รีบจด! เปิดวิธี "สัมภาษณ์งาน" สุดปัง ด้วยการสร้างความประทับใจใน 17 วินาที

รีบจด! เปิดวิธี "สัมภาษณ์งาน" สุดปัง ด้วยการสร้างความประทับใจใน 17 วินาที

ใครกำลังจะสัมภาษณ์งานใหม่ ต้องรู้! "ความประทับใจแรกพบ" ในการ"สัมภาษณ์งาน"เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 17 วินาทีแรกเท่านั้น

Key Points: 

  • ความเป็นจริงในโลกของการ "สัมภาษณ์งาน" มันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่ม (It starts before it starts.) หมายถึง แม้จะยังไม่เริ่มสัมภาษณ์จริง แต่ระหว่างนั่งรอเรียกคิว คุณอาจถูกจับตามองเกี่ยวกับบุคลิกภาพ การแต่งกาย ท่าทางต่างๆ และการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ก่อนหน้านั้น
  • รู้หรือไม่? การสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ในการ "สัมภาษณ์งาน" เป็นสิ่งสำคัญ และมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้คุณได้งานหรือไม่ได้งาน
  • Amy Cuddy นักจิตวิทยาสังคมแห่ง Harvard Business School ระบุว่า ความประทับใจแรกพบมักจะเกิดขึ้นภายใน 17 วินาทีแรกของการพบใครสักคน 

หนุ่มสาว First Jobber ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน หรือบางคนอาจกำลังจะเปลี่ยนงานใหม่ อาจมองข้ามจุดเล็กๆ น้อยๆ ของการ “สัมภาษณ์งาน” ไป เพราะส่วนใหญ่มักเตรียมเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับบริษัทหรือตำแหน่งงานที่เราสมัคร แต่กลับไม่ได้เตรียมตัวในมุมอื่นๆ ให้ดีพอ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวทำเอา “วัยทำงาน” ตกม้าตายมาแล้วหลายคน

ข้อมูลจาก Stanford Graduate School of Business ในคลาสการบรรยายหัวข้อ “How to Make the Best First Impressions” ในบริบทของการสัมภาษณ์งานหรือการพูดคุยทางธุรกิจ ได้อธิบายถึงความสำคัญของ “ความประทับใจแรกพบ” ไว้ว่า

การสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ในการสัมภาษณ์งานเป็นสิ่งสำคัญ และมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้คุณได้งานหรือไม่ได้งานนี้ไป บางครั้งผู้คนมักพูดว่าอย่าตัดสินคนจากภายนอก แต่จริงๆ แล้วคนเรายังทำแบบนั้นกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในบริบทของการสัมภาษณ์งาน

 

  • ความประทับใจแรกพบ เกิดขึ้นได้ภายใน 17 วินาที

จากงานวิจัยของ Amy Cuddy นักจิตวิทยาสังคมแห่ง Harvard Business School ระบุว่า ความประทับใจแรกพบมักจะเกิดขึ้นภายใน 17 วินาทีแรกของการพบใครสักคน และจากนั้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นในช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กันสูงเท่านั้น โดย 80% ของความประทับใจแรกพบนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ลักษณะคือ 

1. ความแข็งแกร่ง : เราจะตัดสินคนตรงหน้าว่า คนๆ นี้มีความสามารถและมีความรอบรู้มากแค่ไหน 

2. ความเชื่อใจ : เราเชื่อใจหรือไว้ใจคนๆ นี้ได้หรือไม่ 

ความเป็นจริงในโลกของการสัมภาษณ์งานก็คือ มันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่ม (It starts before it starts.) หมายถึง แม้จะยังไม่เริ่มสัมภาษณ์จริง แต่ระหว่างนั่งรอเรียกคิว คุณอาจถูกจับตามองเกี่ยวกับบุคลิกภาพ การแต่งกาย ท่าทางต่างๆ และการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ก่อนหน้านั้นไปก่อนแล้ว

ดังนั้น แม้ว่าการเตรียมตัวหาข้อมูลบริษัทก่อนการสัมภาษณ์เป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่ถ้ามัวแต่เตรียมข้อมูล แล้วไม่ได้เตรียมการทักทายแรกพบกับผู้สัมภาษณ์ ก็อาจทำให้งานนี้หลุดมือไปเช่นกัน วัยทำงานจึงควรเรียนรู้และอัปเดตตัวเองเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ ในการสัมภาษณ์งานอยู่เสมอ เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมและเข้าสัมภาษณ์งานให้ประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุด

 

  • ตัวอย่างบทพูดคุยสั้นๆ ก่อนเริ่ม "สัมภาษณ์งาน" ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งส่งผลให้เกิดความประทับใจหรือไม่ประทับใจ

ทีมบรรยายจาก Stanford Graduate School of Business ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์จำลองให้ดูว่าการสัมภาษณ์งานใน 2 รูปแบบดังต่อไปนี้ ลองอ่านแล้วคิดตามว่า แบบไหนน่าจะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน?

