มัดรวม ‘ความล้มเหลว’ ของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ

มัดรวม ‘ความล้มเหลว’ ของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ

เปิดลิสต์ “ความล้มเหลว” ของผู้บริหาร-มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ ผู้ก่อตั้ง “โซนี่” เคยผลิตหม้อหุงข้าวแต่หุงไม่สุก สตีฟ จ็อบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทที่สร้างมากับมือ ก่อนกลับมาสร้างตำนานให้ “Apple” ครองเบอร์หนึ่งโลกอย่างทุกวันนี้

Key Points:

  • ก่อนจะสำเร็จล้วนต้องผ่านความล้มเหลวมาก่อน 7 มหาเศรษฐีระดับโลกเหล่านี้ก็เช่นกัน
  • ใครจะไปคิดว่า “เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ” อย่าง “เจฟฟ์ เบซอส” จะเคยทำแพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือตำนานเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกอย่าง “โซนี่” ก็เคยทำหม้อหุงข้าวที่หุงข้าวไม่สุกมาแล้ว
  • ด้าน “เฟรเดอริก สมิธ” ผู้ก่อตั้ง “FedEx” เคยถูกมองว่า ไอเดียการส่งของข้ามคืนเป็นเรื่องไกลตัว-ไม่ยืดหยุ่น พ่อมดไอทีอย่าง “สตีฟ จ็อบส์” ก็เคยถูกไล่ออกจากบริษัทตัวเองมาแล้ว เพราะทำให้องค์กรขาดทุน-สินค้าไม่ทำเงิน แต่ทุกคนก็เรียนรู้ประสบการณ์ความล้มเหลว และนำข้อผิดพลาดมาพัฒนาจนประสบความสำเร็จได้

 

ปลายทางของความสำเร็จอาจดูสวยงาม จับตา โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ แต่ใครเลยจะรู้ว่า กว่าจะเดินทางมาถึงเส้นชัยได้ พวกเขาเหล่านี้ต้องผ่านอะไรมาก่อนบ้าง 

ในบทความนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมความล้มเหลวของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลก ที่ทุกวันนี้พวกเขามีทั้งชื่อเสียง เงินทอง ผลงานเป็นที่ประจักษ์-ได้รับการยอมรับจากผู้คนมากมาย

มัดรวม ‘ความล้มเหลว’ ของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ -เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทค้าปลีกออนไลน์ Amazon-

  • เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos)

เบซอส เป็นมหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของโลก เคยรั้งแชมป์มั่งคั่ง-ร่ำรวยที่สุดในโลกมาแล้ว ไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าพ่อแห่งวงการอีคอมเมิร์ซคนนี้ แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จจากการสร้างร้านค้าปลีกออนไลน์-ผงาดขึ้นเป็นมหาเศรษฐีแสนล้านคนแรกของโลก เขาเคยทำแพลตฟอร์มขายของออนไลน์มาก่อนหน้านี้ แต่กลับล้มเหลว-ไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

‘zShops’ คือ แพลตฟอร์มที่เบซอสปลุกปั้นและตัดสินใจเปิดตัวในปี ค.ศ.1999 เขาตั้งใจไว้ว่า zShops จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ แม้ฟังดูแล้วแนวคิดนี้จะไม่ต่างจากแอมะซอนนัก แต่ผลปรากฏว่า zShops ไม่ประสบความสำเร็จ จนเบซอสเคยพูดติดตลกว่า คนที่รู้จักแพลตฟอร์มนี้มีอยู่ 3 คน คือ พ่อ แม่ และตัวเขาเอง

อย่างไรก็ตาม zShops ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานสำคัญของแอมะซอนในเวลาต่อมา โดยเบซอสหยิบบทเรียนความล้มเหลวจากแพลตฟอร์มในอดีตมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทำให้แอมะซอนผงาดขึ้นเป็น “Top of mind” ตัวกลางระหว่างสินค้า ผู้ซื้อ และผู้ขาย ดันเบซอสขึ้นแท่น “เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ” ที่ยังไม่มีใครโค่นลงได้

