ทำไม Pride Month ต้องโบก "ธงสีรุ้ง" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

เปิดที่มา "ธงสีรุ้ง" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความรู้จัก LGBTQIA+

ชวนรู้จักที่มาและความหมายของ "ธงสีรุ้ง" ต้อนรับเดือน Pride Month รู้หรือไม่เมื่อก่อนมีถึง 8 สีก่อนจะเหลือ 6 สีอย่างปัจจุบัน พร้อมทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ “LGBTQIA+” คืออะไร มีเพศวิถีใดบ้าง

ภาพ "ธงสีรุ้ง" ที่ใช้ประดับและรณรงค์ในช่วง "Pride Month" กำลังโบกสะบัดไปทั่วทั้งตามท้องถนน รวมถึงในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อแสดงถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ "LGBTQIA+"

หลายคนอาจสงสัย ว่า ทำไมต้องเป็น "สีรุ้ง" แล้วธงสีรุ้ง หรือ "Rainbow Flag" เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIA+ อย่างไร

ทำไม Pride Month ต้องโบก \"ธงสีรุ้ง\" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

กรุงเทพธุรกิจ ชวนเปิดความหมายของธงสีรุ้ง ธงสีรุ้งมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงลดจาก 8 สีเหลือ 6 สีอย่างในปัจจุบัน พร้อมทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ “LGBTQIA+” คืออะไร มีเพศใดบ้าง

  •  ทำไม “สีรุ้ง” จึงเป็นตัวแทนรณรงค์ความหลากหลายทางเพศ 

เกี่ยวกับที่มาและความหมายของ "ธงสีรุ้ง" (Rainbow Flag) นั้น ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่น่าจะทราบกันดีเมื่อได้เห็น​ “ธงสีรุ้ง” รวมถึงการปรับดับตกแต่งใดๆ ที่ใช้ "สีรุ้ง" โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ว่า นี่คือการรณรงค์ถึงสิทธิและการมีตัวตนอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ "LGBTQIA+"

แล้วรู้ไหม ทำไมจึงเลือกให้ ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) เป็นสัญลักษณ์ของเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ดังกล่าว

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ผู้ให้กำเนิดธงสีรุ้ง คือ กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาว LGBTQIA+ โดยเบเกอร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง "Over the Rainbow" เป็นประกอบภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่อง "The Wizard of Oz" ขับร้องโดย "จูดี การ์แลนด์" (Judy Garland) นักร้องและนักแสดง ผู้ถูกยกย่องให้เป็นเกย์ไอคอนคนแรก

รวมถึงเบเกอร์ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "ธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ" (Five Races Under One Union) ที่ใช้ในช่วงการการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน ที่เป็นธง 5 สีแนวนอน ประกอบไปด้วยสีแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ

ทำไม Pride Month ต้องโบก \"ธงสีรุ้ง\" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

นอกจากนี้ สายรุ้งยังเป็นสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แสดงถึงการรวมตัวกันของทุกเฉดสี ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นตัวแทนของมนุษย์ เพราะแต่ละบุคคลก็เปรียบเสมือนสีที่หลากหลาย แตกต่างกันด้วยทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติ อายุ และศาสนา

  • จุดกำเนิด ธงสีรุ้ง และที่มาของแต่ละสี

ธงสีรุ้ง ถูกใช้ครั้งแรกในงานพาเหรด "San Francisco Gay Freedom Day" เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2521 ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 สี และแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันออกไปดังนี้

สีชมพูเฉดฮอตพิงก์ (Hot pink) เป็นตัวแทนของ เพศ (Sex)

สีแดง (Red) เป็นตัวแทนของ ชีวิต (Life)

สีส้ม (Orange) เป็นตัวแทนของ การเยียวยา (Healing)

สีเหลือง (Yellow) เป็นตัวแทนของ แสงอาทิตย์ (Sunlight)

สีเขียว (Green) เป็นตัวแทนของ ธรรมชาติ (Nature)

สีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) เป็นตัวแทนของ เวทย์มนตร์ (Magic)

สีน้ำเงินคราม (Indigo) เป็นตัวแทนของ สันติสุข (Serenity)

สีม่วง (Violet) เป็นตัวแทนของ จิตวิญญาณ (Spirit)

หลังจากนั้น ในปี 2522 ธงสีรุ้งก็เหลือเพียง 6 สี ตามที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดย สีชมพูแบบฮอตพิงก์ถูกตัดออก เพราะผ้าสีนี้หายากและมีราคาสูง ขณะที่สีน้ำเงินครามถูกปรับมาเป็นสีน้ำเงิน และสีเทอร์ควอยส์ถูกตัดออก เพื่อให้สามารถใช้ประดับสิ่งต่าง ๆ เช่น เสาไฟตามถนนได้อย่างสมดุล

ทำไม Pride Month ต้องโบก \"ธงสีรุ้ง\" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

  • ธงสีอื่นๆ ในฐานะตัวแทนแต่ละกลุ่มเพศวิถี

นอกจาก “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “LGBTQIA+” ที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว ในแต่กลุ่มเพศวิถีนั้นก็มีธงสัญลักษณ์เป็นของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งมีสีสันและความหมายที่แตกต่างกันออกไป

