ทำไมถึงอยากเป็น "ผู้นำ" | พสุ เดชะรินทร์

เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมคนถึงอยากจะเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของกลุ่ม องค์กร หรือประเทศ ทั้งที่รู้อยู่ว่าผู้นำจะต้องมีทั้งภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างมากมาย รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะภาวะของการเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวายเช่นในปัจจุบัน

จากงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจที่ทำให้บุคคลอยากจะเป็นผู้นำ พอจะรวบรวมและจัดกลุ่มของเหตุจูงใจ 6 ประเภทได้ดังนี้

1.ต้องการทำสิ่งที่ดี ซึ่งมักจะเป็นคำตอบหลักที่ได้ยินจากผู้นำจำนวนมาก (เป็นคำตอบที่ดูดี ส่วนสาเหตุที่แท้จริงก็ต้องดูกันอีกที)

สำหรับรายละเอียดนั้นก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะขององค์กร หรือความต้องการทำดีของผู้นำ บางคนต้องการเป็นผู้นำเพื่อลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือต้องการเห็นองค์กรของตนเองดีขึ้น

หรือต้องการเห็นสังคมที่ดีขึ้นผ่านการทำงานขององค์กรของตน หรือต้องการให้พนักงานในองค์กรได้รับในสิ่งที่ดี หรือต้องการสร้างสินค้าที่สามารถเปลี่ยนโลกนี้ เป็นต้น

ผู้นำที่มาจากสาเหตุประเภทนี้ มักจะเป็นผู้นำที่มี Purpose ในการทำงานและการก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่ชัดเจน

2.ต้องการการเรียนรู้และชอบงานที่มีความท้าทาย เป็นเหตุจูงใจสำหรับผู้นำที่ชอบการเรียนรู้ และมองว่าการเป็นผู้นำนั้น เป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนที่ชอบความท้าทาย และการได้ทำงานที่มีความหมายด้วย

ผู้นำเหล่านี้ เมื่อเผชิญกับปัญหาความท้าทายต่างๆ จะก้าวเข้าไปหาแทนที่จะหลบเลี่ยง เป็นกลุ่มที่ชอบมองว่าเปลี่ยน “ปัญหาให้เป็นปัญญา”

ทำไมถึงอยากเป็น \"ผู้นำ\" | พสุ เดชะรินทร์

3.ต้องการความสำเร็จในการทำงาน บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่ต้องการและแสวงหาความสำเร็จ และตัวชี้วัดหนึ่งถึงความสำเร็จในการทำงานคือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กร สำหรับบางคนเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแล้วก็เสมือนกับบรรลุเป้าหมายของการทำงาน

ขณะเดียวกันความสำเร็จของบางคนไม่ใช่เพียงแค่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่ต้องการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จด้วย คนประเภทหลังมักจะมีมุมมองว่าเมื่อพ้นไป ต้องการให้อนุชนรุ่นหลังระลึกถึงในแง่ของการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

4.ต้องการอำนาจ ต้องการที่จะมีอิทธิพล ควบคุม หรือชี้นำผู้อื่น การเป็นผู้นำทำให้ตอบสนองต่อความต้องการในอันที่จะมีอำนาจและสามารถสั่งการต่อผู้อื่นได้ ต้องการที่จะชี้นำ ปรับเปลี่ยนความคิด หรือพฤติกรรมของบุคคลอื่น ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ต่อเมื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ

5.ต้องการการยอมรับ ผลตอบแทน ในระยะแรกผู้นำประเภทนี้อาจจะบอกว่าต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อผู้อื่น แต่ในระยะยาวแล้ว ความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้นำจะแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าสุดท้ายแล้วการขึ้นมาเป็นผู้นำนั้นก็เพื่อประโยชน์ล้วนๆ

ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนทางด้านการเงิน เกียรติยศ ชื่อเสียง การได้รับการยอมรับทางสังคม เครือข่ายทางสังคม โอกาสต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง

ทำไมถึงอยากเป็น \"ผู้นำ\" | พสุ เดชะรินทร์

6.ไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ ใช่ว่าผู้นำทุกคนจะอยากหรือต้องการเป็นผู้นำ ผู้นำหลายคนก็เป็นคนทำงานที่เริ่มทำงานจากระดับล่างแล้วค่อยๆ สะสมคุณความดี แสดงความสามารถออกมาให้เห็นเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งความเป็นผู้นำก็ตกเป็นของเขาโดยไม่ได้แสวงหาหรือกระตือรือร้นที่จะได้มา ทำให้ต้องรับบทบาทผู้นำไป โดยไม่ได้มีความต้องการหรือแรงจูงใจเป็นตัวขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังเลยก็ได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นผู้นำได้ระยะหนึ่งผู้นำประเภทนี้ก็จะเริ่มค่อยๆ มีแรงจูงใจในการดำรงตำแหน่งผู้นำของตนเองขึ้นมา ซึ่งสามารถตกอยู่ในข้อใดข้อหนึ่งในห้าข้อแรกได้

สุดท้ายอยากชี้ให้เห็นว่า การขึ้นเป็นผู้นำไม่ได้จำเป็นต้องมีเหตุจูงใจเพียงข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถมีเหตุจูงใจจากหลายข้อผสมผสานกันได้ เพียงแต่จะมักจะข้อใดข้อหนึ่งเป็นตัวที่เด่นที่สุด และนำไปสู่ความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้นำคนดังกล่าว

ท่านผู้อ่านลองสังเกตผู้นำรอบๆ ตัวท่านแล้วลองวิเคราะห์ดูว่าข้อไหนเป็นตัวเด่นที่จูงใจให้บุคคลผู้นำก้าวขึ้นเป็นผู้นำ

คอลัมน์ มองมุมใหม่

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[email protected]