‘เปลี่ยนแปลง’ เริ่มจากการสื่อสารที่เปิดเผย จริงใจ | พสุ เดชะรินทร์
ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ตลอดเวลา ทั้งตัวผู้นำและบุคลากรต่างทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก แต่ทำไมทั้งๆ ที่มองเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น?
หลายครั้งก็มักจะโทษว่าผู้นำหรือบุคลากรไม่ยอมเปลี่ยน แต่จริงๆ แล้วคำว่า “ไม่ยอมเปลี่ยน” นั้นยังมีเบื้องลึกและหลากหลายสาเหตุ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรือการไม่ยอมเปลี่ยน ยอมยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของ Kodak อดีตผู้นำในธุรกิจการถ่ายภาพและฟิล์ม ซึ่งก็ประสบปัญหาถึงขั้นยื่นล้มละลาย ถ้าถามว่าทำไมโกดักถึงล้มเหลว ทุกคนก็จะนึกว่าเป็นเพราะปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล
อย่างไรก็ดี โกดักเป็นบริษัทแรกที่ผลิตกล้องดิจิทัลต้นแบบของโลกขึ้นมาในปี 2518 แต่ผู้ผลิตกล้องดิจิทัลในเชิงพาณิชย์เจ้าแรกคือ Sony ซึ่งออกมาในปี 2524 และเป็นกล้องที่ใช้แผ่นดิสก์ในการบันทึกภาพ (ชื่อกล้อง Sony Mavica) โดยกว่าโกดักจะออกกล้องดิจิทัลออกมาก็ปี 2538
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้โกดักไม่ยอมเปลี่ยนจากธุรกิจฟิล์มไปสู่ดิจิทัลนั้น ไม่ใช่ขาดความรู้หรือความสามารถทางด้านเทคโนโลยี หรือมองไม่เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง แต่เนื่องจากการให้ความสำคัญต่อกำไรระยะสั้นมากกว่าความยั่งยืนของบริษัทในระยะยาว
พบว่ามีรายงานภายในของโกดักในปี 2522 ที่พยากรณ์ว่าธุรกิจกล้องจะเปลี่ยนจากฟิล์มไปสู่ดิจิทัลภายในปี 2553 แต่โกดักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และเมื่อเปลี่ยนก็ทำได้ช้านั้น เนื่องมาจากผู้บริหารที่ยังมุ่งหวังกำไรในระยะสั้น เพราะถ้าขายฟิล์ม 1 ดอลลาร์จะได้กำไร 70 เซนต์ แต่ถ้าขายดิจิทัล 1 ดอลลาร์จะได้กำไรเพียงแค่ 5 เซนต์
บทเรียนจากกรณีของโกดักชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้บริหารไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เนื่องจากมองไม่เห็นหรือไม่ทราบต่อการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพราะยังคงมุ่งเน้นต่อผลตอบแทนในระยะสั้น มากกว่าความยั่งยืนในระยะยาว
ดังนั้น การที่จะบริหารการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรให้ได้ดี และก้าวข้ามต่อการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุก่อนว่าทำไมถึงคนถึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
- สาเหตุของการไม่เปลี่ยนหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พอจะรวบรวมออกมาได้ทั้งหมด 12 ประการด้วยกัน ได้แก่
- การไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน
- การคิดว่าทุกอย่างยังดีอยู่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ยิ่งถ้ามีความสำเร็จในอดีตยิ่งยากที่จะเปลี่ยน
- การมุ่งเน้นในตัวชี้วัดและผลลัพธ์ที่ผิดพลาด (เช่นมุ่งต่อกำไรระยะสั้น เหมือนในกรณีโกดัก)
- การปิดหูปิดตา ไม่ได้รับรู้ข้อมูลจากภายนอก ทำให้ไม่ทราบว่าลูกค้าหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคิดอย่างไร
- วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อให้บอกถึงข่าวร้าย แต่เน้นเชิดชูแต่ข่าวดี สร้างภาพสวยงามเกินจริง ทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลง
- ธรรมชาติของคนที่จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
- กลัวการสูญเสียในสิ่งที่เคยได้รับ เคยมีอยู่
- กลัวการเสียหน้า การเปลี่ยนแปลงแสดงว่าสิ่งที่ทำมานั้นอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป
- กลัวว่าถ้าเปลี่ยนแปลงแล้ว ตัวเองจะล้าสมัย ไม่สามารถพัฒนาตนเอง ปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้
- ความไม่ไว้วางใจที่มีต่อผู้บริหารและผู้นำการเปลี่ยนแปลง
- มุมมองหรือข้อมูลที่ได้รับที่แตกต่าง ทำให้เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
- มีความเข้าใจถึงสาเหตุและเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อพิจารณาทางเลือกต่างๆ โดยละเอียดแล้วก็อาจจะเห็นว่าการไม่เปลี่ยนแปลงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
สำหรับแนวทางในการก้าวข้ามการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ แต่จะต้องปรับให้เข้ากับสาเหตุของการไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร การให้ความรู้ การให้ข้อมูล การดึงให้เข้ามามีส่วนร่วม การสนับสนุนพัฒนาทักษะความสามารถ การพูดคุยเจรจาต่อรอง ชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย
สำคัญคือ ต้องเริ่มจากเปิดใจรับฟังและพยายามทำความเข้าใจต่อสาเหตุที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางต่างๆ ข้างต้นล้วนแล้วแต่จะต้องเริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญก่อน คือทุกอย่างจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการสื่อสารอย่างเปิดเผยและจริงใจ