'ฟ้องชู้' คืออะไร? เปิดข้อกฎหมายครอบครัวที่ควรรู้ จัดหนักมือที่ 3
จากกรณี “หนุ่ม กะลา” สู่ข้อกฎหมายที่ควรรู้ เมื่อภรรยา “จูน เพ็ญชุลี” เดินหน้า “ฟ้องชู้” กับหญิงมือที่ 3 ชวนหาคำตอบว่าผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้เท่าไร ต้องใช้หลักฐานอะไร และมีอายุความกี่ปี?
เรื่องบานปลายไม่หยุด สำหรับกรณีข่าวคราวการเลิกราของศิลปินนักร้องชื่อดัง “หนุ่ม กะลา” และภรรยา “จูน เพ็ญชุลี” ที่คบหากันมาตั้งแต่ ม.4 ก่อนยุติเส้นทางรัก 27 ปี เพราะฝ่ายชายมีมือที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง จนนำมาซึ่งการ “ฟ้องชู้”
เรื่องนี้เป็นกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลมาหลายวัน ล่าสุด.. ฝ่ายภรรยาผู้เสียหาย “จูน เพ็ญชุลี” ได้ออกมาเปิดใจผ่านรายการโหนกระแสว่า ยืนยันเดินหน้าฟ้องร้องฝ่ายหญิงที่เป็นมือที่ 3 โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน 10 ล้านบาท ขณะที่ “หนุ่ม กะลา” ได้โฟนอินเข้ามาในรายการพร้อมยืนยันว่า จะตัดความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3 แน่นอน
ด้านทนายความผู้ให้คำปรึกษา “จูน เพ็ญชุลี” ก็ชี้แจงในรายการด้วยว่า ได้รวบรวมหลักฐานมาได้ครบ มีพยานหลักฐานต่อเนื่อง และเป็นการกระทำหลายปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลักฐานล่าสุดก็คือระยะเวลายังไม่เกิน 1 ปี ถือว่าไม่ขาดอายุความ ส่วนการเรียกร้องค่าทดแทน 10 ล้านเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ทั้งนี้ฝ่ายผู้เสียหายไม่ได้ฟ้องเพราะอยากได้เงินเยอะๆ แต่เพราะต้องการออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้นำมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการ “ฟ้องชู้” ว่ามีรายละเอียดข้อกฎหมายอย่างไร? มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจ สรุปมาให้ทราบกันดังนี้
- ฟ้องชู้ vs ฟ้องหย่า ต่างกันอย่างไร?
เมื่อ “คู่สมรสตามกฎหมาย” เกิดกรณีบาดหมางกันด้วยปัญหามือที่ 3 หรือปัญหาอื่นใดก็แล้วแต่ที่ทำให้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาไม่ได้อีกต่อไป เมื่อพูดคุยไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ ก็มักจะมาจบตรงที่การ “ฟ้องหย่า” โดยการจะฟ้องหย่าได้นั้นต้องมีเหตุแห่งการฟ้องหย่า ที่เข้าข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ดังนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้, มีชู้, ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ จนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายได้รับความอับอายร้ายแรง, ได้รับความดูถูกเกลียดชัง, ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ, หมิ่นประมาท, เหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการี
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาเป็นเวลาเกินสามปี
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และยากจะหายได้ ถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันต่อไปไม่ได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและเป็นโรคเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล
ส่วนการ “ฟ้องชู้” นั้นจะเน้นไปที่กรณีคู่สมรสตามกฎหมายบาดหมางกันด้วยปัญหาการมีชู้ และผู้เสียหายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้หรือหญิงชู้นั้น โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ระบุไว้ว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้เช่นกัน
- "ฟ้องชู้" กรณีสามีฟ้องกับภริยาฟ้อง มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน
ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น หลักเกณฑ์การฟ้องชู้ในกรณีที่สามีฟ้องชายชู้ กับภริยาฟ้องหญิงชู้นั้น มีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ
1. ข้อกฎหมาย กรณีภริยาฟ้องชู้ : กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ว่า หญิงชู้นั้นจะต้องมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีของผู้เสียหาย เช่น มีพฤติการณ์เปิดตัวหรือแสดงตัวว่าตนเองเป็นคนรัก ให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ จึงจะฟ้องหญิงชู้นั้นได้
2. ข้อกฎหมาย กรณีสามีฟ้องชู้ : หากสามีฟ้องชายชู้ มีหลักเกณฑ์ว่าเพียงแค่มีชายอื่นมาล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่โดนนอกใจสามารถฟ้องหย่าและฟ้องชู้ได้ทั้งสองทาง ยกตัวอย่างเช่น หากฝ่ายภริยาโดนนอกใจ ก็จะสามารถเรียกค่าทดแทนจากทั้งสามีและภริยาน้อยได้ ทั้งนี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อภริยาตามกฎหมายต้องฟ้องหย่าสามี และศาลพิพากษาให้ภริยาหย่าขาดจากสามีก่อน
แต่ถ้าหากภริยาหย่ากับสามีด้วยความยินยอมโดยจดทะเบียนการหย่าแล้ว ภริยาจะฟ้องสามี(ที่นอกใจ) แล้วเรียกค่าทดแทนจากสามีไม่ได้
ส่วนกรณีที่หากภริยาไม่ฟ้องหย่าสามี ภริยามีสิทธิเพียงเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อยที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวเท่านั้น ภริยาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีไม่ได้
- การ “ฟ้องชู้” ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง? อายุความกี่ปี?
