สอนเด็กเรื่องเงิน เปิด 4 หัวใจหลัก 'หา-เก็บ-ใช้-ให้' เสริมทักษะทางการเงิน

สอนเด็กเรื่องเงิน เปิด 4 หัวใจหลัก 'หา-เก็บ-ใช้-ให้' เสริมทักษะทางการเงิน

เรื่องเงิน ก็สอนเด็กได้ เปิด 4 หัวใจหลัก “หา-เก็บ-ใช้-ให้” ส่งเสริมทักษะทางการเงิน ยิ่งรู้เร็วยิ่งดีกับชีวิต พร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่คาดฝัน

Key Points:

  • คนเจน Z ของไทย มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน จึงมีความจำเป็นต้องให้ความรู้ตั้งแต่เด็กอายุ 7-12 ปี
  • “หัวใจหลักทางการเงิน” มีกระบวนการตัดสินใจอยู่ 4 ขั้นตอนอยู่เช่นเดิม คือ หาเงิน (earn) เก็บเงิน (save) ใช้เงิน (spend) และ บริจาค (donate) 
  • “การออมเงิน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตบ้าง ดังนั้นเราจึงควรจะต้องมี “เงินเก็บสำรอง” ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

 

ทักษะทางการเงิน” เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ในปัจจุบัน สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพทางการเงินที่ดีได้ โดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ได้ให้คำนิยามของ “ทักษะทางการเงิน” ไว้ว่า เป็นการตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ทัศนคติ และพฤติกรรม ในลักษณะที่มีผลให้บุคคลเกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดี

  • เด็กอายุ 7-12 ปี ต้องเรียนรู้ “ทักษะทางการเงิน” 

จากผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ประจำปี 2563 จัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยมีทักษะทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกด้านเมื่อเทียบกับปี 2561 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทั้งด้านความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติ 

แต่ที่น่ากังวล คือ คนเจน Z มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน เมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่น ๆ  ทั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่และกำลังเป็นวัยที่พึ่งเริ่มหารายได้ จึงทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ปลูกฝังเรื่องทักษะทางการเงินและบรรจุเข้าไปใช้ในวิชาเรียนของเด็กประถมศึกษา

อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินนั้นเราสามารถส่งเสริมและปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็ก จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “ชะ-ชิ้ง” (Cha-Ching) โดยมูลนิธิพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน ที่เปิดสอนบเด็กตั้งแต่อายุ 7-12 ปี เพื่อเรียนรู้ “ทักษะทางการเงิน” โดยเหตุที่เลือกวัยนี้เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เรียนรู้และเข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องราวต่าง ๆ ได้แล้ว เมื่อเรียนรู้ครั้งหนึ่ง จะจำไปได้ตลอดชีวิต อีกทั้งเรื่องเงินยิ่งเข้าใจเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากเท่านั้น

  • หัวใจหลักสำคัญของ “การเงิน”

มาร์ค แฟนซี ผู้อำนวยการบริหาร พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน เผยถึงหัวใจสำคัญของการสอนเด็กเรื่องเงินว่า แม้พฤติกรรมการใช้เงินของคนในปัจจุบันจะต่างไปจากเมื่อก่อนโดยเฉพาะเมื่อโลกของเราก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด”  แต่ “หัวใจหลักทางการเงิน” ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีกระบวนการตัดสินใจอยู่ 4 ขั้นตอนอยู่เช่นเดิม คือ หาเงิน (earn) เก็บเงิน (save) ใช้เงิน (spend) และ บริจาค (donate) 

กระบวนการทั้งหมดเริ่มจากการ “หาเงิน” ก่อน เมื่อเรามีรายได้แล้วก็อยู่ที่เราตัดสินใจว่าจะนำเงินที่หาได้ไปใช้ทำอะไร จะนำไปเก็บออมไว้ หรือจะไปนำไปใช้ซื้อสินค้า ส่วนการบริจาคถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ อันที่จริงการบริจาคไม่ต้องใช้เพียงแต่เงินเท่านั้น สามารถใช้เวลา ความรัก หรือของที่ไม่ใช้แล้วแทนก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การบริจาค

