‘หัวร้อน’ แต่แสดงออกไม่ได้ ภาวะที่คนยุคนี้กำลังเผชิญ

‘หัวร้อน’ แต่แสดงออกไม่ได้ ภาวะที่คนยุคนี้กำลังเผชิญ

ทำความรู้จัก “สภาวะความโกรธที่เก็บไว้” (Repressed Anger) ภาวะที่ “หัวร้อน” นะ แต่แสดงออกไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดทางหน้าที่การงานหรือหน้าตาทางสังคม รวมถึงการปลูกฝังจากที่บ้านที่ไม่ให้แสดงอารมณ์ ทำให้ได้แต่เก็บไว้ข้างใน รอวันระเบิด ซึ่งทำลายทั้งสุขภาพกายและใจ

ข่าวอาชญากรรม หรือกระทบกระทั่งกันที่ปรากฏในสื่อทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความ “หัวร้อน” ของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้คนเรามี “จุดเดือดต่ำ” จนมีเรื่องกันง่ายขึ้น แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมี “คนหัวร้อน” จำนวนมากที่เกรี้ยวกราดจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ความคาดหวังจากคนในครอบครัว แต่พวกเขาต้องรักษา “ภาพลักษณ์” ของตนเองไว้ ไม่สามารถแสดง “ด้านมืด” ของพวกเขาออกมาให้โลกเห็นได้

สภาวะ “ความโกรธที่เก็บไว้” (Repressed Anger) แตกต่างจาก “การกดความโกรธ” (Suppressed Anger) โดย “ความโกรธที่เก็บไว้” เป็นภาวะที่มนุษย์มีความรู้สึกโกรธ แต่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้ จำเป็นต้องเก็บซ่อน และกดอารมณ์ด้านลบนั้นให้หายไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความขัดแย้งและสถานการณ์ความตึงเครียดกับคนรอบข้าง 

ขณะที่ การกดความโกรธ (Suppressed Anger) เป็นการควบคุมความโกรธ ด้วยการหยุดคิดเรื่องที่โกรธ คิดถึงแต่เรื่องดี ๆ เปลี่ยนความโกรธไปใช้ในทางสร้างสรรค์ โดยที่เรารู้ว่าความรู้สึกนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

  • สาเหตุของที่ต้องเก็บความหัวร้อนไว้

สภาวะความโกรธที่เก็บเอาไว้ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้มากที่สุด คือ มาจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก ทำให้หลายคนรู้สึกสับสน เศร้า หรือละอายใจ และเอาแต่โทษตัวเอง แม้ว่า “ความโกรธ” เป็นอารมณ์สากลที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่  โดยทั่วไปแล้วเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ทำให้อารมณ์เสีย ตึงเครียด หรือไม่ยุติธรรม ซึ่งแต่ละคนมีวิธีแสดงความโกรธแตกต่างกันออกไป แต่ด้วย “กฎการแสดงอารมณ์” (Display Rules) บังคับไม่ให้มนุษย์สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ และจำเป็นต้อง “แสดง” อารมณ์อื่นออกมา เพื่อให้สังคมเกิดความผาสุก

ขณะที่ บางครอบครัวไม่อนุญาตให้ลูกแสดงหรือพูดถึงความรู้สึกของตนเอง จนทำให้เด็กเติบโตมาพร้อมชุดความเชื่อฝังลึกว่าการแสดงความรู้สึกโกรธ เป็นสิ่งไม่ปลอดภัย ทำให้จำเป็นต้องกดและเก็บอารมณ์เหล่านั้น แทนที่จะแสดงออกมา 

นอกจากนี้ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวส่งผลให้ความโกรธของเด็กถูกควบรวมกับความกลัว ความไม่ปลอดภัย และความสัมพันธ์ในครอบครัวถูกทำลายอีกด้วย ไม่เพียงแต่การปลูกฝังของครอบครัวมีผลให้คนต้องเก็บอารมณ์โกรธเอาไว้ รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง สามารถส่งผลให้ผู้คนเกิดการเรียนรู้การประมวลผลและแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ด้วย 

  • ผลกระทบจากความโกรธที่สะสม

สภาวะความโกรธที่เก็บเอาไว้ สามารถแสดงออกได้หลายวิธี และค่อย ๆ เปลี่ยนความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของผู้คน โดยที่หลายคนจะไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จนกระทั่งความโกรธของพวกเขาจะถึงขีดจำกัด พร้อมระเบิดใส่ใครสักคน

นอกจากนี้ ในช่วงแรกของผู้คนตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวจะร่างกายจะไม่ส่งสัญญาณเตือนความโกรธ ทั้งด้านร่างกาย ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น และด้านอารมณ์ เช่น รู้สึกตึงเครียด กระสับกระส่าย หงุดหงิด 

อีกทั้งพวกเขาจะไม่ยอมรับในความรู้สึกของตนเอง แม้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยาแสดงออกชัดเจน จนคนอื่นสัมผัสได้ก็ตาม ซึ่งกลไกการป้องกันนี้จะทำให้พวกเขายอมรับและรับรู้ถึงความโกรธได้ยากขึ้น เพราะพวกเขาจะลด เพิกเฉย หรือปฏิเสธความโกรธอยู่เสมอ

