10 นิสัยเสียทางการเงิน เสี่ยงสู่ ‘ชนชั้นกลางตลอดชีวิต’ เลิกได้..เลิก!
เปิด 10 พฤติกรรมไม่ควรทำที่ทำให้ “ชนชั้นกลาง” ไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ พร้อมวิธีการแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญ
“ชนชั้นกลาง” ถือเป็นรากฐานของสังคม เพราะมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมโดยรวม แต่ในปัจจุบันด้วยค่าครองชีพที่พุ่งสูงไม่หยุด แถมไม่สอดคล้องกับรายได้ ทำให้ชนชั้นกลางต้องเจอกับปัญหาใช้เงินเดือนชนเดือน ชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นหนี้บัตรเครดิตมากมาย ลำพังแค่จะให้มีเงินอยู่รอดไปถึงสิ้นเดือนก็ลำบากอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดถึงความมั่งคงทางการเงินให้กับตนเองไปได้เลย
- พฤติกรรมที่ทำให้ชนชั้นกลางติดหล่มทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม “พฤติกรรมทางการเงิน” ของกลุ่มชนชั้นกลางก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เสถียรภาพทางการเงินไม่เคยเกิดขึ้นจริง กลายเป็น “หนูติดจั่น” ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักทางการเงินได้
พฤติกรรมทางเงินที่ชนชั้นกลางจำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อมีความมั่นคงทางการเงินได้แก่
1. ใช้จ่ายเกินตัวกับของไม่จำเป็น - ชนชั้นกลางมักหมดเงินไปการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อปลอบประโลมใจ ให้ลืมความทุกข์ที่พวกเขาต้องเจอในแต่ละวัน ทำให้พวกเขาไม่สามารถเก็บเงินหรือลงทุนเพื่ออนาคตได้
2. ใช้เงินเดือนชนเดือน - คนชั้นกลางต้องต่อสู้กับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน รายได้ที่รับมาก็พร้อมจะจ่ายออกไปเสมอ จนทำให้พวกเขาไม่มีเงินเก็บสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เสี่ยงต่อความล้มเหลวทางการเงินและไม่สามารถก้าวไปสู่ความมั่นคงทางการเงินได้
3. พึ่งพาเครดิต - บัตรเครดิต ถ้ามีเยอะแล้วฉลาดใช้จะเต็มไปด้วยประโยชน์ แต่ชนชั้นกลางหลายคนมีบัตรเครดิตหลายใบ และขาดวินัยทางการเงิน อาทิ จ่ายไม่ตรงเวลา หรือบางคนหนักกว่า คือ รูดบัตรใบนี้ โปะบัตรใบนั้น ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาทางการเงินที่ไม่ยั่งยืน จนสุดท้ายก็ปิดหนี้บัตรไม่ได้สักใบ แถมเจอดอกเบี้ยสะสมเป็นดินพอกหางหมูอีก
4. ไม่วางแผนทางการเงิน - อันที่จริงการออมเงินและการลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างความมั่นคงทางการเงิน แต่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนนี้ เพราะไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินไว้ล่วงหน้าว่าในแต่ละเดือนจะต้องแบ่งรายได้ของตนเองใช้กับอะไรบ้าง
5. ไม่มีทักษะทางการเงิน - องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ให้คำนิยามของ “ทักษะทางการเงิน” ไว้ว่า เป็นการตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญความชำนาญ ทัศนคติ และพฤติกรรม ในลักษณะที่มีผลให้บุคคลเกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดี และในที่สุดจะช่วยส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ซึ่งชนชั้นกลางส่วนใหญ่ยังขาดทักษะนี้อยู่มาก
6. ละเลยการวางแผนเกษียณ - ชนชั้นกลางจำนวนมากประเมินความสำคัญของการออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณต่ำเกินไป หลายคนจึงไม่ได้แบ่งเงินออมไว้สำหรับบั้นปลายชีวิต ลำพังเงินจากประกันสังคม หรือ เงินบำนาญนั้นไม่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับใครที่ไม่มีลูกหลาน ยิ่งต้องเตรียมเงินมากกว่าคนอื่นด้วย
7. ไม่ลงทุน - ครอบครัวชนชั้นกลางส่วนใหญ่มักมองว่าการลงทุนในกองทุนและเล่นหุ้นเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่การลงทุนเหล่านี้ สามารถทำให้เงินงอกเงยขึ้นได้ หรือส่วนใหญ่มักจะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว ไม่ได้กระจายสินทรัพย์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินจากความผันผวนของตลาดได้มากขึ้น
8. มีประกันไม่ครอบคลุม - ในปัจจุบันประกันมีด้วยกันหลากหลายประเภท ซึ่งต้องใช้เงินซื้อกรมธรรม์เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยฐานะของชนชั้นกลางไม่สามารถซื้อประกันได้ครอบคลุมทุกประเภท ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย หรือเหตุสุดวิสัยอื่น ๆ ที่ไม่มีประกันรองรับ
