ตัดสินใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง | บวร ปภัสราทร

ตัดสินใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง | บวร ปภัสราทร

จะไปรอดไม่รอดในทะเลท่ามกลางพายุใหญ่นั้น ขึ้นกับการตัดสินใจเลือกเส้นทาง เลือกผิดก็อับปาง เลือกถูกก็รอดปลอดภัยไปถึงฝั่งได้ ตัดสินใจแบบเดียวกัน แต่กระทำช้าเกินไป ผลที่เกิดขึ้นก็อาจแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง

เก่งจริงหรือเก่งไม่จริงดูได้จากการตัดสินใจท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงนี่แหละ จากบทเรียนในการตัดสินใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง บอกไว้ว่า ถ้าใจเย็นกับการตัดสินใจลงอีกนิดหน่อย จะมีโอกาสตัดสินใจได้ถูกต้องมากกว่ารีบร้อนตัดสินใจไปในทันที

เหมือนที่มีการแนะนำในเชิงเปรียบเทียบว่า หายใจลึกๆ ก่อนตัดสินใจใดๆ ซึ่งที่บอกให้ชะลอการตัดสินใจไว้สักนิดนั้นก็เพราะในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนั้น ปัญญามักลดลงไปกว่าที่เคยมีอยู่ในยามปกติ จะคิดอะไรก็ต้องการเวลามากกว่าเดิม

หากรีบตัดสินใจลงไป อาจเป็นการตัดสินใจโดยที่คิดไม่รอบคอบเพียงพอ โอกาสพลาดจึงมีมากขึ้น

กระแสการเปลี่ยนแปลงที่พบเจอจะสร้างความตระหนกให้เกิดขึ้นพร้อมทั้งยังกดดันให้เราต้องตัดสินใจในขณะที่ครุ่นคิดได้ไม่รอบคอบ แม้ว่าเราจะชะลอการตัดสินใจไปจนกระทั่งสายเกินแก้ไม่ได้  แม้ว่าต้องตัดสินใจให้ทันเหตุการณ์ เพียงแค่ชะลอไว้สักอึดใจหนึ่งก็อาจช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นมาก

สำคัญเท่า ๆ กับการชะลอการตัดสินใจไว้สักนิดคือ การควบคุมอารมณ์ก่อนการตัดสินใจไม่ให้ตื่นตระหนก หรือมีความอยากได้อยากเป็นมากเกินไป จนกระทั่งกดดันตนเองให้ตัดสินใจโดยที่ยังไม่รู้จริงเกี่ยวกับเรื่องที่จะตัดสินใจนั้น

แม้เวลาจะจำกัดเพียงใดก็ตาม แต่เวลายังมีเพียงพอเสมอสำหรับการทำความเข้าใจสาระสำคัญของการตัดสินใจนั้น ความตระหนก ความอยากได้อยากเป็นต่างหากที่ลดเวลาหาสาระสำคัญของเรื่องที่จะตัดสินใจ ไม่ใช่กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ตัดสินใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง | บวร ปภัสราทร

ถ้าพอมีเวลาในการฟังคนที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจ ให้เติมเต็มสาระสนับสนุนการตัดสินใจ โดยเลือกฟังให้รอบด้าน 

ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงมักจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปมาโดยตลอด ให้เลือกฟังจากกลุ่มที่เข้าใจเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากที่สุด

กลุ่มที่รู้ดีว่ากำลังจะตัดสินใจเรื่องอะไร และทำไมต้องตัดสินใจเรื่องนั้น รวมถึงคนที่ต้องรับผลโดยตรงจากการตัดสินใจนั้น

เช่นคนที่ต้องนำผลการตัดสินใจนั้นไปลงมือปฏิบัติ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้เห็นแง่มุมต่างๆ ของเรื่องที่ต้องตัดสินครบถ้วนเพียงพอสำหรับการตัดสินใจโดยมีสาระสนับสนุนอย่างเพียงพอ ไม่เป็นการตัดสินใจบนการคาดเดามากกว่าสาระ ตัดสินใจไปตามมโนที่มีอยู่

การรับฟังหลากหลายมุมมองจะช่วยลดความลำเอียงที่มาจากมโน และอัตตาที่มักเพิ่มมากขึ้นเมื่อพบเจอการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจที่ถูกต้องให้มากขึ้น

ถ้ามีหลายเรื่องที่ต้องตัดสินใจ การตัดสินใจแรกที่จำเป็นต้องกระทำคือตัดสินใจว่าเรื่องใดมาก่อนมาหลัง ดูในทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ชัดว่าเรื่องไหนที่เสี่ยงต่อเป้าหมายการงานของเรามากกว่ากัน 

เรื่องใดที่เสี่ยงมากและผลกระทบต่อเป้าหมายการงานสูงย่อมเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องตัดสินใจ เสี่ยงมาก แต่ผลกระทบตำ่ หรือเสี่ยงน้อยแม้ว่าผลกระทบจะสูง เก็บไว้เป็นลำดับต่อไปได้

ในทำนองเดียวกัน ให้ดูด้วยว่าเรื่องไหนมีโอกาสเกิดประโยชน์ในระยะยาวมากกว่ากัน เพื่อลดการพลาดโอกาสในการได้ประโยชน์จากการตัดสินใจเรื่องนั้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เรื่องที่มีประโยชน์ในระยะสูง ๆ ควรได้รับการตัดสินใจก่อนเรื่องที่ไม่ชัดเจนในเรื่องประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

แทนที่จะตัดสินใจเรื่องใหญ่ ตัดสินใจแบบมหภาคว่าจะปรับเปลี่ยนกิจการไปเป็นอย่างไรในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจลองเปลี่ยนมามองในระดับจุลภาค มองในเรื่องที่เล็กลงมาแทน 

ลองสร้างฉากทัศน์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นมา แล้วดูว่าขั้นตอนใดในการงานของเราจะมีความได้เปรียบ หรือมีความท้าทายใด ๆเกิดขึ้นบ้างภายใต้ฉากทัศน์ที่คาดไว้นั้น อย่าเพิ่งมองไปถึงการปรับเปลี่ยนกิจการที่ทำ มองแค่ว่าขั้นตอนการทำกิจการเดิมนั้นจะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไร

เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทาย พร้อมกับได้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้น

ตัดสินใจท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ต้องการหลักการที่ใช้นำทางการตัดสินใจ ที่พึ่งพาที่ดีที่สุดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง คือหลักการและค่านิยมที่มีอยู่ ไม่รู้จะไปทางไหน ให้ไปตามหลักการและค่านิยมที่เรายึดมั่นไว้เท่านั้น

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]