แม้ว่าความโกรธจะถูกสกัดกั้นไม่ให้แสดงออก แต่ความรู้สึกเหล่านี้มันไม่ได้หายไปไหน ยังคงสะสมอยู่ในร่างกายของเรา เหมือนกับภูเขาไฟรอวันปะทุ ก่อให้เกิดผลเสียมากมายต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต จนส่งผลต่อกับคุณภาพชีวิตโดยรวมและความสามารถในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง ความเครียดเรื้อรัง ปัญหาหัวใจ นอนไม่หลับ มีความเสี่ยงสูงต่อโรคเรื้อรัง นับถือตนเองลดลง ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เฉยชา ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงในการยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด สื่อสารกับผู้อื่นลำบาก ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง 

‘หัวร้อน’ แต่แสดงออกไม่ได้ ภาวะที่คนยุคนี้กำลังเผชิญ

Anger ตัวละครสุดหัวร้อนจาก Inside Out

 

  • วิธีจัดการสภาวะความโกรธที่เก็บเอาไว้

มีหลายวิธีในการแสดงความโกรธ ซึ่งสามารถช่วยให้คุณจัดการกับอารมณ์ของคุณได้ แทนที่จะกดมันและปล่อยให้มันก่อตัวขึ้นจนทำลายสุขภาพภายหลัง โดย เว็บไซต์ Choosing Therapy ให้คำแนะนำและบำบัดสุขภาพจิต ได้ให้วิธีจัดการกับความโกรธไว้ ดังนี้

1. เข้าใจว่าความโกรธของคุณมาจากไหน - ความโกรธไม่ต่างจากอารมณ์อื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้และแสดงให้เห็นว่าคุณมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะบ่อยครั้งที่ความโกรธทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีกับคุณได้ ดังเมื่อคุณเข้าใจมากขึ้นว่าความรู้สึกเหล่านี้เกิดจากอะไรและหาทางแก้ไขมันก็จะทำให้ความรู้สึกของคนอื่นที่ต่อคุณเปลี่ยนไป

2. ติดตามความโกรธในร่างกายของคุณ - เมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียดจนทำให้คุณโกรธ คุณควรสนใจและสังเกตความรู้สึกและความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย รวมถึงติดตามอารมณ์ของคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้เท่าทันอารมณ์ของตน เพราะยิ่งคุณสังเกตเห็นความโกรธได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งประมวลผลผ่านอารมณ์ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

3. เขียนบันทึกประจำวัน - การจดบันทึกสามารถช่วยให้คุณปรับตัวเข้ากับความคิดและความรู้สึกได้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมการตระหนักรู้ในตนเอง เพราะคนที่กักเก็บความโกรธเอาไว้จะมีปัญหากับการรับรู้ความคิดภายในใจของตน โดยคุณควรเขียนบันทึกอารมณ์ในแต่ละวัน และเขียนถึงเรื่องอะไรก็ได้

4. ขัดขวางความโกรธ - เมื่อเราโกรธจะมาพร้อมกับความคิดลบ ๆ กับตัวเอง ยิ่งคุณมีความคิดด้านลบวนไปเวียนมา คุณก็จะยิ่งโกรธและอารมณ์เสียมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ากำลังโกรธ คุณควรหันเหความสนใจกับสิ่งอื่น ๆ หรือค่อย ๆ สูดหายใจลึก ๆ ผ่อนคลายอารมณ์ลง อย่าให้ค่ากับความโกรธมากเกินไป

5. ออกกำลังกายระบายความโกรธ - ความโกรธเป็นอารมณ์ที่มีพลังงานสูงมาก ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยปรับสมดุลเคมีในสมองและหลั่งสารแห่งความสุข ช่วยให้คุณรู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น

6. ฝึกสมาธิ - การเจริญสติและการทำสมาธิช่วยลดความเครียด ส่งเสริมการผ่อนคลาย และยังช่วยให้จิตใจสงบ ลดความว้าวุ่นใจ ซึ่งในช่วงแรกของการทำสมาธินั้นอาจจะมีความคิดเกิดขึ้นผุดขึ้นมารบกวนจิตใจ คุณจำเป็นต้องปล่อยผ่านความคิดเหล่านั้น และอย่าเก็บมาใส่ใจ

7. รับรู้ความรู้สึกของตนเอง - คุณควรหยุดหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธอารมณ์โกรธของตนเอง และเผชิญหน้ากับมันโดยตรง พร้อมกับสร้างเสริมความมั่นใจ ก็จะให้ทำให้คุณรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น

“ความโกรธ” ไม่ได้เป็นเรื่องอันตรายหรือไม่ดี ทุกคนสามารถมีได้ ดังนั้นอย่ามองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดจนต้องเก็บเอาไว้ในกับตนเอง หรือแคร์สายตาของคนในสังคมมากจนเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วมันก็สุมอยู่ในอก จนทำร้ายสุขภาพกายและใจ ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากตัวเราเอง 

 

ที่มา: Choosing TherapyPsychologenie