'Child Grooming' ไม่ใช่ 'รักต่างวัย' พฤติกรรมล่อลวงเด็กที่ผู้ปกครองต้องรู้เท่าทัน

'Child Grooming' ไม่ใช่ 'รักต่างวัย' พฤติกรรมล่อลวงเด็กที่ผู้ปกครองต้องรู้เท่าทัน

ทำความรู้จัก “Child Grooming” หรือ “การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ” อาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่ถือเป็นความผิดร้ายแรง พร้อมทำความเข้าใจว่า แตกต่างจาก “รักต่างวัย” อย่างไร

“ละครไทย” หลายเรื่องในอดีตมักจะมาในรูปแบบของ “รักต่างวัย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดและสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคม เพราะความรักสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ก็มีละครหลายเรื่องที่พฤติกรรมของ “พระเอก” เข้าข่าย “เลี้ยงต้อย” นางเอกที่มีอายุน้อยกว่า แถมบางเรื่องยังเป็นญาติกัน หรือ พระเอกมีฐานะเป็น “ผู้ปกครอง” ของ “นางเอก” ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น ดาวพระศุกร์, สายโลหิต, นางอาย, ดงผู้ดี, สลักจิต หรือ ดอกโศก เป็นต้น

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 “เลี้ยงต้อย หมายถึง”  (ก.) เลี้ยงมาแต่เล็กแต่น้อยจนเติบโตแล้วก็ยกฐานะขึ้นเป็นสามีหรือภรรยาของผู้เลี้ยงเอง โดยพฤติกรรมการเลี้ยงต้อยไม่ได้ปรากฏอยู่แต่เพียงในละครเท่านั้น ยังคงมีอยู่จริงในสังคมไทย และหลายครั้งไม่ได้โรแมนติกและมีความสุขเหมือนดั่งภาพในละคร

หากพิจารณาจากความหมายดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า เลี้ยงต้อย เป็นส่วนหนึ่งของ “การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ” หรือ “Child Grooming” ถือเป็นอาชญากรรมที่มีความผิด และในหลายประเทศก็มีบทลงโทษอาชญากรรมประเภทนี้โดยเฉพาะแล้ว

  • Child Grooming คืออะไร ?

“การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ” หรือ “Child Grooming” (ในบางครั้งเรียกว่า “Grooming”) คำที่บัญญัติขึ้นสำหรับอธิบายสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่ใช้วิธีการเข้าหาเด็กหรือเยาวชนเพื่อให้เด็กเชื่อใจและไว้ใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ไม่ว่าจะเพื่อความต้องการทางเพศของตนเอง ล่อลวงเด็กเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และเข้าสู่วงจรธุรกิจทางเพศ หรือการทำสื่อลามกอนาจารก็ตาม

สาเหตุที่คนเหล่านี้เลือกเหยื่อเป็นเด็ก เพราะเด็กจะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะไม่แจ้งความหรือดำเนินการทางกฎหมาย อีกทั้งอาชญากรสามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้ผู้ปกครองไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างของเด็กได้ด้วย 

 

  • Child Grooming มีรูปแบบกระบวนการที่สามารถสังเกตได้ง่าย 

ข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่า

- เริ่มด้วยการดึงเด็กให้เข้าใกล้โดยการสร้างความไว้วางใจก่อน

- บางครั้งอาจเข้าหาผู้ปกครองเด็กเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ไว้วางใจ และยอมปล่อยให้เข้าใกล้ชิด หรือใช้เวลาอยู่กับเด็กตามลำพัง

ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี เพื่อรอจนกว่าเด็กจะไว้ใจ ลดระดับการป้องกันตัวลง จนกลายเป็น “วางใจ” สามารถให้สัมผัสร่างกายได้ โดยมีด้วยกัน 6 ขั้นตอน คือ

1. มองหาและเลือกเหยื่อ - อาชญากรมักเลือกคนที่มีความเปราะบางในจิตใจ เช่น โหยหาความรัก ความอบอุ่น หรือการยอมรับจากคนในครอบครัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง โดดเดี่ยวหรือผู้ปกครองละเลย ไม่เอาใจใส่ใกล้ชิด 

2. สร้างความไว้วางใจ - ผู้กระทำจะเฝ้าสังเกต พยายามทำความรู้จักเหยื่อ หาทางตอบสนองความต้องการของเหยื่อ โดยผู้กระทำอาจเริ่มเผย “ความลับ” หรือแอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกัน เพื่อให้เด็กไว้ใจ พยายามแยกเด็กออกห่างจากครอบครัว เช่น ยอมให้เด็กทำอะไรบางอย่าง ทั้งที่ปรกติผู้ปกครองไม่อนุญาต

3. ตอบสนองความต้องการ - หลังจากรู้ว่าเด็กต้องการอะไรแล้ว ผู้กระทำก็จะพยายามตอบสนองด้วยการให้สิ่งเหล่านั้น ทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงแสดงความรักความเอาใจใส่ เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตเด็ก 

