‘พระสยามเทวาธิราช’ ความเชื่อที่ผูกโยงสถานการณ์การเมือง?

‘พระสยามเทวาธิราช’ ความเชื่อที่ผูกโยงสถานการณ์การเมือง?

“พระสยามเทวาธิราช” เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองที่คนไทยรู้จักกันดี โดยเฉพาะเมื่อบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เชื่อกันว่าต้องไปไหว้ขอพรท่านให้ช่วยขจัดเภทภัยในบ้านเมือง ชวนย้อนรอยตำนานเทวดาองค์นี้มาจากไหน ทำไมคนไทยให้ความเคารพนับถือ?

Keypoints:

  • “พระสยามเทวาธิราช” คือ เทพยดาศักดิ์สิทธิ์ที่อภิบาลรักษาประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตามความเชื่อส่วนพระองค์ที่มาจากสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนั้น
  • ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสถาปนาเทวรูปที่มีลักษณะเหมือนกับพระสยามเทวาธิราช ยกเว้นพระพักตร์ของเทวรูป ที่โปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็นพระพักตร์ของรัชกาลที่ 4
  • ไม่ใช่แค่เพียงราชสำนักเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างพระสยามเทวาธิราช แต่ตามประวัติศาสตร์เคยมีการสร้างโดยประชาชนมาแล้วหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ อีกด้วย

หนึ่งใน “สิ่งศักด์สิทธิ์” ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานและมีความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย รวมถึงมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจก็คือ “พระสยามเทวาธิราช” ซึ่งตามความเชื่อว่ากันว่าท่านเป็น “เทวดา” ที่คอยดูแลรักษาบ้านเมืองให้มีแต่ความสุขความเจริญ

พระสยามเทวาธิราชถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในลักษณะของเทวรูปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก่อนจะมีการสร้างขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโดยราชสำนักหรือเป็นประชาชนสร้างก็ตาม ซึ่งแต่ละองค์แม้จะมีความเป็นมาแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์ในการสร้างเหมือนกัน นั่นคือเพื่อการดูแลคุ้มครองบ้านเมืองและประชาชน ที่สำคัญมักเป็นที่พึ่งทางใจในยามที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

คนไทยส่วนใหญ่ทราบกันดีว่า พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวดาที่คอยปกปักษ์รักษาประเทศ โดยเฉพาะเมื่อบ้านเมืองเราเกิดความไม่สงบจากปัญหา “การเมือง” หลายๆ คน ก็มักจะไปขอพรจาก “พระสยามเทวาธิราช” ให้ช่วยนำพาประเทศชาติกลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว

แต่เชื่อว่าบางคนอาจยังสงสัยว่า ทำไมเทพองค์นี้จึงมีความเกี่ยวข้องและผูกโยงกับการเมืองไทยมาทุกยุคทุกสมัย กรุงเทพธุรกิจจะพาไปเจาะลึกถึงข้อมูลของพระสยามเทวาธิราชว่าแท้จริงแล้วมีความเป็นมาและความสำคัญอย่างไรบ้าง

  • ย้อนรอยประวัติ พระสยามเทวาธิราช เกิดขึ้นมาครั้งแรกเมื่อไร?

แรกเริ่มเดิมทีพระสยามเทวาธิราช คือเทวรูปที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาขึ้น มีลักษณะเป็นเทวรูปประทับยืน หล่อด้วยทองคำแท่งทั้งองค์ สำหรับเหตุผลของการสถาปนาพระสยามเทวาธิราชนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ไว้ว่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความเชื่อส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 และสถานการณ์การเมืองภายในและภายนอกประเทศ

เนื่องจากก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะเสด็จขึ้นครองราชย์ สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนั้นอยู่ในความไม่สงบ พบว่าอำนาจส่วนใหญ่ในการดูแลบริหารบ้านเมืองอยู่ในการควบคุมของตระกูล “บุนนาค” ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางใหญ่ในสมัยนั้น ทั้งยังเป็นตระกูลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

ในช่วงแรกหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สวรรคต หลายคนคาดว่า พระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติอาจขึ้นครองราชย์ต่อ แต่ขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระยศของรัชกาลที่ 4 ณ ตอนนั้น) โอรสของรัชกาลที่ 2 ให้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ด้วยเหตุผลว่าพระองค์ทรงครองสมณเพศยาวนาน ไม่มีทหารหรือกองกำลังต่างๆ เป็นฐานอำนาจเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น จึงเชื่อว่าโอกาสที่จะลดทอนอำนาจทางการเมืองของตระกูลอาจเป็นไปได้ยาก

แต่รัชกาลที่ 4 ทรงรู้ทันและเข้าใจบริบทของการเมืองภายใน ณ ขณะนั้น จึงทรงวางกุศโลบายในการลิดรอนอำนาจของตระกูลบุนนาคลง เช่น ส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและกลับมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้ และต่อมาก็ได้มีการสถาปนา “พระสยามเทวาธิราช” ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์การสร้างอำนาจทางการปกครองแบบรวมศูนย์ไว้เพียงที่เดียวนั่นก็คือพระองค์เอง