  • บิล เกตส์ (Bill Gates)

ก่อน บิล เกตส์ จะกลายเป็นมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลระดับโลก-หนึ่งในผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลนั้น เกตส์ได้เริ่มต้นสร้างธุรกิจที่ชื่อว่า “ทราฟ-โอ-ดาต้า” (Traf-O-Data) แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลการจราจรบนท้องถนน เพื่อนำข้อมูลส่งให้กับภาครัฐและวิศวกรการจราจร แต่สุดท้ายโปรเจกต์นี้ก็ล้มไม่เป็นท่า ขาดทุนไปหลักแสนบาท 

ทว่า ความล้มเหลวครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เกตส์ละทิ้งความมุ่งมั่นในเส้นทางสายเทคฯ แต่อย่างใด เขายังคงหลงใหลกับการเรียนรู้-คิดค้นโปรแกรมปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สุดท้าย เกตส์ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ช่วยกันเขียนโปรแกรมกับเพื่อนสนิท จนทำให้มีโอกาสก่อตั้ง “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ในเวลาต่อมา

  • เฟรเดอริก สมิธ (Frederic W. Smith)

นักธุรกิจที่ได้รับความเคารพนับถือในวงการอย่างกว้างขวาง เฟรเดอริกทุ่มเททำงานจนทำให้ “เฟดเอ็กซ์” มีผลประกอบการสูงลิ่ว เขาได้รับเทียบเชิญนั่งเก้าอี้ประธานองค์กรธุรกิจระดับโลก และยังกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย โดยเฟรเดอริกมีอิทธิพลอย่างมากในวงการธุรกิจสหรัฐ

ในยุคที่ยังไม่มีคำว่า “ออนไลน์ชอปปิง” เกิดขึ้น การขนส่งข้ามประเทศมีข้อจำกัดมากมาย เฟรเดอริก คือ บุคคลที่ทลายกำแพงนั้นลง สร้างมาตรฐานการขนส่ง-โลจิสติกส์ไว้แบบที่ไม่เคยมีใครทำได้ ซึ่งหากเล่าย้อนกลับไปเรื่องนี้ก็ดูจะเป็นตลกร้ายสักหน่อย เพราะแผนธุรกิจที่เรียกว่าเป็น “พิมพ์เขียว” ของเฟดเอ็กซ์ในเวลาต่อมา กลับถูกอาจารย์ในชั้นเรียนปัดตก เพียงเพราะมองว่า สิ่งที่เฟรเดอริกเสนอไม่มีความเป็นไปได้

มัดรวม ‘ความล้มเหลว’ ของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ -เฟรเดอริก สมิธ ผู้ก่อตั้ง FedEx-

ขณะที่เฟรเดอริกเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) เขานำเสนอแนวคิดธุรกิจในชั้นเรียนการจัดการธุรกิจ ว่าด้วยเรื่องบริการจัดส่งพัสดุที่สามารถขนส่งแบบข้ามคืนได้ ปรากฏว่า เขาได้เกรดซีในวิชานั้น โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่า แผนธุรกิจของเฟรเดอริกไม่ยืดหยุ่น เกิดขึ้นจริงได้ยาก

ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้สนใจผลการเรียน และยังคงนำแผนธุรกิจดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็น “เฟดเอ็กซ์” บริการส่งด่วนที่ใช้ข้อมูลดาต้าเบสเป็นตัวขับเคลื่อน ในยุคที่ยังไม่มีธุรกิจขนส่งเจ้าใดนำองค์ความรู้เรื่องดาต้ามาใช้อย่างแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน

  • สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)

ก่อนที่จะกลับมาสร้างตำนาน-ปฏิวัติวงการเทคโนโลยี จนได้ชื่อว่า “พ่อมดไอที” สตีฟ จ็อบส์ เคยประสบวิบากกรรม ถูกบอร์ดบริหารบีบให้ออกจากบริษัทไปพักหนึ่ง แม้จ็อบส์จะเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐาน Apple มาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ด้วยช่วงวัยที่ยังไม่สุกงอม เขาจึงต้องการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนด้วยการว่าจ้างซีอีโอมากประสบการณ์มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารแทนตนเอง

