‘พระสยามเทวาธิราช’ การตั้งเครื่องสังเวยและคาถาบูชา

‘พระสยามเทวาธิราช’ การตั้งเครื่องสังเวยและคาถาบูชา

“พระสยามเทวาธิราช” ขอให้ประเทศไทยมีความร่มเย็นเป็นสุข โดยประการทั้งปวง ด้วยอำนาจสัจจะวาจาที่อ้างถึงพระสยามเทวาธิราชนี้ การตั้งเครื่องสังเวยและคาถาบูชา

พระสยามเทวาธิราช เป็นประติมากรรมไทยสำคัญชิ้นหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ยังเป็นปูชนียวัตถุที่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงเคารพสักการะอย่างยิ่ง

ความเป็นมาของเทวรูปสำคัญองค์นี้เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของชาติ ประเทศรอดพ้นทั้งจากผู้คิดร้ายและภัยคุกคามครั้งใหญ่จากภายนอกประเทศหลายครั้ง บ้างมีการบันทึก บ้างเป็นเรื่องเล่ากันปากต่อปาก

ไม่ว่าจะอย่างไร พระสยามเทวาธิราช คือหนึ่งในเครื่องยึดเหนี่ยวให้ผู้รักชาติมีขวัญและกำลังใจทำงานเพื่อผืนแผ่นดินเกิด

162832936278

พระสยามเทวาธิราช : ศิลปะกษัตริยาธิราช

พระสยามเทวาธิราช : เป็นประติมากรรมประเภทเทวรูป ท่ายืน หล่อด้วยทองคำแท้ มีความสูง 8 นิ้ว ความกว้าง 2 นิ้ว ออกแบบตามศิลปะกษัตริยาธิราช คือทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ ประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า "ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช" แต่เดิมเรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

พระสยามเทวาธิราช สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 : หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) ทรงเล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์ มีพระราชดำริว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมุติขึ้น ถวายพระนามว่า พระสยามเทวาธิราชประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์

1628331627100

ช่างปั้นและหล่อพระสยามเทวาธิราช : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ (พ.ศ. 2361-9 ตุลาคม พ.ศ. 2428 พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์) มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าดิศ” อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ทรงเป็นผู้ปั้นหล่อพระสยามเทวาธิราช, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ยังทรงเป็นผู้ปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 4 ที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร พระบรมมหาราชวัง

เครื่องสังเวย : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องสังเวย “พระสยามเทวาธิราช” เป็นราชสักการะเป็นประจำเฉพาะวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นใน เป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา, เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้น น้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่าง และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย และโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยเทวดา ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของไทย

162833049481

"พระสยามเทวาธิราช กลายเป็นเทวดาประจำเมืององค์ใหม่ มีฐานะเป็นใหญ่เหนือกว่าเทพารักษ์อื่นๆ ที่เคยมีมาในสยาม" (ภาพ : มิวเซียมสยาม)

คาถาบูชา พระสยามเทวาธิราช : เริ่มต้นด้วยการตั้ง นะโม 3 จบ

สยามะ เทวาธิราชา เทวา ติเทวา มหิทธิกา

เทยยะ รัฏฐัง อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะจะ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัติโหตุ สัพพะทา

สยามะ เทวานุภาเวนะ สยามะ เทวะ เตชะสา

ทุกขะโรคะ ภะยา เวรา โสกา สัตตุ จุปัททะวา

อะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต

ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตถิง ภาคะยัง สุขัง พะลัง

สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฒิ จะ ยะสะวา

สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธิ ภะวันตุเม

คำแปลคาถาบูชาพระสยามเทวาธิราช : พระสยามเทวาธิราช เป็นจอมเทวดา ยิ่งใญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย ทรงมี มหิทธิฤทธิ์ ขอจงอภิบาลรักษาประเทศไทยโดยให้ปราศจากโรคาพาธ อุปะทวะอันตราย ความพินาศทั้งหลาย ขอให้ประเทศไทยมีความร่มเย็นเป็นสุข โดยประการทั้งปวง ด้วยอำนาจสัจจะวาจาที่อ้างถึงพระสยามเทวาธิราชนี้ ขอจงประทานความสุขสวัสดี จงบังเกิดแก่ประเทศไทยด้วยประการทั้งปวง ด้วยอานุภาพพระสยามเทวาธิราชและเดชพระสยามเทวาธิราช ขอจงขจัดทุกข์ โรคภัย ความโศก ศัตรู อุปัทวะ และอันตรายมิใช่น้อย ให้พินาศไปโดยไม่เหลือ ขอชัยชนะความสำเร็จแห่งกิจการ ทรัพย์ ลาภ ความสวัสดี ความมีโชค ความสุข กำลัง ศรี อายุ วรรณะ โภคสมบัติ ความเจริญ และยศ มีอายุยืนตลอดหนึ่งร้อยปีขึ้นไป ความสำเร็จแห่งกิจการงานในความเป็นอยู่จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ

162833015159

Mr.Al Soland ชาวสวิสซึ่งมีความสนใจในพุทธศาสนา ร่วมตกแต่ง “รูปปั้นพระสยามเทวาธิราช” ความสูง 4 เมตร ที่วัดเขาพนมสัจจฉัพพรรณรังษี จ.พิษณุโลก (พ.ค.2562)

ปัจจุบัน ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาและความเป็นสิริมงคล พุทธศาสนิกชนได้มีการจัดสร้าง พระสยามเทวธิราชองค์จำลอง ไว้หลายองค์ บางองค์ได้รับการขยายสัดส่วนใหญ่โตกว่าเทวรูปองค์จริงไปมากก็มี ประดิษฐานอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ วัด สถานที่ราชการ สมาคม โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดน ก็ได้รับการประดิษฐาน “พระสยามเทวธิราชจำลอง” ไว้สำหรับ ถวายสักการะ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่

อ้างอิง :