ทั้ง 4 กระบวนการตัดสินใจทางการเงินนั้นเป็นเรื่องสากล ไม่ว่าจะอยู่ที่ในมุมโลกก็ใช้เหมือนกัน และสามารถใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย

นอกจากนี้ แฟนซีชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่เกิดขึ้นมานั่นคือ การลงทุน (invest) ซึ่งเป็นวิธีนำเงินเก็บสะสมไปสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการออม ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อพันธบัตร หรือแม้กระทั่งลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซีที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

สอนเด็กเรื่องเงิน เปิด 4 หัวใจหลัก \'หา-เก็บ-ใช้-ให้\' เสริมทักษะทางการเงิน มาร์ค แฟนซี ผู้อำนวยการบริหาร พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน

 

  • “การออมเงิน” เป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับมุมมองของแฟนซีแล้ว เขากล่าวว่าพ่อแม่ควรสอนให้เด็ก ๆ ได้รู้จัก “การออมเงิน” มากที่สุด เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตบ้าง ดังนั้นเราจึงควรจะต้องมี “เงินเก็บสำรอง” ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อย่างเช่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จู่ ๆ ก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่มีใครคิดว่าจะส่งผลกระทบกับสถานภาพทางการเงินมากขนาดนี้ หลายคนถูกเลิกจ้าง เงินเดือนลดลง ซึ่งคนส่วนมากไม่มีเงินเก็บสำรองเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในระยะยาว

“เราได้เงินมากจำนวนมาก แต่เราก็ใช้เงินไปมากเช่นกัน เราจึงไม่มีเงินเก็บเลย” 

จากงานวิจัยหลายชิ้น ระบุว่า คนส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้วางแผนการเงินเอาไว้ หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเก็บเงินไว้อย่างน้อยเท่าไหร่ ถึงจะพอสำหรับการใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายของชีวิต ยิ่งในปัจจุบันที่มนุษย์มีชีวิตยืนยาวยิ่งขึ้น แต่ระยะเวลาการทำงานของเรายังเท่าเดิม 

ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็ก แต่ว่าเราสามารถบอกเขาให้รู้ก่อนได้ ว่าการเก็บเงินมีความสำคัญอย่างไร เพราะเราไม่สามารถจะพึ่งพาแต่สวัสดิการของรัฐ เงินบำนาญ หรือประกันสังคมได้เพียงอย่างเดียว อันที่แล้วการวางแผนทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องแค่เฉพาะเด็กเท่านั้น

พ่อแม่มักนิยมสร้างแรงจูงใจกับลูกด้วยการให้รางวัล เมื่อลูกทำตัวดี โดยส่วนมากมักจะใช้โอกาสนี้มอบเงินแก่บุตรหลาน ซึ่งแฟนซีเห็นว่าการให้รางวัลเป็นเรื่องที่ดี เราสามารถให้ความรู้ทางการเงินกับเด็ก ๆ ได้ 

สำหรับโครงการ “ชะ-ชิ้ง” ดำเนินการโดย พรูเด็นเชียล ประเทศไทย และ พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน ร่วมมือกับ มูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังพฤติกรรม ความรู้ และค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับการบริหารเงินในเยาวชน ผ่านสื่อการ์ตูนแอนิเมชันประกอบเพลงที่ดูง่าย เข้าใจได้ง่าย 

ในปัจจุบันสื่อของโครงการถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนใน 15 ประเทศ เข้าถึงเยาวชนกว่า 1.2 ล้านคนในเอเชียและแอฟริกา โดยตั้งเป้าหมายให้เยาวชน 6 ล้านคนได้เรียนรู้หลักสูตรนี้ภายในปี 2568