  • รูปแบบที่ 1

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : (นั่งรอเงียบๆ ในห้องพักคอย)

เจ้าหน้าที่ HR : สวัสดีค่ะเบร็ท (เปิดประตูเข้ามาเรียก)

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : สวัสดีครับแทมมี คุณเป็นอย่างไรบ้าง? (ลุกขึ้นยืนเพื่อกล่าวทักทาย)

เจ้าหน้าที่ HR : สบายดีค่ะ แล้วคุณล่ะสบายดีไหม?

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ผมสบายดีครับ เมืองนี้อากาศดีมากเลย มันเป็นแบบนี้ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเหรอครับ? 

เจ้าหน้าที่ HR : ใช่แล้วค่ะ นี่เป็นครั้งแรกที่คุณมาเมืองนี้เหรอคะ?

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ใช่ครับ ผมเดินทางมาจากมิดเวสต์ ซึ่งตอนนี้ที่นั่นหิมะตกแล้ว (นั่งลงแล้วยกขาไขว้ห้าง เอนหลัง)

เจ้าหน้าที่ HR : เข้าใจแล้วค่ะ ยินดีต้อนรับอีกครั้ง ฉันกำลังดูเรซูเม่ของคุณ...... 

 

  • รูปแบบที่ 2

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : (ยืนรอในห้องพักคอย)

เจ้าหน้าที่ HR : สวัสดีค่ะเบร็ท (เปิดประตูเข้ามาเรียก)

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : สวัสดีครับแทมมี ผมตื่นเต้นมากที่จะได้สัมภาษณ์งานกับคุณในวันนี้ (ปรับอิริยาบทมากล่าวทักทายได้อย่างไหลลื่น)

เจ้าหน้าที่ HR : ยินดีต้อนรับสู่บริษัทของเราค่ะ

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ผมสังเกตเห็นใน LinkedIn ของคุณ ผมพบว่าเรามีความเกี่ยวข้องกัน คุณรู้จัก อาร์เจ มิลเลอร์ ใช่ไหมครับ? (นั่งโดยขาวางลงปกติ หลังตรง)

เจ้าหน้าที่ HR : โอ้.. ใช่แล้วค่ะ เราเข้าคลาสอบรมเชิงคณิตศาสตร์ GSP ด้วยกันน่ะค่ะ

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : เขาเป็นเพื่อนบ้านผมเองครับ คุณมีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับเขาในคลาสนั้นไหมครับ

เจ้าหน้าที่ HR : มีแน่นอนค่ะ เราคุยเรื่องนี้กันก่อนสักนิดนะคะ 

จะเห็นว่าสถานการณ์ในรูปแบบที่ 2 เป็นบทสนทนาช่วงสั้นๆ ไม่กี่วินาที ที่ทำให้ “ผู้สัมภาษณ์” จดจำ “ผู้ถูกสัมภาษณ์” ได้ง่ายขึ้น ลดแรงกดดัน ลดความตึงเครียดในห้องสัมภาษณ์ และสามารถสร้างความประทับใจแรกพบได้ดีกว่าสถานการณ์ในรูปแบบที่ 1 

 

  • เปิดเทคนิคสร้างความประทับใจแรกพบในการ "สัมภาษณ์งาน​" ที่นำไปปรับใช้ได้จริง

1. เช็กโปรไฟล์ปัจจุบันของคุณบนโลกออนไลน์ : มีความเป็นไปได้สูงว่าบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็น "ผู้สัมภาษณ์" จะตรวจสอบโปรไฟล์ออนไลน์ของลูกจ้างคนดังกล่าว ก่อนจะเรียกเข้ามาสัมภาษณ์แบบเจอกันตัวต่อตัว เช่น การดูรูปโปรไฟล์ และเช็กข้อมูลคร่าวๆ บนเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม ของคนๆ นั้น หากคุณกำลังจะไปสัมภาษณ์งาน ลองใช้เวลาสักนิดในการปรับเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ให้เป็นรูปภาพที่เป็นทางการมากขึ้น

2. แต่งกายให้เหมาะสม : เมื่อต้องเดินทางไปสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัว ควรแต่งกายให้เหมาะสม ควรสวมสูทหรือเสื้อคลุมเบลเซอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวคุณเอง รวมถึงแสดงถึงความเป็นทางการ และการให้เกียรติฝ่ายตรงข้ามด้วย

3. ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือและเก็บใส่กระเป๋า : เมื่อถึงที่หมายที่นัดพบแล้ว ควรเก็บมือถือใส่กระเป๋าให้เรียบร้อย ไม่ควรหยิบมือถือขึ้นมาเล่นหรือคุยระหว่างรอเรียกสัมภาษณ์ เพราะหากผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณใช้มือถืออยู่ จะแสดงว่าคุณไม่มีใจจดจ่อกับการสัมภาษณ์งานครั้งนี้ หรือคุณยังไม่พร้อม ดังนั้นจึงควรมีสมาธิกับช่วงเวลานี้ให้มากที่สุด