ขณะนั้น สตีฟ จ็อบส์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมของ Apple ทั้งหมด แต่ไม่ได้มีอำนาจบริหารในมือ เน้นไปที่การลงมือทำ ขลุกอยู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลังบ้านมากกว่า กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนที่จ็อบส์เปิดตัว “Lisa” คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ล้ำสมัยและราคาสูงลิ่ว ผลคือยอดขายไม่ดีอย่างที่คิด เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จ็อบส์ และ จอห์น สกัลลีย์ (Kohn Sculley) ผู้บริหารในเวลานั้นไม่ลงรอยกัน

หลังจากนั้น จ็อบส์ก็เข็น “Mcintosh” ออกมาวางขายด้วยราคาที่ถูกกว่า Lisa แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จ็อบส์โดนหมายหัวจากบอร์ดบริหารว่า ใช้ทรัพยากรของบริษัทมากเกินไปแต่ไม่สามารถทำเงินได้ จนในที่สุดเขาก็ถูกบีบให้ออกจากบริษัท ซึ่งในช่วงเวลาที่ Apple ไร้เงา สตีฟ จ็อบส์ ก็ไม่ใช่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น Apple วิกฤติถึงขั้นเกือบล้มละลายด้วยซ้ำไป

ปี ค.ศ.1997 จ็อบส์กลับมาในฐานะผู้บริหาร มีทั้งอำนาจและไอเดียเต็มมือ หลังจากนั้นไม่นาน Apple ภายใต้การนำของจ็อบส์ก็กลายเป็น “Apple เปลี่ยนโลกลูกที่สาม” ปฏิวัติวงการเทคโนโลยีด้วยโทรศัพท์ไร้ปุ่มกด มีกล้อง และซอฟต์แวร์ครบครัน

มัดรวม ‘ความล้มเหลว’ ของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ -อากิโอะ โมริตะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Sony: เครดิตรูปจาก Financial Times-

  • อากิโอะ โมริตะ (Akio Morita)

นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “โซนี่” (Sony) เครื่องใช้ไฟฟ้าแดนอาทิตย์อุทัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โมริตะมีความหลงใหลในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เขาฝันอยากสร้างเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง โดยจุดเริ่มต้นของโซนี่ไม่ใช่โทรทัศน์ ชุดลำโพงสเตอริโอ หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่เป็น “หม้อหุงข้าว” 

โมริตะมีไอเดียผลิตหม้อหุงข้าวเป็นสินค้าแรกของแบรนด์ แต่หม้อหุงข้าวล็อตแรกขายได้ไม่ถึง 100 ใบ เพราะหุงข้าวไม่สุก ซึ่งความล้มเหลวครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เขายอมแพ้ โมริตะหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นแทน ได้แก่ เครื่องเล่นเทป เขาทำเครื่องเล่นเทปสำเร็จแต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนส่วนใหญ่มองไม่เห็นถึงประโยชน์ของสินค้า

โมริตะใช้วิธีขอเข้าไปสาธิตเครื่องเล่นเทปในสถานที่ต่างๆ ที่เขามองว่า สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องเล่นเทปได้ ทั้งศาล ร้านค้า รวมถึงคนที่ต้องการฝึกอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษเพื่อการค้า หลังจากนั้นเครื่องเล่นเทปได้รับความนิยม-ขายดีขึ้น โมริตะบินไปต่างประเทศเพื่อดูงานกลับมาพัฒนาต่อ นำไปสู่ต้นกำเนิดของ “โซนี่คอร์ปอเรชั่น” ในเวลาต่อมา

  • ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส (Harland David Sanders)

ไม่มีใครไม่รู้จักไก่ทอด “เคเอฟซี” (KFC) แฟรนไชส์ไก่ทอดที่โด่งดังและมีสาขาทั่วทุกมุมโลก มีสูตรเด็ดทั้งเครื่องเทศที่คลุกเคล้าในเนื้อไก่ รวมกับแป้งทอดกรอบที่เคลือบอยู่ด้านนอก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ยังครองใจนักกินได้อยู่หมัด