4. พยายามแยกเด็กออกจากผู้ดูแล - เสนอตัวเข้ามาดูแลเด็กเวลาที่ผู้ปกครองไม่ว่าง หรือพยายามทำอย่างอื่นเพื่อสร้างโอกาสที่จะได้อยู่ตามลำพังกับเด็กโดยไม่มีใครมาขัดจังหวะ ทำให้ผู้ปกครองบางคนอาจตกหลุมพรางนี้เพราะดีใจที่มีคนมาสนใจหรือเอาใจใส่ลูก 

5. เริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก - มักจะเริ่มจากการสัมผัสที่ดูเป็นธรรมชาติก่อน เช่น โดนตัวโดยบังเอิญ หรือเล่นกับเด็กด้วยการสัมผัสร่างกาย เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและจะได้ไม่ขัดขืน เมื่อยกระดับเป็นการสัมผัสแบบทางเพศมากขึ้น ผู้กระทำจะฉกฉวยประโยชน์จากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กเพื่อทำให้ปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นการละเมิดทางเพศมากขึ้นไปอีกตามลำดับ

6. ใช้การควบคุม - พฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้กระทำได้ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กแล้ว และต้องการที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ และบังคับให้เด็กทำตามความต้องการของตนเอง จะใช้การข่มขู่หรือการสร้างความรู้สึกผิดเพื่อบังคับให้เด็กเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ และทำให้เด็กต้องร่วมมือให้ละเมิดทางเพศต่อไปและไม่กล้าบอกใคร เช่น ขู่ทำร้ายคนในครอบครัว หรือ พ่อแม่อาจจะตำหนิเด็กและเกลียดพวกเขา หรือ อาจทำให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำกัน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ความรักว่า “รักต่างวัย” ทุกรูปแบบจะเป็น Child Grooming คีย์หลักสำคัญที่ทำให้ทั้งสองสิ่งนี้แตกต่างกันคือ ความรักต่างวัยนั้นเกิดจากความต้องการของคนทั้งคู่ ทุกฝ่ายรับรู้ อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง เข้าตามตรอกออกตามประตู ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ หรือพยายามครอบงำทางความคิดและจิตใจ 

แตกต่างจาก Child Grooming ที่เกิดขึ้นจากการ “หลอกลวง” ฉวยโอกาส และพยายามกีดกันคนในครอบครัวออกจากเด็ก ตลอดจนทำการ “แบล็กเมล์” เพื่อให้เด็กและเยาวชนทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการ

 

  • สัญญาณเตือนเมื่อเด็กเผชิญ Grooming

ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลควรสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือเด็กในการปกครอง หากพวกเขาเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ Child Grooming อยู่ ดังนี้

1. เด็กได้รับความสนใจ ของขวัญ หรือมีกิจกรรมพิเศษจากผู้กระทำมากเป็นพิเศษ

2. เด็กเริ่มแยกตัวออกจากคนในครอบครัวและเพื่อนสนิท เพราะผู้กระทำบอกเด็กว่า “ไม่มีใครเข้าใจคุณเท่าฉัน”

3. เด็กมีความลับกับสมาชิกครอบครัว

4. เด็กถูกผู้กระทำแตะต้องร่างกาย ตั้งแต่การกอด การนั่งบนตัก หรือเริ่มมีการจับอวัยวะเพศ หน้าอก โดยอ้างว่า “ไม่ได้ตั้งใจ” 

5. ผู้กระทำอาจเผยเนื้อหนังมังสาเวลาอยู่กับเด็ก รวมถึงอาบน้ำหรือนอนเตียงเดียวกับเด็ก

มอลลีแอนน์ วาสเกซ ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาจาก Center for Child Protection กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องน่ากลัวที่ผู้กระทำผิดมักจะกลายเป็นคนที่รู้จักเด็กมากที่สุด แถมได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถไว้วางใจใครได้เลย ความจริงแล้วการสอนให้เด็กป้องกันตัวเอง หมั่นสอบถามเด็กอยู่เสมอ ว่ามีใครพยายามล่วงเกินหรือไม่ จะช่วยสร้างความไว้วางใจกับเด็กและช่วยปกป้องพวกเขาได้”

ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะเริ่มพูดคุยกับลูก ๆ ของคุณ เกี่ยวกับร่างกาย เพศ และการอนุญาตให้คนอื่นสัมผัสร่างกายพวกเขา และสิ่งสำคัญคือ ควรทำให้พวกเขารู้ว่า พวกเขาสามารถพูดกับคุณได้ทุกเมื่อ หากมีคนทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจหรือไม่ปลอดภัย จาก เพื่อน คนภายนอก หรือแม้แต่จากคนในครอบครัวก็ตาม


ที่มา: Center of Child ProtectionNSPCC