4. การยืนรอแทนที่จะนั่งรอ : ขณะที่อยู่ในห้องพักคอย เพื่อรอคิวสัมภาษณ์งาน ช่วงเวลานี้คุณสามารถสร้างความแตกต่างโดดเด่นได้ เช่น การยืนรอแทนที่จะนั่งรอ การยืนจะช่วยให้คุณมีพลังงานมากขึ้น และมันดีกว่าการนั่งงัวเงียอยู่บนโซฟาอย่างมาก ดังนั้น ลองเปลี่ยนเป็นการยืนมองชมวิวนอกหน้าต่าง หรือเดินไปดูรูปศิลปะบนผนังห้อง หรือยืนอ่านนิตยสารที่มีไว้บริการในห้อง ฯลฯ เหล่านี้ช่วยให้ร่างกายพร้อมมากขึ้น

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดประตูห้องมาเรียกคุณ หากคุณยืนอยู่ก็จะสามารถเปลี่ยนอิริยาบทมาทักทายพวกเขาได้อย่างไหลลื่นมากขึ้น อีกทั้งคุณจะดูโดดเด่นในฐานะที่เท่าเทียมกัน แทนที่จะนั่งอยู่แล้วผุดลุกขึ้นยืนเมื่อถูกเรียกชื่อ ซึ่งแบบนั้นจะดูเหมือนคุณอยู่ระดับต่ำกว่า 

5. เปิดบทสนทนาเล็กๆ ก่อนการสัมภาษณ์จริง : ควรเริ่มพูดทักทายคนอื่นๆ ในห้องพักคอย สิ่งนี้จะช่วยยืดเส้นเสียงของคุณให้พร้อมใช้งาน เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์จริง คุณจะสามารถเปล่งเสียงพูดคุยได้ชัดเจนและก้องกังวาลยิ่งขึ้น อีกทั้งห้องพักคอยบางแห่งอาจติดกล้องไว้ เพื่อดูปฏิกิริยาของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ทุกคน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าดูกล้องจะเห็นว่าคุณทักทายคนอื่นๆ แสดงถึงความเป็นมิตรและเหมาะกับวัฒนธรรมของบริษัท

6. การพบปะและทักทายผู้อื่นเพื่อสร้างความประทับใจ : เวลาไปสัมภาษณ์งานที่ใดๆ ก็ตาม เราไม่สามารถจะมีพลังพร้อมลุยได้ในทันที ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งความคิดและจิตใจ เพื่อมุ่งสู่การสร้างความประทับใจแรกพบอาจต้องฝึกอย่างจริงจัง โดยลองนึกถึงสิ่งที่คุณต้องการจะทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง แสดงถึงความกระตือรือร้น และแสดงว่าคุณเป็นคนที่ถูกอบรมสั่งสอนมาอย่างดี จากนั้นให้ทักทายผู้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีที่เปิดเผย จับมือแน่นๆ และสบตาโดยตรง 

7. ควรพูดคุยกับผู้สัมภาษณ์อย่างมีส่วนร่วม : ระหว่างการสัมภาษณ์คุณควรพูดคุยอย่างมีส่วนร่วม ต้องมีการทำการบ้านเกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์ของคุณด้วย เช่น เขาหรือเธอทำงานตำแหน่งอะไรในบริษัทนี้ จบจากที่ไหน งานอดิเรกของเขาหรือเธอคืออะไร ฯลฯ ดูว่าคุณมีสิ่งที่เหมือนกับผู้สัมภาษณ์หรือไม่? ถ้ามี ก็เลือกหัวข้อเหล่านั้นมาคุยแบ่งปันประสบการณ์กันและกัน

8. ท่าทางการนั่งสัมภาษณ์ต้องหมาะสม : ควรฝึกท่านั่งให้เหมาะสมสำหรับผู้ชายไม่ควรนั่งยกขาขึ้น ชันเข่า และเอนหลัง เพราะท่านั่งนี้แสดงถึงท่าทีที่สบายๆ เกินไป และยังแฝงด้วยความเย่อหยิ่งเล็กน้อย ดังนั้น ควรแก้ไขด้วยการเปลี่ยนมานั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ (ทำได้ทั้งชายและหญิง) แสดงความมั่นใจบนใบหน้า สิ่งสำคัญคือต้องสบตากับผู้สัมภาษณ์ของคุณเพื่อสร้างความไว้วางใจ แต่ถ้าคุณหลบตาหรือละสายตาจากผู้สัมภาษณ์ในขณะพูดคุย พวกเขาอาจคิดว่าคุณไม่จริงใจ

นอกจากนี้ควรสร้างพลังงานบวกภายในห้องสัมภาษณ์ ควรฝึกตัวเองก่อนจะลงสนามจริง โดยคุณอาจจะพบว่าผู้สัมภาษณ์มีอาการเหนื่อยล้า พลังงานต่ำ (เพราะสัมภาษณ์มาหลายคนแล้ว) พยายามอย่าร่าเริงเกินไป ให้ปรับพลังงานของคุณลงมาให้ตรงกับระดับของผู้สัมภาษณ์ เพื่อให้เขาหรือเธอรู้สึกสบายใจกับท่าทีของคุณ และทำงานต่อได้โดยไม่เคอะเขิน และช่วยให้การสัมภาษณ์งานผ่านไปได้ด้วยดี

------------------------------------------

อ้างอิง : Stanford Graduate School of BusinessHarvard Business School