สำหรับการเมืองภายนอก ในช่วงเวลานั้นอยู่ระหว่างยุคล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก ที่มาพร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ และเป็นยุคเริ่มต้นของการทำสัญญาค้าขายกับต่างชาติ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงในปัจจุบันมองว่าประเทศไทยค่อนข้างเสียเปรียบในเวลานั้น แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดสยามประเทศก็สามารถอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นการสถาปนา “พระสยามเทวาธิราช” ในครั้งแรกแม้ส่วนหนึ่งจะมาจากความเชื่อส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็เพื่อรวมใจคนในชาติให้สามัคคีเป็นปึกแผ่น ผ่านการสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติและการสร้างสัญลักษณ์ร่วมกัน โดยยึดเอาพระสยามเทวาธิราช ในฐานะเทวดาผู้ปกปักรักษาบ้านเมืองให้ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการปกป้องเภทภัยบ้านเมืองก็ถูกถ่ายทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันพระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในวิมานไม้แกะสลักกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

‘พระสยามเทวาธิราช’ ความเชื่อที่ผูกโยงสถานการณ์การเมือง?

พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานในพระวิมานไม้แกะสลักลงรักปิดทอง

ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

(ภาพจาก หน่วยราชการในพระองค์)

  • “พระสยามเทวาธิราช” ไม่ได้มีแค่องค์ประทับยืน แต่ยังอยู่ในเหรียญต่างๆ ด้วย?

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้มีการสร้าง “เทวรูป” ขึ้นมาอีกองค์ เพื่อประดิษฐานไว้ในห้องบรรทมของพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เทวรูปดังกล่าวมีลักษณะเหมือนพระสยามเทวาธิราช ทุกประการ เว้นก็เพียงแต่ “พระพักตร์ของเทวรูป” ที่โปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็นพระพักตร์ของรัชกาลที่ 4

นอกจากนี้ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างเหรียญดุษฎีมาลา เพื่อพระราชทานแก่บรรดาผู้มีความชอบ และมีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาไว้ในเหรียญด้วย ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงสร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ขึ้น เพื่อเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. 2427  ก็มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาไว้ในเหรียญเช่นเดียวกัน

“พระสยามเทวาธิราช” ที่มีการสร้างขึ้นทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ล้วนสร้างขึ้นโดย “ราชสำนัก” แต่ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยมีครั้งหนึ่งที่สร้างโดย “ประชาชน” เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสามารถปราบ “กบฏบวรเดช” ลงได้ จึงมีการสร้างเหรียญที่ระลึกเพื่อตอบแทนความดีแก่ผู้ช่วยเหลือรัฐบาลปราบกบฏ เรียกว่า “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้านหลังเหรียญเป็นภาพพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์

  • พระสยามเทวาธิราชมีมากกว่าหนึ่งองค์?

แม้ว่า “พระสยามเทวาธิราช” ตามประวัติศาสตร์แล้วจะมีเพียง 2 องค์ ที่ถูกสร้างจากราชสำนัก แต่ก็ยังมี “พระสยามเทวาธิราชองค์จำลอง” ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นประดิษฐานอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ สร้างโดยพระอุทัยธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่ามะไฟ ในอดีต เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2518 เกิดสงครามในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ติดกับชายแดนอรัญประเทศนานกว่า 7 ปี เจ้าอาวาสจึงมอบพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองให้ไปประดิษฐานบริเวณชายแดน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชน

‘พระสยามเทวาธิราช’ ความเชื่อที่ผูกโยงสถานการณ์การเมือง? พระสยามเทวาธิราชองค์จำลอง หน้าสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว

(ภาพจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

นอกจากนี้ยังมีพระสยามเทวาธิราชองค์จำลองอยู่ที่หัวเมือง 5 แห่งอีกด้วย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นเสาหลักชัยให้กับหัวเมืองหลักของประเทศ รวมถึงเป็นเอกลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นอาณาเขตของประเทศไทย โดยประดิษฐานอยู่ใน 5 จังหวัด ได้แก่

องค์ที่ 1 ประดิษฐาน ณ สวนมโนมัย ดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

องค์ที่ 2 ประดิษฐาน ณ ช่องตะโก บ้านหนองเสม็ด ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

องค์ที่ 3 ประดิษฐาน ณ ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

องค์ที่ 4 ประดิษฐาน ณ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา

องค์ที่ 5 ประดิษฐาน ณ นามกอล์ฟนอร์ทเธิร์นรังสิต ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

แม้ว่า “พระสยามเทวาธิราช” จะเป็นเทวรูปโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่ประชาชนก็ยังให้ความเคารพนับถือมาตลอดทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระสยามเทวาธิราช ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในบ้านเมืองขึ้น จึงมักมีการขอพรต่อพระสยามเทวาธิราชให้คุ้มครองป้องกันประเทศชาติให้รอดพ้นจากภัยพิบัติอันตรายนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล : หน่วยราชการในพระองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และ MGR online