'คนรวย' ชอบ 'นั่งสมาธิ' ออกกำลังกายทางจิต ให้ฉลาดทางอารมณ์จนคว้าความสำเร็จ
ฝึกจิตแบบคนรวย เริ่มต้นด้วยการ "นั่งสมาธิ" สูตรลับความสำเร็จของเหล่ามหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง Bill Gates, Richard Branson และ Jack Dorsey
Key points:
- Bill Gates, Richard Branson และ Jack Dorsey 3 คนดังกล่าว พวกเขามี 2 สิ่งที่เหมือนกัน คือ 1.พวกเขาเป็นมหาเศรษฐี 2.พวกเขานั่งสมาธิเป็นประจำ
- นักจิตวิทยาอธิบายว่า การทำสมาธิสามารถปรับปรุงคุณภาพความคิดและอารมณ์ได้ กลุ่มคนที่ฝึก "นั่งสมาธิ" เป็นประจำ พวกเขามักจะรู้วิธีเปลี่ยนความวิตกกังวลให้กลายเป็นแหล่งพลังงาน แทนที่จะมองว่ามันเป็นอุปสรรค
- การฝึกทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง 5-10 นาทีต่อวัน เป็นการออกกำลังกายทางจิต ช่วยให้โฟกัสได้ดีขึ้น, ปรับปรุงทัศนคติที่ดี, เชื่อมโยงกับผู้คนได้มากขึ้น, เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ ฯลฯ
เชื่อหรือไม่? มหาเศรษฐีชื่อดังระดับโลกอย่าง Bill Gates, Richard Branson และ Jack Dorsey ทั้งสามคนนี้พวกเขามี 2 สิ่งที่เหมือนกัน คือ 1.พวกเขาเป็นมหาเศรษฐี 2.พวกเขา "นั่งสมาธิ" เป็นประจำ โดยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเคยแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการฝึกนั่งสมาธิไว้ดังนี้
(จากซ้ายไปขวา) Bill Gates, Richard Branson, Jack Dorsey
บิล เกตส์ (Bill Gates): ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์เริ่มหันมาสนใจการ “นั่งสมาธิ” จนกลายเป็นนิสัยมาตั้งแต่ ปี 2018 แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยคิดว่าการฝึกสมาธิเป็นสิ่งที่ “ไม่ใช่” สำหรับเขา แต่ต่อมาเขากลายเป็นผู้ที่หลงใหลและเชื่อมั่นในกิจกรรมการนั่งสมาธิ โดยเขานั่งสมาธิ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 10 นาที
เขายอมรับว่ามันช่วยให้เขาคิดสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น บิล เกตส์ ค้นพบว่า การทำสมาธิเป็นการออกกำลังกายทางจิตใจ ซึ่งสำคัญพอๆ กับการออกกำลังกายทางร่างกาย สำหรับเขามันไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนาหรือเรื่องเวทมนตร์ แต่มันเกี่ยวกับการสละเวลาไม่กี่นาทีในแต่ละวัน เพื่อใส่ใจและเท่าทันความคิดในหัว และเรียนรู้ที่จะปล่อยวางหรืออยู่ห่างจากความคิดเหล่านั้น
ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson): ผู้ก่อตั้ง Virgin Group คนนี้ เขามีความหลงใหลกับกิจวัตรยามเช้าของเขาที่เริ่มต้นตั้งแต่ตี 5 ในแต่ละวัน ด้วยการออกกำลังกายและการนั่งสมาธิ ในช่วงแรกๆ เขายอมรับว่าตัวเองยังใหม่กับการทำสมาธิ แต่แซม ลูกชายของเขาฝึกฝนมันเป็นประจำ ทำให้เขาหันมาทำสมาธิอย่างจริงจัง อีกทั้งเขาเชื่อมั่นอย่างมากในประโยชน์ของการดูแลจิตใจผ่านการทำสมาธิ โดยเขาเริ่มฝึกทำสมาธิมาตั้งแต่ช่วงปี 2017-2018
แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey): อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น X) เขามีกิจวัตรตอนเช้าที่เข้มงวดเริ่มตั้งแต่ตี 5 ซึ่งรวมถึงการทำ IF การเดินวันละห้าไมล์ และอาบน้ำเย็น แต่ก่อนอื่น เขาอุทิศเวลาให้กับการทำสมาธิเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในตอนเช้า และอีก 1 ชั่วโมงในตอนกลางคืน เขาอธิบายว่าการทำสมาธิทำให้เขามีความชัดเจนทางจิตมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเขาฝึกทำสมาธในเชิงลึกที่เรียกว่า "การทำสมาธิแบบวิปัสสนา" ซึ่งเป็นเทคนิคของนักบวชและผู้ที่ศรัทธาในหลักศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้ง โดยเน้นการทำสมาธิในความเงียบและทำจิตให้ปล่อยวาง (การฝึกใจให้ไม่ตัดสิน) เขาค้นพบว่า การทำสมาธิมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เขามีสติท่ามกลางความเครียดในขณะทำงาน
- การ "นั่งสมาธิ" ดีต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
คำถามต่อมาคือ ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตถึงขั้นเป็นมหาเศรษฐีชื่อดัง ถึงสนใจเรื่องการ "นั่งสมาธิ" และมันมีข้อดีอย่างไรในแง่วิทยาศาสตร์ ?
