Soft Power ไทย อย่าหยุดแค่ 5F | โรจน์ คุณเอนก
ในกระแสโลกปัจจุบัน Soft Power มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ จาก J-Trend ของญี่ปุ่นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และปัจจุบัน Hallyu หรือ Korean Wave ของสาธารณรัฐเกาหลีได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล
สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา และดึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสาขาที่มีศักยภาพขึ้นมาเป็น Soft Power ของไทย เป็นวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fight) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่า 5F ของไทยจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570
การขานรับนโยบายดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากหลายหน่วยงาน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยกให้ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีแห่งอาหารไทย โปรโมทตลาด ถนนคนเดิน เทศกาลอาหาร โดยตั้งเป้าหมายให้มีผู้มาเยือน 250 ล้านคนครั้ง
กระทรวงวัฒนธรรมจัดโครงการ Thai Soft Power 5F ที่ในเบื้องต้นดึง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มาร่วมจัดทำมิวสิกวิดีโอที่ส่งเสริม 5F และอีกหลายโครงการ
แต่ 5F จะสำเร็จได้ด้วยการยกเอาวัฒนธรรมที่มีศักยภาพขึ้นมาเผยแพร่เท่านั้นหรือ?
หากวิเคราะห์ในส่วนของประเทศต่าง ๆ ที่เคยดำเนินการเรื่องของ Soft Power มาก่อน จะพบว่า เขาดำเนินการในหลายเรื่องไปพร้อม ๆ กัน เริ่มต้นจากการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นตัวตนของวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเป็นอันดับแรก
เพราะหากวัฒนธรรมดั้งเดิมสูญสลายไปแล้ว วัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนขึ้นมาใหม่ก็ไร้ราก ไร้คุณค่า และมิอาจหลีกเลี่ยงการสูญสลายไปในที่สุด เพราะไม่มีแก่น
ต่อมาคือ การวิเคราะห์ถึงรายละเอียดรสนิยมของลูกค้า เพราะการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมถ้าไม่ตรงใจลูกค้า ทุกสิ่งก็คงจบ ซึ่งหากหันกลับไปมองสาธารณรัฐเกาหลีเอง จะเห็นได้ว่าเขามีการวิเคราะห์วัฒนธรรมเกาหลีในคอนเทนต์ของวัฒนธรรมประเทศอื่น เพื่อพัฒนาเนื้อหาของหนัง ละคร และเพลง ให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ
ดังนั้น หากจะให้ 5F ได้ผลดีในเชิงปฏิบัติ ควรจะต้องมี 5A ด้วย ดังนี้
1. การให้รางวัล และการยกย่อง (Awards and Admiration) คนที่ทำงานในวงการวัฒนธรรมโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานด้วยใจรัก หลายท่านอาวุโส และงานที่ทำบางอย่างได้รับความนิยมน้อยในปัจจุบัน จนมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้นกำลังจะหมดลมหายใจไป
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้คนเหล่านี้มีกำลังทั้งแรงกาย และแรงใจ การยกย่องชื่นชมให้ปรากฏในสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ควรให้ความสำคัญกับงานในด้านนี้ เพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้กับมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นของแท้ในพื้นที่ของตน
2. การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า (Architecture Conservation) มรดกทางสถาปัตยกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุน 5F ในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่หากสามารถรักษาอาคารที่เป็นต้นกำเนิดของอาหาร หรือจัดให้มีเทศกาลอาหารในอาคารอันทรงคุณค่า
สิ่งเหล่านี้ย่อมได้รับความนิยมจากนานาชาติ หรือการถ่ายทำภาพยนตร์ที่หากไม่เหลือสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว การสร้างฉากภาพยนตร์คงต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกทั้งหมด
ซึ่งนอกจากจะขาดความสมจริงแล้ว ยังทำให้อรรถรสที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคลดลงด้วย ดังนั้นบรรดาสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สามารถต่อยอด Soft Power 5F ได้เป็นอย่างดี
3. การรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันแท้จริง (Authentic Culture Preservation) อันนี้ถือเป็นประเด็นหลักสำคัญ เพราะหากปราศจากวัฒนธรรมที่เป็นของแท้แล้ว บรรดาวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ปรับเปลี่ยนต่อยอดจากของแท้ก็หมดความหมาย การจัดทำของที่ระลึกเป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์
เช่น พวงกุญแจรูปหนุมาน ฯลฯ จะมีประโยชน์อะไร หากไม่เหลือการแสดงโขนตามกระบวนการดั้งเดิม และไม่สามารถบอกได้ว่าหนุมานจริง ๆ แล้วหน้าตา ลักษณะท่าทางเป็นเช่นไร
4. การสร้างสุนทรียชน (Aesthetic people Promotion) ซึ่งหมายถึงการสร้างค่านิยม และสร้างคนที่มีรสนิยมในการชื่นชมวัฒนธรรมไทย ส่วนนี้เป็นการสร้างกลุ่มของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสามารถอยู่รอดได้ และลูกหลานผู้สืบทอดจะมีกำลังใจในการทำงานเพราะเห็นถึงเส้นทางอาชีพที่มีอนาคตชัดเจน
5. การศึกษาวิจัยทางวิชาการ (Academic Research) เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นแง่มุมในการอนุรักษ์ หรือการต่อยอด ล้วนต้องการการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การเดินหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบตำแหน่งของตนเอง และทิศทางที่จะมุ่งไป ซึ่งการศึกษาวิจัยสามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี
การมุ่งส่งเสริม Soft Power 5F เป็นเรื่องที่ดี แต่การเผยแพร่ Soft Power ให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น อาจได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ขณะที่เรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต้องการการสืบทอดในระยะยาว
และที่สำคัญมากกว่าผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ คือ การเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ให้ได้เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม
ซึ่งการปล่อยปละละเลยไม่สนใจดูแลแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ได้แสดงผลให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วในปัจจุบันนี้ การส่งเสริม Soft Power 5F จึงต้องการ 5A ด้วย เพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมสามารถอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างยั่งยืนสืบไป.