ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด

จากความเชื่อสู่ประเพณีบุญบั้งไฟ ได้เวลาสักการะเทวดาเบื้องบน เพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ด้วยขบวนแห่รำถวายและการจุดบั้งไฟในหลายจังหวัดทั่วภาคอีสาน

งานประเพณีบุญบั้งไฟ ในภาคอีสานของประเทศไทย เกิดจากความเชื่อว่า โลกมนุษย์ อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา หรือ ‘แถน’ ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน ถ้าแถนโปรดปราน มนุษย์จะมีความสุข

จึงมีการรำผีฟ้า มีพิธีบูชาแถน มีจุดบั้งไฟแสดงความเคารพ ส่งสัญญาณไปขอฝนจากพญาแถน แล้วยังมีความเชื่อเรื่อง พญาคันคาก (คางคก) ที่รบชนะพญาแถน ทำให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์

งานบุญบั้งไฟ ที่จัดขึ้นเพื่อบูชา พญาแถน ผู้มีหน้าที่ดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตก และอาจเกิดภัยพิบัติได้

ที่จังหวัดยโสธร งานบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคมในทุกปี มีกิจกรรมประกวดกองเชียร์ มีขบวนแห่บั้งไฟโบราณ มีรำเซิ้งแบบโบราณ จาก 9 อำเภอ

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด Cr. Thailand Festival

ที่จังหวัด ร้อยเอ็ด งานบุญบั้งไฟ จะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเก่าแก่มาช้านาน เช่น

ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จัดงานทุกวันเสาร์-อาทิตย์ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนของทุกปี มีบั้งไฟสวยงามขนาดใหญ่มากที่สุด (ลายศรีภูมิ หรือ ลายกรรไกรตัด) มีขบวนรำสวยงามมากที่สุดของประเทศ

ที่อำเภอพนมไพร จัดงานทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี ตามรูปแบบประเพณีดั้งเดิม โดยจุดบั้งไฟถวายมากที่สุดในประเทศ มีบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน รวมกันกว่า 1,000 บั้ง

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด Cr. Thailand Festival

จังหวัด กาฬสินธุ์ งานบุญบั้งไฟตะไลล้าน บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นชุมชนภูไทขาวเก่าแก่ ก่อตั้งหมู่บ้านมา 150 ปี เป็นบั้งไฟที่ขึ้นในแนวนอนเรียกว่า ตะไล

เป็นต้นแบบตะไลแห่งแรกของไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จัดขึ้นวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด Cr. TAT Contect Center

ใน ภาคเหนือ มีงานประเพณีบุญบั้งไฟ ของ ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสาน ถือว่าถวายเป็นพุทธบูชาและขอฝน

ใน ภาคใต้ มีงานประเพณีบุญบั้งไฟ ในเขตอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นการละเล่นของชาวอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518

ใน ภาคกลาง

จังหวัดนครสวรรค์ มีงานประเพณีบุญบั้งไฟ ที่ อำเภอแม่เปิน เนื่องจากชาวบ้านร้อยละ 85 เป็นชาวอีสาน จัดมาตั้งแต่ปี 2532

จังหวัดอุทัยธานี มีงานประเพณีบุญบั้งไฟ ที่ อำเภอลานสัก มาตั้งแต่ปี 2521 จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน จัดขึ้นในช่วงเดือน 6-7 หรือสัปดาห์ที่สองเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด Cr. Thailand Festival

การจัดงาน แต่ละจังหวัด เดือนพฤษภาคม 2566

  • ยโสธร

งานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร

วันที่ 19-21 พฤษภาคม 2566 ณ สวนสาธารณะพญาแถน จังหวัดยโสธร มีประกวดกองเชียร์บั้งไฟ ประกวดสาวงามธิดาบั้งไฟโก้ การแสดง แสง สี เสียง วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม มีขบวนแห่บั้งไฟ วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม มีจุดบั้งไฟแสนขึ้นสูง และบั้งไฟแฟนซีติดร่ม ที่แต่ละหมู่บ้านนำมาแข่งขัน

  • กาฬสินธุ์

1) งานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านบ้านกุดหว้า

วันที่ 20-21 พฤษภาคม 2566 ณ เทศบาลกุดหว้า จังหวัดกาฬสินธุ์ ชมการจุดตะไลแสน, ตะไล 2 ล้าน ตะไล 10 ล้าน, ตะไล 20 ล้าน/ วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม ชมขบวนแห่ฟ้อนภูไทวิถีไท กลางคืนมีมหรสพ/  วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม ชมการจุดบั้งไฟตะไลแสน, ตะไลล้าน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

2) งานประเพณีบุญบั้งไฟแพรว่ากาฬสินธุ์

วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2566 ณ ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

  • ขอนแก่น

งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกระนวน

วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2566 ณ บริเวนหน้าที่ว่าการอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น

  • ศรีสะเกษ

งานประเพณีบุญบั้งไฟและผ้าไหม

วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2566 ณ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ

  • ร้อยเอ็ด

งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอสุวรรณภูมิ

วันที่ 27-4 มิถุนายน 2566 ณ เวทีกลางลานอนุสาวรีย์เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

 

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด Cr. TAT Contect Center

  • ชวนเที่ยว วิมานพญาแถน จังหวัดยโสธร

สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจเรื่องพญาคันคาก และ พญานาค จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของจังหวัดและประเพณีบุญบั้งไฟ มีจุดชมวิวมุมสูง

ตามตำนานเล่าว่า ‘พญาแถน’ รู้สึกโกรธเคืองมนุษย์ด้วยสาเหตุบางประการ จึงไม่ยอมให้ฝนตกยาวนานถึง 7 เดือน เกิดความแห้งแล้ง ยากลำบากไปทั่วทุกสารทิศ

เหล่าสรรพสัตว์ร่วมกันหาวิธี โดย พญานาคี, พญาต่อแตน อาสาไปสู้รบกับพญาแถน ก็พ่ายแพ้กลับมา ‘พญาคันคาก’ หรือ พญาคางคก อาสาไปต่อสู้จนได้รับชัยชนะ เกิดเป็นสัญญา 3 ประการ ที่พญาแถนต้องปฏิบัติตาม คือ

ชวนเที่ยว ‘งานบุญบั้งไฟ’ ปี 66 ใน 5 จังหวัด Cr. TAT Contect Center

1. เมื่อไรที่มนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นฟ้า ให้พญาแถนบันดาลฝนตกลงมาทันที

2. ถ้าได้ยินเสียงกบเขียดร้อง แสดงว่าฝนได้ตกลงสู่โลกมนุษย์แล้ว

3. หากได้ยินเสียงของสะนู ที่ติดกับว่าว แสดงว่าเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผล ขอให้ฝนหยุดตก

พญาแถนก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บั้งไฟ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการขอฝน เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญบั้งไฟ

เปิดวันจันทร์​, พุธ​-พฤหัสบ​ดี​-ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น. (ปิดวันอังคาร)​

วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.

.............

อ้างอิง : ข่าวสารท่องเที่ยว ททท., วิกิพีเดีย