สำหรับพยานหลักฐานที่ต้องใช้ในการฟ้องชู้ หรือนำสืบประเด็นเรื่องการเป็นชู้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. หลักฐานเบื้องต้น หมายถึง หลักฐานทั่วไป ที่จะต้องใช้ประกอบการร่างฟ้อง และกำหนดเรื่องค่าทดแทนที่จะเรียกร้อง เช่น สำเนาใบสำคัญการสมรส, สำเนาบัตรประชาชนของผู้ฟ้องคดี, ทะเบียนบ้านของผู้ฟ้องคดี, สูติบัตร (เฉพาะในกรณีมีบุตรด้วยกัน), หลักฐานเกี่ยวกับอาชีพรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน, หลักฐานเกี่ยวกับการมีฐานะทางสังคม เช่น การดำรงตำแหน่งนักการเมือง การประกอบอาชีพดารา หรืออาชีพที่มีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก, หลักฐานเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน
2. หลักฐานเกี่ยวกับการเป็นชู้ หมายถึง พยานหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นว่า ชู้กับคู่สมรสมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกันจริง เช่น หลักฐานการสนทนากันระหว่างชู้กับคู่สมรส ผ่านแอปฯ ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก, หลักฐานรูปคู่ วีดีโอ ภาพถ่ายที่ได้จากการสืบชู้ ที่แสดงให้เห็นว่าตัวชู้กับคู่สมรส มีความสัมพันธ์กัน, หลักฐานการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ของคู่สมรสกับชู้ เช่น ใบเสร็จค่าที่พัก หลักฐานบันทึกการเดินทาง หลักฐานการเข้าพักโรงแรมต่างๆ, หลักฐานเกี่ยวกับการซื้อของให้กันระหว่างชู้กับคู่สมรส, หลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินให้กันระหว่างคู่สมรสกับชู้, หลักฐานภาพถ่ายของชู้ที่เป็นรูปเดี่ยว แต่อยู่ในสถานที่ของคู่สมรส, พยานบุคคลที่รู้เห็นการเป็นชู้
ส่วนอายุความของคดี “ฟ้องชู้” นั้น ตามกฎกมายระบุไว้ว่ามีอายุความ 1 ปี โดยนับจากวันที่ผู้เสียหายทราบถึงความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวนั้น
- การ “ฟ้องชู้” ผู้เสียหายเรียกค่าทดแทนได้มากแค่ไหน?
ถัดมาในส่วนของ “ค่าทดแทน” ผู้เสียหายควรจะเรียกเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ก็ได้ โดยมีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควร ทั้งนี้มีหลักพิจารณาในการกำหนดค่าทดแทน ได้แก่
- ฐานะทางสังคม อาชีพการงาน การศึกษาของทุกฝ่าย ทั้งคู่สมรสและตัวชู้ ซึ่งหากมีฐานะทางสังคมสูง การศึกษาสูง หน้าที่การงานดี ก็ย่อมมีค่าทดแทนสูงตามไปด้วย
- ระยะเวลาที่แต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน ยิ่งนานยิ่งมีค่าทดแทนสูง
- มีการจัดงานแต่งงานหรือไม่
- การมีบุตรร่วมกัน
- ลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัวก่อนเกิดเหตุการณ์มีชู้
- ความเปิดเผยในการเป็นชู้
- ระยะเวลาเป็นชู้
- ผู้เป็นชู้ รู้หรือไม่ว่ากำลังเป็นชู้
- ความสำนึกผิดหลังถูกจับได้ว่าคบชู้
- มีการฟ้องหย่า เพื่อเรียกทรัพย์สินจากอีกฝ่ายร่วมด้วยหรือไม่
ศาลจะพิจารณาจากองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น เพื่อกำหนดค่าทดแทนว่าการคบชู้นั้น ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อชื่อเสียง และครอบครัวมากน้อยแค่ไหน และหากดำเนินการฟ้องชู้ โดยไม่ประสงค์ฟ้องหย่า จะไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสที่คบชู้ได้ อย่างไรก็ตาม การฟ้องชู้ ถือเป็นคดีแพ่ง ต้องพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว โดยกระบวนพิจารณาจะเน้นการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความกัน มากกว่าการจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด
-------------------------------------------
อ้างอิง : กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานกฎหมายอุดมคดี, ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์, ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์2, ทนายนิธิพล