เป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่ฮ่องกง
Cr. Kanok Shokjaratkul
ปัจจุบันเป็นประธานบริษัท BIOMT ทำวิจัยเกี่ยวกับ Biotechnology
ล่าสุด วันที่ 1 มีนาคม 2566 แต่งงานกับแฟนหนุ่ม โอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก
เพราะเชื่อเสมอว่า ‘ความหลากหลายคือความเท่าเทียม’ เธอจึงออกมารณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ปอย บอกว่า การได้รับการยอมรับ หรือไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้เรามีโอกาสได้แสดงความสามารถเต็มที่ และได้ทำประโยชน์ต่อตัวเอง เพื่อน ครอบครัว สังคม และประเทศได้ด้วย
"ถ้าพื้นฐานจิตใจเรายังไม่แข็งแรงพอ โอกาสที่จะแสดงออกเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและคนรอบข้าง จะมีศักยภาพลดลง เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามได้เลย"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ทำไมต้องให้ความสำคัญกลุ่ม LGBT
เพราะกลุ่มคน LGBT มีความรู้สึกไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่มีสภาพจิตใจเปราะบางมาก ปอยว่าอย่างนั้น
"ความเท่าเทียมของเพศชายและเพศหญิงในสังคม ปัญหาของเพศหญิงได้รับการแก้ไขไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังแก้ได้ไม่หมด ไม่ว่าเรื่องขนบประเพณี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพศชายก็ยังคงเป็นใหญ่อยู่เสมอ
อริสโตเติลกล่าวว่า ผู้ชายคือเพศของการปกครอง เพศหญิงคือเพศของการถูกปกครอง ประวัติศาสตร์ที่เขียนไว้อาจมาจากความคิดที่ลำเอียง อคติ หรือเป็นอุดมการณ์ของพวกเขาในวันนั้น
แต่วันนี้ มีการพัฒนา มีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมากมายในสังคม ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายของครอบครัว
หลาย ๆ คนที่มีความยึดติดกับสิ่งที่ถูกทำให้เกิดความลำเอียงในประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีการพัฒนาหรือวิวัฒนาการตามไปด้วยในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้ง ๆ ที่สังคม วัฒนธรรม ครอบครัว ได้เปลี่ยนไปแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องอัพเดท เท่าทัน ในสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ‘ความหลากหลาย’ ที่เกิดขึ้นมาแบบไม่จำกัด บอกไม่ได้ว่า มีจุดจบอยู่ตรงไหน"
Cr. Baan Ar-Jor
- ความหลากหลายคือความเท่าเทียม
ปอยกล่าวว่า เคยมีคนถามว่า ทำไมทุกวันนี้มีการรณรงค์เรียกร้อง หรือมีแคมเปญเกิดขึ้นมากมาย
"แน่นอน มันต้องเพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนความหลากหลายที่เปลี่ยนแปลง ทุกคนที่เกิดมามีความรู้สึกว่า เรามีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง
ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาหรือเพศสภาพ แต่มีความเชื่อ มีอุดมการณ์ มีศาสนา มีความคิดหลายอย่างที่แตกต่างกัน
เมื่อมีความแตกต่าง บางคนเข้าใจว่า ทุกคนจะต้องคิดเหมือนเรา เป็นเหมือนเรา จึงไม่ค่อยเคารพกันในเรื่องความแตกต่าง ปัญหาการขาดความเคารพในความแตกต่างนำมาสู่ปัญหาการเหยียด
เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเทศนั้นหรือสังคมนั้น มีประวัติศาสตร์ ความเชื่อตั้งแต่บรรพบุรุษว่ามีความเป็นมาอย่างไร
สังเกตได้ง่าย ๆ ในหลายประเทศที่มีประชาธิปไตย เรื่องความเชื่อและความเท่าเทียมจะอยู่บนพื้นฐานกฎหมายของประเทศ และทำให้ทุกคนรู้สึกว่า ความหลากหลายคือความเท่าเทียม
แต่บางคนเกิดมาในสังคมที่มีความเชื่อว่า ความหลากหลายจะไม่ถูกยอมรับ และมีความเชื่อว่า สิ่งที่เกิดมาส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ควรยอมรับ เรื่องแบบนี้ มันควรจะขจัดออกไปได้แล้วจากโลกใบนี้"
Cr. Baan Ar-Jor
- โลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียว
ปอย ยังบอกอีกว่า ในปัจจุบันโลกเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดนด้วยสื่อ ด้วยการเดินทาง
"คำว่าวัฒนธรรม ควรถูกหล่อหลอมมาเป็นวัฒนธรรมเดียว คือการเคารพกัน เรื่องเพศสภาพเป็นรายละเอียดย่อยของความหลากหลาย
คำว่า อัตลักษณ์ทางเพศ เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ ส่วนคำว่า เซ็กซ์ คืออัตลักษณ์ทางชีวภาพ ที่บอกว่า เราเกิดมามีอัตลักษณ์ยังไง
แต่เมื่อเราเลือก เพศสภาพ (Gender) ก็ขึ้นอยู่กับสังคมของเขา เขามีสิทธิเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น
ทุก ๆ คน หรือทุกสิ่งทุกอย่าง ควรมีความเท่าเทียมในเรื่องเพศ คนเหล่านั้นสามารถแสดงศักยภาพออกมา เมื่อใดที่มีรากฐานมั่นคง การไปสู่จุดที่สูงกว่า หรือยอดปิรามิด มันก็ไม่ยาก
ทุกวันนี้เส้นทางไปสู่ความสำเร็จของทุกคน ทุกอย่าง ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว เราเป็นสัตว์สังคม เราต้องช่วยเหลือกัน ทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำให้สังคมอยู่รอดปลอดภัย
ถ้าเราทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือมองว่า คนเหล่านั้นเป็นคนกลุ่มน้อย คนเหล่านั้นไม่เหมือนสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเชื่อ แล้วทิ้งเขาไว้ ก็จะยากที่จะทำให้สังคมไปสู่เป้าหมาย เราต้องนำเขากลับมาให้เขารู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งของทีม
ความเท่าเทียมทางเพศ หรือ Gender Equality จึงเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้พื้นฐานจิตใจของมนุษย์แข็งแรง และเมื่อไรรากฐานทางจิตใจของเราแข็งแรง จะทำอะไรก็จะไม่ค่อยกลัว"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ความสำคัญของความเท่าเทียม
ปอย มีความคิดว่า บางทีสังคมนี่ล่ะที่เขียนประวัติศาสตร์ แล้วทำให้คนส่วนน้อยรู้สึกกลัว
"ถ้าเราเป็นคนหมู่มาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีสิทธิที่จะตัดสินคนหมู่น้อยว่า เขาไม่เหมือนเรา
จากสถิติความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น ก็เกิดความเหยียดสูงขึ้นตามมา แม้ว่าเราจะทำนโยบาย ทำแคมเปญออกมามากมาย แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้เลย ถ้าเราไม่ตระหนักว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาของเรา ไม่ใช่ปัญหาของเขา
เราไม่สามารถรู้ได้ว่า วันใดวันหนึ่งเราอาจมีญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนรัก ที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกแบบนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักว่า นี่เป็นปัญหาของเรา
ปอยอยากฝากทุก ๆ ท่าน รวมไปถึงคนที่มีอำนาจกำหนดนโยบายของประเทศด้วยว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม
เพราะถ้าเรามองประเทศเป็นทีม เราต้องมองประชาชนทุกคนเป็นสมาชิก เป็นส่วนหนึ่งของทีม เราไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเทศของเราก็จะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายความเจริญได้"