เรื่องนี้มีคำตอบจาก ดร.โคลอี คาร์ไมเคิล (Chloe Carmichael) นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบอนุญาต ในนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า การทำสมาธิสามารถปรับปรุงคุณภาพความคิดและอารมณ์ได้ เธอค้นพบว่า กลุ่มคนที่ฝึก "นั่งสมาธิ" เป็นประจำนั้น พวกเขามักจะจัดการกับความวิตกกังวลได้แตกต่างจากคนทั่วไป โดยความแตกต่างที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง คือ พวกเขามักจะรู้วิธีเปลี่ยนความวิตกกังวลให้กลายเป็นแหล่งพลังงาน แทนที่จะมองว่ามันเป็นอุปสรรคเพียงอย่างเดียว
ดร.โคลอี ชี้ชวนให้สังเกตว่า เหล่าบรรดาคนดังที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคน เช่น นักกีฬาทีมชิคาโก้ คับส์, ศิลปินแร็ปเปอร์ 50 Cent, นักแสดงหญิง Lena Dunham, นักร้อง Katy Perry, ผู้บริหาร Twitter ไปจนถึงบุคลากรของ Google ทนายความ นักข่าว นักการเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน และพวกเขาใช้การ "ทำสมาธิ" เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชีวิต
สำหรับประโยชน์ของการทำสมาธิในแง่จิตวิทยา ดร.โคลอี บอกว่า การนั่งสมาธิเป็นการออกกำลังกายทางจิต หากฝึกทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง (แนะนำ 5-10 นาทีต่อวัน) จะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติที่เราทุกคนต้องการ เช่น เพิ่มโฟกัสต่อสิ่งต่างๆ, มีทัศนคติที่ดี (รู้สึกขอบคุณ) ต่อสิ่งต่างๆ, ปรับปรุงการเชื่อมโยงกับผู้คน, ปรับปรุงการตระหนักรู้ทางอารมณ์ และความฉลาดทางอารมณ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะเพิ่มความได้เปรียบของคุณ ทั้งในแง่การใช้ชีวิต การเข้าสังคม และหน้าที่การงาน
ส่วนประโยชน์ในแง่วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพร่างกาย มีข้อมูลจากหลากหลายงานวิจัยพบว่า การทำสมาธิและการเจริญสติ สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น สามารถลดความดันโลหิต เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และเชื่อมโยงส่วนสำคัญของสมองที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ การตระหนักรู้ในตนเอง ความเห็นอกเห็นใจ และช่วยลดความเครียด เป็นต้น
- วิจัยชี้ "นั่งสมาธิ" ดีต่อสุขภาพลำไส้ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น
ขณะที่งานวิจัยจาก ศูนย์สุขภาพจิตเซี่ยงไฮ้ ของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร General Psychiatry รายงานผ่านสำนักข่าวเดอะการ์เดียนไว้ว่า การฝึกสมาธิอาจช่วยให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้นด้วย โดยทีมวิจัยได้ทำการศึกษาจากกลุ่มทดลองที่เป็นพระสงฆ์ทิเบต 37 รูปจากวัด 3 แห่ง และชาวฆราวาส 19 คนในพื้นที่ใกล้เคียง พวกเขาค้นพบว่า การทำสมาธิในระดับลึกที่กระทำเป็นเวลาหลายปี สามารถช่วยควบคุมไมโครไบโอม (จุลินทรีย์ที่ดี) ในลำไส้ได้ และลดความเสี่ยงของสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย
“ไมโครไบโอมในลำไส้ของคนเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และโรคหลอดเลือดหัวใจ และสามารถเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ได้ โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการทำสมาธิมีบทบาทเชิงบวกต่อสภาวะทางจิตและความเป็นอยู่ที่ดี” ทีมนักวิจัยอธิบาย