กว่า 20,000 สาขาทั่วโลก ความสำเร็จที่ไม่ต้องสาธยายให้มากความก็เป็นที่ประจักษ์ตรงกัน แต่ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีชื่อเคเอฟซี ไก่ทอดสูตรผู้พันแซนเดอร์สถูกปฏิเสธจากร้านอาหารนับพันครั้ง

ตอนนั้น ผู้พันแซนเดอร์สคิดค้นสูตรไก่ทอดขึ้นมาจนสามารถเปิดร้านขายไก่ทอดสาขาแรกได้สำเร็จ แต่โชคชะตาก็ดูจะเล่นตลกกับเขาไปเสียหน่อย เพราะมีการทำถนนตัดผ่านบริเวณร้านไก่ทอดพอดี ลูกค้าหายไปพร้อมร้านขายไก่

ตอนนั้นแซนเดอร์สอายุ 65 ปีแล้วแต่เขาก็ยังไม่หมดหวัง ตัดสินใจเร่ขายสูตรไก่ทอดให้ร้านค้าอื่นๆ หวังต่อยอดเป็นร้านแฟรนไชส์ในอนาคตกว่าพันครั้ง จนในที่สุดก็มีร้านอาหารสนใจซื้อสูตรของแซนเดอร์สไปขาย เป็นจุดเริ่มต้นของไก่ทอดเคเอฟซีที่ไม่มีใครปฏิเสธความอร่อยได้ลง

มัดรวม ‘ความล้มเหลว’ ของ 7 มหาเศรษฐีระดับโลกก่อนประสบความสำเร็จ -อาเรียนนา ฮัฟฟิงตัน ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Huffington Post-

  • อาเรียนนา ฮัฟฟิงตัน (Arianna Huffington)

เธอคือนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในสหรัฐ มีชื่อเสียงจากการปลุกปั้นสำนักข่าวออนไลน์ “ฮัฟฟิงตัน โพสต์” (Huffington Post) ที่แม้ว่าในเวลาต่อมา อาเรียนนาจะตัดสินใจขายให้กับ “AOL” บริษัทสื่อรายหนึ่ง ด้วยมูลค่าราว 11,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น ฮัฟฟิงตัน โพสต์ อาเรียนนาเคยถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธต้นฉบับไปเกือบ 40 ครั้ง จนแทบจะไม่เหลือเงินต่อชีวิตอีกแล้ว

อาเรียนนายึดอาชีพนักเขียนมาโดยตลอด และแน่นอนว่า นักเขียนจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อต้นฉบับถูกตีพิมพ์ ณ ตอนนั้นเธอเริ่มไม่มีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่าย ทำสินเชื่อกับธนาคารก็ไม่ผ่านเพราะแบงก์มองว่าไม่มีกำลังส่งเงิน จนเธอต้องขอร้องอ้อนวอนพนักงานแบงก์คนหนึ่ง และสามารถทำเรื่องกู้ผ่านในที่สุด

ต่อมาเมื่อเขียนต้นฉบับหนังสือจนจบ เธอตระเวนขายให้กับสำนักพิมพ์เกือบ 40 ครั้ง จนได้รับการตีพิมพ์ในครั้งที่ 38 ผลงานของเธอถูกตีพิมพ์และวางขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์แอมะซอน แต่อาเรียนนาไม่หยุดแค่นั้น เมื่อเห็นโอกาสที่โลกออนไลน์กำลังมา เธอเปิดบล็อกเว็บไซต์เขียนข่าว และพัฒนาสู่เว็บไซต์ข่าว ฮัฟฟิงตัน โพสต์ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ.2005

กระทั่งปี ค.ศ.2016 เธอตัดสินใจลงจากตำแหน่งผู้บริหาร เริ่มต้นเปิดเว็บไซต์นำเสนอคอนเทนต์ด้านสุขภาพและวัฒนธรรมการทำงานที่มีชื่อว่า “Thrive Global” แทน

 

อ้างอิง: American ExpressBusinessMoney BuffaloStartup MagazineStrategy Blocks