9. ซื้อของตามอารมณ์ - หลายครั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจจะซื้อของ แต่พอเห็นโปรโมชันพิเศษต่าง ๆ ก็อดใจซื้อไม่ไหวทั้งที่มันไม่ใช่สิ่งของที่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่ใช้การช้อปปิ้งบำบัดความเครียดอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาสู่การเป็นหนี้และไม่มีเงินเก็บสำหรับอนาคตได้
10. ไม่เปรียบเทียบราคา - เวลาซื้อสินค้าคนส่วนใหญ่มักจะไม่เปรียบเทียบราคา หรือ หาสอบถามจากร้านค้าหลายแห่ง ทำให้เสียโอกาสได้รับข้อเสนอที่ดีและ พลาดโอกาสในการประหยัดเงิน
- กลยุทธ์ช่วยให้ชนชั้นกลางมีความมั่นคงทางการเงิน
สตีฟ เบิร์นส์ จาก New Trade U เว็บไซต์ให้คำแนะนำทางการเงิน ได้เปิดเผย
10 วิธีที่ช่วยให้ชนชั้นกลางมีความมั่นคงทางการเงิน
1. วางแผนการเงิน - กำหนดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนอย่างชัดเจน โดยต้องรวมถึงเงินสำหรับการเก็บออมด้วย อีกทั้งต้องทำแผนรายรับรายจ่าย เพื่อตรวจสอบและควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินงบ
2. ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน - วางแผนทางการเงิน โดยให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ และวางเป็นเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อจะได้เป็นการเตือนสติตนเองว่าต้องทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ
3.ศึกษาการเงินส่วนบุคคล - เพิ่มพูนความรู้ทางการเงินโดยการค้นหาแหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ พอดแคสต์ หรือหลักสูตรออนไลน์ เพื่อทำการตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับการเงินของคุณ
4. ประหยัดให้มากขึ้น - ใช้ชีวิตด้วยความประหยัดมากยิ่งขึ้น มีสติในการใช้จ่าย มุ่งเน้นไปที่ความต้องการที่แท้จริง มากกว่าซื้อด้วย “ความอยากได้” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มาเพียงชั่วครู่ เพื่อลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและจัดสรรรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. หารายได้เสริม - ในช่วงที่ผ่านมาเทรนด์ “รายได้หลายทาง” ถูกเป็นที่พูดถึงในไทยเป็นอย่างมาก เพราะการมีอิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้นหากมีเงินมากพอ ดังนั้นการมีงานเสริม ไม่ว่าจะเป็นการรับงานฟรีแลนซ์ ขายสินค้าออนไลน์ หรือลงทุน จึงเป็นตัวเลือกที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
6. แบ่งเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน - แบ่งเงินไว้จำนวนหนึ่งเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และป้องกันเงินตึงมือ หรือไม่มีเงินพอสำหรับใช้จ่าย และลดโอกาสการเป็นหนี้
7. ทบทวนและปรับเป้าหมายทางการเงินเป็นประจำ - ประเมินเป้าหมายและความคืบหน้าทางการเงินของคุณเป็นระยะและดูว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังเป็นไปตามแผนได้ ซึ่งหากเป็นไปไม่ได้ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
8. ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย - ในปัจจุบันมีแอปพลิชันมากมายที่สามารถเกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็น แอปจัดทำงบประมาณ แอปธนาคาร และแพลตฟอร์มการลงทุนเพื่อช่วยให้คุณจัดระเบียบ ออมเงินอัตโนมัติ และตัดสินใจทางการเงินอย่างชาญฉลาด
9. สร้างเครือข่าย - เข้าร่วมกลุ่มในโซเชียลมีเดียที่มีเป้าหมายทางการเงินคล้ายกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา และรักษาแรงจูงใจในการเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินของคุณ
10. ขอคำแนะนำจากมืออาชีพ - ปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงิน นักบัญชี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เพื่อรับคำแนะนำที่สามารถปรับให้เหมาะกับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ทางการเงินเฉพาะของคุณ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินของจะต้องใช้ความทุ่มเท ระเบียบวินัย และความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเส้นทางสู่ความสำเร็จทางการเงินนั้นต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ที่สำคัญต้องรักษาความสม่ำเสมอ เมื่อคุณมีนิสัยทางการเงินที่ดีแล้ว คุณก็พร้อมจะจัดการกับความท้าทายทางการเงินที่เข้ามา และตัดสินใจอย่างรอบคอบเพื่อจะไปถึงเป้าหมายในระยะยาวของคุณ
ที่มา: New Trader U