คืบคลานสู่ "บรรทัดฐาน” ใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

คืบคลานสู่ "บรรทัดฐาน” ใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

บ่อยครั้งที่รู้สึกว่าหลายสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและไม่ดีอย่างน่าแปลกใจว่า มันมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร เช่น พื้นที่ป่าส่วนใหญ่หายไปในเวลาหนึ่งชั่วคน สังคมเหลื่อมล้ำอย่างน่าตกใจ มีการใช้คำพูดเเละภาษาที่หยาบคาย คนไทยรู้จักเข้าคิวเป็นระเบียบ ฯลฯ

หากลองหยุดพิจารณาก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นทีละนิด ๆ อย่างไม่ได้สังเกตเห็นจนกระทั่งมันกลายมาเป็น “norm” หรือ “บรรทัดฐาน”ใหม่ไปแล้ว  โลกตะวันตกมีการเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาศึกษาและเรียกว่า “creeping normality” ซึ่งหมายถึงการคืบคลานอย่างช้า ๆ สู่ “บรรทัดฐาน” ใหม่

การอ้างเรื่อง “กบอยู่ในน้ำร้อน” จนตัวสุกเพราะไม่ได้ปรับตัวโดยโดดหนีออกมาเมื่อน้ำร้อนขึ้น และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นอาหารไปแล้ว (แม้จะไม่ใช่เรื่องจริงจากการทดลองก็ตาม)  นำไปสู่แง่คิดว่ากบเผชิญกับปรากฏการณ์คืบคลาน ซึ่งคือการร้อนขึ้นทีละนิดอย่างไม่สังเกตเห็น    

ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าคนเอาเรื่องกบนี้มาสร้างคำว่า “creeping normality” และใช้กันกว้างขวางในปัจจุบัน

ตัวอย่างเรื่องนี้ในชีวิตจริงมีมากมาย ทั้งในระดับชาติและบุคคลอย่างสมควรเอามาเป็นอาหารสมอง   เพื่อช่วยปรับแก้ไขหรือเร่งให้มันเกิดขึ้นแล้วแต่กรณีที่เราเห็นว่าเหมาะสม 

ในระดับชาติ

(1)  การให้ความเคารพความเป็นชาติ   ประวัติศาสตร์  และวัฒนธรรม อย่างน้อยลงของสังคมเรา เป็นเรื่องซีเรียสที่กำลังเกิดขึ้น   มันจะเกิดมาจากอะไรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง    ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ แบบ creeping normality นี้จะสั่นคลอนรากฐานของสังคมเราอย่างแน่นอน  

ไม่ใช่ทุกสิ่งของสังคมเราดีพร้อม หลายอย่างไม่น่าพอใจแต่มันมีบางเรื่องที่เป็นความเชื่อและเป็นฐานของการอยู่ร่วมกันเป็นชาติอย่างสันติและอย่างยั่งยืนของสังคมเรา เราจะปล่อยให้มันถูกด้อยค่าไปเรื่อย ๆ ไม่ได้

(2) การใช้ภาษาไทยอย่างหยาบคายมากขึ้น   ในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียเปิดประตูการแสดงออกของความคิดผ่านภาษาอย่างไม่เคยมีมาก่อนและอย่างไม่รู้จักตัวตนผู้สื่อสารกันด้วย “ความดิบ” อันเป็นสันดานดั้งเดิมของมนุษย์

จึงปรากฏออกมาและนำไปสู่ความหยาบคายอย่างคืบคลานเข้ามาทีละน้อยในการสื่อสารประจำวันของคนไทยจนกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่ได้ยินแล้วเห็นเป็นเรื่องธรรมดา   

คืบคลานสู่ \"บรรทัดฐาน” ใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

  ใน “บรรทัดฐาน” เก่าของสังคมไทยที่มีมานาน คำพูดที่ถือว่าหยาบคายนั้นใช้ได้ในระดับส่วนตัวแต่จะเอ่ยใช้ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้นไม่ได้    แต่เมื่อมีสื่อโซเชียลมีเดียซึ่งไม่มีทางที่จะควบคุมหรือปิดกั้นได้มันจึงทะลักออกมาสู่การใช้ในสาธารณะและมีอิทธิพลต่อการเกิด creeping normality จนเข้าสู่”บรรทัดฐานใหม่”อย่างน่าตกใจ

(3) การอยากรวยอย่างรวดเร็ว  “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่เห็นชัดก็คือความต้องการร่ำรวยอย่างรวดเร็ว เพื่อความสบายและเพื่อยกตนให้เหนือเพื่อน โดยสามารถแสดงให้เห็นได้โดยง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เราเห็นคนกล้ากระทำผิดกฎหมายในลักษณะต่าง ๆ เพียงขอให้ร่ำรวยอย่างรวดเร็วในจำนวนที่มากขึ้น    

การใฝ่ฝันเช่นนี้ทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่  ๆ ผ่านการทำงานอย่างจริงจังเพื่อสร้างผลิตภาพ (productivity) ของแต่ละบุคคลจึงเป็นเรื่องไม่สำคัญอย่างสวนทางกับความเป็นจริงทางวิชาการที่ผลิตภาพคือหัวใจของการมีสังคมที่มั่งคั่งอย่างยั่งยืน   

