ความสำเร็จของผู้นำ และ ผู้นำที่เก่ง | พสุ เดชะรินทร์
คำถามหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในกระแสคิดของคนจำนวนไม่น้อยคือ ผู้นำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้น เป็นผู้นำที่เก่งและสามารถนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้จริงหรือไม่?
นำไปสู่คำถามต่อเนื่องว่า “ผู้นำที่เก่ง และ ความสำเร็จของผู้นำ” จะดูได้อย่างไร? สำหรับธุรกิจนั้น เมื่อนึกถึงผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ก็จะโยงไปกับผลการดำเนินงานของบริษัทว่า ผู้นำสามารถทำให้บริษัทมียอดขาย กำไร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นได้หรือไม่?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่มากมายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน โควิด19 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อสองปีที่แล้ว เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลและ Metaverse เป็นประเด็นร้อนสำหรับบริษัท แต่ในปีนี้กลับเป็นเรื่องของ AI
ดังนั้นในช่วงอีกครึ่งปีที่เหลือและปีหน้า ย่อมยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าบริษัทจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้าง และจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างไร ทำให้นำไปสู่คำถามว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเป็นปัจจัยหลักปัจจัยเเก่งยวที่สะท้อนภาพความสำเร็จของผู้นำหรือ?
ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็วเช่นนี้ นอกเหนือจากผลประกอบการแล้ว ยังควรจะประเมินความสำเร็จของผู้นำจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการเตรียม และสร้างให้บริษัทเป็นธุรกิจมีความยืดหยุ่น พร้อมรับ (หรือนำ) การเปลี่ยนแปลง และทำให้บริษัทเกิดความยั่งยืน ในระยะยาวด้วย
เมื่อนิยามความสำเร็จของผู้นำเปลี่ยนไป นิยามของ “ผู้นำที่เก่ง” ก็ควรจะปรับจากเดิมด้วย นอกเหนือจากมุมมองที่ว่าผู้นำที่เก่งคือผู้นำที่สามารถทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีแล้ว
ผู้นำที่เก่งยังควรจะ
1.พัฒนาให้บริษัทมีความพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และสามารถก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างดี หรือ อย่างที่คุ้นกันในชื่อของ Resilient Organization
2.กล้าที่จะท้าทายต่อสมมติฐานและรูปแบบธุรกิจลักษณะเดิมที่อาจจะไม่เหมาะสมและสามารถที่ปรับเปลี่ยนบริษัทจากรูปแบบเดิมไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างราบรื่น
3.สามารถที่จะคิด สร้างสรรค์ แสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ รวมทั้งการสร้างความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่
4.สามารถนำพาบริษัทให้ก้าวไปในอนาคตได้ด้วยเข็มทิศ แต่ไร้ซึ่งแผนที่ หมายความว่าจะทราบทิศทางที่องค์กรจะไป แต่ไม่ได้มีแผนที่หรือ Google Map ที่จะช่วยบอกรายละเอียดของเส้นทางเดิน
5.พัฒนาบุคลากรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยพัฒนาทั้งความคิด (Mindset) และทักษะ (Skills) อีกทั้งทำให้ทุกคนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม ไม่ใช่กีฬาที่เล่นโดยคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
6.พัฒนาโครงสร้างที่จำเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่พร้อมจะรองรับต่อการเติบโตในอนาคต
7.ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือ Stakeholders สามารถผลักดันให้บริษัทคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของสังคม สิ่งแวดล้อม และตัวบริษัทเอง
8.เตรียมพร้อมในเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง หรือ Successor ให้ชัดเจน ความยั่งยืนในระยะยาวของบริษัทไม่ได้อยู่กับแค่สมัยที่ผู้นำคนดังกล่าวเป็นผู้นำสูงสุดเท่านั้น แต่ความสำเร็จที่แท้จริงคือ ความยั่งยืนในระยะยาวที่สามารถสืบทอดต่อไปยังผู้นำในรุ่นต่อไป
9.ผู้นำที่เก่งจะต้องถ่อมตัว และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ใช่ผู้นำที่กร่าง ก้าวร้าว หรือมั่นใจในตนเองเกินไปจนไม่พร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้ในสิ่งใหม่
10.เป็นผู้นำที่มี Purpose หรือสาเหตุ (Why) ในการเป็นผู้นำที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้นำเพื่อบริษัท ส่วนรวม หรือเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อส่วนตัว อีกทั้งสามารถ Walk the Talk ตาม Purpose ทั้งของตนเอง และของบริษัท
จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นิยามความสำเร็จของผู้นำก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย และทำให้นิยามของความเป็นผู้นำที่เก่ง ย่อมปรับตาม...บริษัทมีผู้นำที่เก่งหรือยัง?