การ "นั่งสมาธิ" ไม่มีข้อเสียใดๆ เลยนอกจากเรื่องที่ต้องสละเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาทีต่อวันในการปฏิบัติ โดยทั่วไปการทำสมาธิเกี่ยวข้องกับการทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง และบางครั้งก็เพ่งความสนใจไปที่จังหวะการหายใจเข้า-ออก หรือการสวดมนต์ ปล่อยให้ความคับข้องใจในชีวิตประจำวันเลือนหายไป และแทนที่ด้วยการมีสติอยู่กับปัจจุบัน
- วิธีเริ่มฝึก "ทำสมาธิ" สำหรับมือใหม่ ทำง่ายๆ ได้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับใครที่ยังไม่เคย "นั่งสมาธิ" และอยากเริ่มลองทำสมาธิในชีวิตประจำวัน มีเทคนิคและคำแนะนำจาก ดร.โคลอี คาร์ไมเคิล ให้แก่ผู้ที่อยากเริ่มต้นออกกำลังกายทางจิตใจ ดังนี้
1. เริ่มจากฝึกหายใจลึกๆ เป็นประจำ
สำหรับมือใหม่อาจจะยังไม่ต้องเริ่มจากนั่งสมาธิอย่างจริงจังทันที แต่อาจจะเริ่มจากการฝึกหายใจลึกๆ เป็นประจำ ซึ่งการหายใจลึกๆ มีประโยชน์อย่างเหลือเชื่อ กล่าวคือ จะช่วยรีเซ็ตระบบประสาทในลักษณะที่เป็นประโยชน์ในด้านการปรับอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียด
2. เปลี่ยนกิจกรรมเดิมๆ ให้เป็นโอกาสในการเจริญสติ
เปลี่ยนกิจกรรมที่ปกติแล้วจะเป็นโอกาสของการไม่มีสติ ให้เป็นโอกาสในการมีสติ เช่น การเดินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แทนที่จะเดินด้วยการใจลอยหรือคิดเรื่องต่างๆ ลองฝึกจดจ่ออยู่กับการหายใจ หรือในเวลาที่ต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันจนเครียด ความคิดติดอยู่กับคำพูดของคนรอบข้าง ลองเปลี่ยนมาหายใจลึกๆ แล้วนึกถึงความรู้สึกในร่างกายของคุณ เช่น ขาและแขนที่เคลื่อนไหว จังหวะการหายใจ ช่วยดึงตัวเองออกจากความคิดวุ่นวาย เมื่อมีสติแล้ว ก็จะเป็นการหยุดโมเมนตัมที่ไร้สติแบบนั้นลงได้
3. พยายามหยุดความเร่งรีบที่ไม่จำเป็น
พยายามสังเกตการเร่งรีบของตัวเอง โดยเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ ที่คุณเร่งรีบ ตระหนก และเครียด ลองพยายามหยุดอาการเร่งรีบนั้นลง ต้องรู้ก่อนว่าคุณสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องเร่งตัวเอง ลองเปลี่ยนมาทำสิ่งนั้นๆ อย่างใจเย็นลง จุดสำคัญอยู่ที่การตื่นรู้ว่าตัวเองกำลังเร่งรีบเกินไปโดยไม่จำเป็น เมื่อจับจุดได้แล้วให้หายใจเข้าลึกๆ และตั้งสติใหม่ ดึงสติกลับมาโดยที่ไม่ต้องหงุดหงิดเลยแม้แต่น้อย
4. ลุกออกจากโต๊ะเพื่อทำสมาธิสูตรเร่งรัด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานที่ออฟฟิศในแต่ละวัน คนทำงานจะต้องพบเจอเรื่องที่กระทบอารมณ์และจิตใจไม่มากก็น้อย หากอยู่ในสถานการณ์ที่อารมณ์ไม่นิ่ง มีความเครียด หรือความคิดสับสนวุ่นวาย ให้ลุกออกจากโต๊ะทำงาน แล้วทำสมาธิอย่างรวดเร็ว (ประมาณ 2-5 นาที) เพื่อดึงตัวเองออกจากความวุ่นวายภายนอก ทำให้จิตใจสงบลง เมื่อจิตใจและอารมณ์นิ่งขึ้นแล้ว ก็จะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีได้เช่นเดิม
---------------------------------------
อ้างอิง : HoneHealth, PsychologyToday, TheGuardian, General Psychiatry