หากคนไทยอยู่ในโหมดของความใฝ่ฝันและความเชื่อเช่นนี้     การสร้างและการใช้นวตกรรม การหาประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิตัล ตลอดจนการสร้างและหาประโยชน์จาก AI ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย     ขณะนี้ความใฝ่ฝันดังกล่าวกำลังคืบคลานเข้าครอบงำจิตใจคนไทยในยุคปัจจุบันอย่างรุนแรง

คืบคลานสู่ \"บรรทัดฐาน” ใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

(4) การแบมือรับ “การแจก”    สังคมไทยคล้อยตามกระแสประชานิยมในโลก    โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ในเรื่องการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ    

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สังคมไทยแตกต่างจากคนอื่นก็คือเราเชื่อว่าการแจก คือ “ของฟรี”อย่างแท้จริง อาจเพราะความไม่รู้และความอยากได้ตามนิสัยที่ถูกสร้างขึ้นโดยภาครัฐอย่างตั้งใจดี ความจริงก็คือเงินทุกบาทที่เราเอามาแจกจ่ายกันนั้นล้วนมาจากภาษีอากรและรายได้อื่น ๆ ที่ภาครัฐรับมาทั้งสิ้น    

การที่เราจะได้รับกันมาก ๆ ขึ้นนั้นทำได้จากการเก็บภาษีอื่น ๆ มากขึ้น   ตัดรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน   ตัดเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงที่เคยทำให้ราคาต่ำกว่าเป็นจริง   ฯลฯ    ความรู้สึกอยากได้ที่คืบคลานเข้ามานี้ถูกซ้ำเติมโดย “เงินล่อ” ประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป    จนการแจกเป็น “บรรทัดฐาน” ใหม่ ที่อาจนำไปสู่ความหายนะของเศรษฐกิจไทยได้

ในระดับบุคคลนั้น  

(1) การใช้คำหยาบและภาษาที่หยาบคายของเยาวชน    ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองยอมให้เด็กใช้คำหยาบและภาษาที่หยาบคาย กับพ่อแม่และคนในครอบครัวโดยปล่อยให้มันเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว    รับรองได้ว่าท่านจะมีลูกที่มี “ความน่ารัก” เป็นพิเศษอย่างแน่นอน   โดยเฉพาะถ้าแถมยอมรับภาษาและกริยาอาการที่ก้าวร้าวด้วยแล้ว  เด็กของท่านจะ “น่ารัก” ยิ่งขึ้นอีกมาก  

         พ่อแม่อาจมองไม่เห็นการคืบคลานสู่ “บรรทัดฐานใหม่” ชัดเจนนักเพราะมันมาทีละน้อย ๆ อย่างเงียบ   ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ปรามทันทีก็จะไม่อาจหยุดกระแสมันได้ ความจริงของชีวิตก็คือคนที่ใช้ภาษาหยาบคาย   สบถสบานแทบทุกประโยคนั้นเป็น “คนดิบ”

และคนประเภทนี้การคิดก็จะดิบไปด้วยเช่นเดียวกับพฤติกรรม คนมีกริยาและวาจาสุภาพจะมีการดำรงชีวิตที่แตกต่างจาก “คนดิบ” เหล่านี้มากมายในชีวิตจริง  และโอกาสที่ “คนดิบ” จะได้ดีกว่านั้นแทบไม่เคยเห็นหรือหากมีก็ไม่ยั่งยืน

คืบคลานสู่ \"บรรทัดฐาน” ใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

(2) พฤติกรรมที่เลวลง จากสภาพแวดล้อม  ผู้ใดอยู่ในสิ่งแวดล้อมใดก็มักเป็นเช่นคนในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ     คนธรรมดาปกติหากเสวนากับ “คนดิบ” ไม่นานก็จะสบถสาบานตามไปด้วยเพราะความเคยชิน และความคิดความอ่านก็จักคล้อยตามด้วย

เพราะการคืบคลานสู่ “บรรทัดฐาน” ใหม่นี้เกิดขึ้นได้โดยง่ายและอย่างไม่รู้ตัว    สำหรับบางอาชีพนั้นสามารถทำให้คนดีกลายเป็นคนเลวได้ในเวลาอันรวดเร็ว

creeping normality เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในระดับชาติและระดับบุคคล    การเอาตัวออกมาและลองพิจารณาเข้าไปอย่างเป็นกลางจะช่วยทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนขึ้น การช่วยกันหยุดมันไม่ให้คืบคลานเพื่อทำลายต่อไป หรือการสนับสนุนมันยิ่งขึ้นหากเป็นเรื่องดีก็เป็นสิ่งที่คอยไม่ได้เช่นเดียวกัน

ในเรื่องที่เลวร้าย creeping normality คือสงครามโหดร้ายที่คืบคลานเข้ามาทีละน้อยอย่างเงียบ ๆ   หากจะหยุดมันได้ก็ต้องรู้จักมันก่อน   เหตุที่หยุดมันได้ยากก็เพราะมันเป็นผลพวงของธรรมชาติมนุษย์ในด้านความรู้สึกและความเคยชิน นอกจากนี้บ่อยครั้งที่มันมาจากการ "การปั่น” อย่างจงใจอีกด้วย.