เช่น ธงเลสเบี้ยน (Lesbian Flag) ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 2561 โดย “เอมิลี เกว็น” (Emily Gwen) บล็อกเกอร์ชื่อดัง มีด้วยกัน 7 สี คือ สีส้มเข้ม (Dark Orange) เป็นตัวแทนของความไม่สอดคล้องทางเพศ, สีส้ม (Orange) เป็นตัวแทนของความเป็นอิสระ, สีส้มอ่อน (Light orange) เป็นตัวแทนของชุมชน, สีขาว (White) เป็นตัวแทนของความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิง, สีชมพู (Pink) เป็นตัวแทนของความสงบและความสงบสุข, สีชมพูเทา (Dusty Pink) เป็นตัวแทนของความรักและเพศ, สีดอกกุหลาบเข้ม (Dark Rose) เป็นตัวแทนของความเป็นผู้หญิง

โดยหลังจากนั้นไม่นาน เกว็นออกแบบธงเลสเบี้ยนเวอร์ชัน 5 แถบสีขึ้นมาด้วย โดยตัดสีส้มเข้มและสีดอกกุหลาบเข้มออก

ส่วน ธงไบเซ็กซวล (Bisexual Flag) ซึ่งมี “ไมเคิล เพจ” (Michael Page) นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ เป็นผู้ออกแบบธงไบเซ็กซวล (Bisexual Flag) ขึ้นมา เพื่อต้องการสร้างความตระหนักและเน้นย้ำว่ากลุ่มไบเซ็กซวลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้การซ้อนทับกันของสีที่มักถูกใช้แทนเพศ

สีชมพู ที่ถูกมองว่าเป็นสีของเพศหญิง และยังเป็นตัวแทนของการดึงดูดเพศเดียวกัน, สีน้ำเงิน ที่ถูกมองเป็นสีของเพศชาย และยังเป็นตัวแทนของการดึงดูดคนต่างเพศ เมื่อมาผสมกันก็จะได้เป็นสีลาเวนเดอร์ ที่อยู่ตรงกลางของทั้ง 2 สี แสดงถึงการดึงดูดทั้งสองเพศ

ธงนี้ถูกใช้ครั้งแรกในงานปาร์ตี้เฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีร้าน BiCafe เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2541 เป็นต้น

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “สีธง” ที่บทความ เปิดความหมาย "สีธง" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน "LGBTQIA+"

ทำไม Pride Month ต้องโบก \"ธงสีรุ้ง\" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

  •  ความหมายของ LGBTQIA+ ย่อมาจากเพศวิถีอะไร 

LGBTQIA+ เป็นตัวย่อของเพศวิถีต่าง ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มใช้มาตั้งแต่ในช่วงกลางยุค 80 โดยคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศและนักสิทธิมนุษยชนในสหรัฐเป็นผู้ริเริ่มใช้ ก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วโลก ในระยะแรกนั้นมีตัวย่อเพียง 4 ตัว คือ LGBT เมื่อมีเพศวิถีที่หลากหลายมากขึ้นจึงมีการเติมตัวอักษรต่าง ๆ และเครื่องหมายบวกเข้ามาภายหลัง

L ย่อมาจาก เลสเบี้ยน (Lesbian) หมายถึง เพศหญิงที่มีความสนใจในเพศหญิงด้วยกัน

G มาจาก เกย์ (Gay) หมายถึง เพศชายที่มีความสนใจในเพศชายด้วยกัน แต่ในความจริงแล้วในสังคมตะวันตก ผู้หญิงก็นิยมเรียกตัวเองว่าเป็นเกย์ได้เหมือนกัน

B คือ ไบเซ็กซวล (Bisexual) หมายถึง เป็นกลุ่มที่ชอบเพศได้ทั้ง 2 เพศ ไม่กำหนดตายตัวว่าจะชอบเฉพาะเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน

T นั้นมาจาก ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือ คนข้ามเพศ หมายถึง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีคนมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ทำให้ต้องมีใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ และการใช้ฮอร์โมนกระตุ้น เพื่อให้เป็นเพศนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทำไม Pride Month ต้องโบก \"ธงสีรุ้ง\" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

ต่อมาในปี 2559 GLAAD องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อปกป้องกลุ่มผู้มีความหลายทางเพศจากการนำเสนอของสื่อ ได้เพิ่มตัว Q เข้ามาในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความหลากหลายมากขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดคำจำกัดความของเพศวิถีที่เพิ่มขึ้น จนมีการเติม I และ A เข้ามาด้วย

I นั้นเป็นตัวย่อของ อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หรือ ภาวะเพศกำกวม หมายถึง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีทั้งโครโมโซม อวัยวะเพศ ของทั้งเพศชายและหญิง

A เป็นตัวย่อของ 3 คำ คำแรกคือ อะเซ็กซวล (Asexual) หมายถึง กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น หรืออาจรู้สึกเล็กน้อย ซึ่งต้องมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น

A ที่ 2 มาจาก อะโรแมนติก (Aromantic) หมายถึงกลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดความโรแมนติกกับผู้อื่น

A สุดท้ายมาจาก อะเจนเดอร์ (Agender) คือ กลุ่มคนที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าตนเองเป็นเพศใด ๆ

ทำไม Pride Month ต้องโบก \"ธงสีรุ้ง\" แต่ละสีหมายถึงอะไร ทำความเข้าใจ LGBTQIA+

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเพศวิถีนั้นมีมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ชุมชนของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงมีการเติมเครื่องหมายบวก (+) เข้าไปอยู่ในตัวย่อเสมอ เพื่อให้ครอบคลุมและเป็นสัญลักษณ์ว่าทุกคนที่มีเพศวิถีแตกต่างจากที่สังคมในสมัยก่อนเข้าใจ ล้วนอยู่ในชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งสิ้น

 

ทำความรู้จัก “LGBTQIA+” โดยละเอียดผ่านบทความ เปิดตัวย่อ “LGBTQIA+” คืออะไร มาจากไหน