‘เตารีด’ กำลังจะหายไป? เด็กรุ่นใหม่ไม่รีดผ้า-ไม่รู้จักเตารีด
“เตารีด” กำลังถูกลดบทบาทความสำคัญลง เมื่อคนเจน Z - มิลเลนเนียลโอเคกับการใส่เสื้อยับ ๆ ออกไปข้างนอก แถมมีนวัตกรรมใหม่ทำให้ผ้าเรียบโดยไม่ต้องรีด จนเด็กยุคใหม่เริ่มไม่รู้จักเตารีดและไม่เคยรีดผ้า
ชีวิตที่เร่งรีบ งานที่รุมเร้า ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาทำงานบ้านเอง อะไรที่จ้างคนอื่นทำได้ก็จ้าง หนึ่งในนั้นก็คือ “การซักรีดเสื้อผ้า” เพราะกว่าจะซัก กว่าจะตาก เอาไปรีดต้องใช้เวลาเป็นวัน สู้ให้คนอื่นเอาไปรีด แล้วรอใส่เสื้อผ้าหอม ๆ แถมรีดเรียบกริบดีกว่า ด้วยเหตุนี้หลายบ้านจึงไม่มี “เตารีด” เป็นของตนเอง เด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่รู้จักเตารีดด้วยซ้ำ!
เมลิสสา ล็อคเกอร์ นักเขียนจาก Southern Living เว็บไซต์ไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่าลูกชายวัย 10 ขวบของเพื่อนเธอไม่รู้จักเตารีด โดยเด็กชายถามแม่ของเขาว่าเตารีดคืออะไร ขณะที่แม่ของเขากำลังรีดผ้าอยู่ เด็กชายคนนี้ไม่ใช่เพียงคนเดียวในโลกที่ไม่รู้จักเตารีด แต่โอกาสที่เด็กเจนอัลฟาจะได้เห็นเตารีดน้อยมาก เพราะในปัจจุบันแม่ ๆ ไม่ได้มีเวลารีดผ้าอยู่บ้านให้เด็ก ๆ ได้เห็น
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ประมาณ 30% ของคนที่มีอายุ 18-34 ปี ไม่มีเตารีดและ “ไม่เคยรีดเสื้อผ้า” เมื่อถามถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ซื้อเตารีดทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ คนรุ่นใหม่ให้เหตุผลว่า “เสื้อผ้าของพวกเขาไม่จำเป็นต้องรีด” ขณะที่อีกส่วนระบุว่า การรีดผ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญขนาดนั้น หรือบางคนก็บอกว่า พวกเขาไม่ชอบรีดผ้า
อันที่จริงแล้วก็ถูกของพวกเขาว่า ไม่มีใครชอบรีดเสื้อผ้า แต่พวกผู้ใหญ่ต้องยืนรีดผ้าหลังขดหลังแข็งเป็นชั่วโมง เพราะค่านิยมการใส่เสื้อผ้าที่เรียบกริบไร้รอยยับจะทำให้ดูมีภูมิฐาน เป็นคนสะอาดสะอ้าน ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า 90% ของคนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มีเตารีดไว้ที่บ้าน และใช้เป็นประจำ แถมยังมีคนพกเตารีดติดกระเป๋า เมื่อพวกเขาไปเที่ยวอีกด้วย
- เตารีดกำลังจะหายไป ?
ตามรายงานประจำปีของ Lakeland บริษัทค้าปลีกเครื่องใช้ในครัวเรือน พบว่าเทรนด์การไม่รีดเสื้อผ้าของคนรุ่นใหม่เริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องทำงานอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปงานที่เป็นทางการ จึงไม่จำเป็นต้องรีดผ้า
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตปรกติ แต่การแต่งกายของพวกเขาไม่ได้ต้องเป๊ะเหมือนเมื่อก่อน สามารถสวมใส่ชุดยับ ๆ ได้ มันก็ไม่ได้แย่ ไม่ต้องใส่เสื้อเชิ้ตที่เรียบไร้รอยยับ กางเกงสแล็กหรือเดรสไม่จำเป็นต้องมีจีบเป๊ะๆ อีกต่อไป ทำให้เตารีดและโต๊ะรีดผ้าถูกพับเก็บไว้ในตู้โดยปริยาย
ด้วยค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ผู้คนเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นต่อชีวิตพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผ้าห่มไฟฟ้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 250% ในปี 2022 ขณะที่เตาอบขนาดเล็กทำยอดขายเพิ่มขึ้น 163% ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2023 รวมไปถึงหม้ออบลมร้อนและหม้อทอดไร้น้ำมัน ก็กำลังมาแรงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้เตารีดถูกลดบทบาทลงไปเรื่อย ๆ ทั้ง “เครื่องอบผ้า” ที่เพิ่มฟังก์ชันขจัดรอยยับ แค่กดปุ่มเดียวผ้าก็เรียบตั้งแต่ออกจากเครื่อง ไม่ต้องมารีดใหม่ให้เมื่อยอีกต่อไป รวมไปถึงเครื่องดูแลผ้าที่ราคาถูกกว่าเครื่องอบผ้า แต่ก็ทำงานได้หลายประเภททั้งอบผ้า รีดผ้า ขจัดแบคทีเรียและกลิ่นอับ เพียงแค่เอาเสื้อเข้าไปแขวนในตู้เท่านั้น
ส่วนเตารีดและเครื่องปิ้งขนมปังมียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะแทบไม่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้คนอีกต่อไป
- เสื้อผ้าไร้รอยยับ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ “เส้นใยสังเคราะห์” และ “โพลีเอสเตอร์” ในการผลิตเสื้อผ้ามาเป็นเวลานานแล้ว โดยนิยมใช้กับเสื้อผ้ากีฬา เนื่องจากใส่สบาย ระบายอาการได้ดี ทนทาน ไม่ต้องดูแลมาก เกิดรอยยับได้มากกว่า ทำให้ผู้คนนิยมใส่เวลาอยู่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะแค่เวลาเล่นกีฬา ทั้งเสื้อสเวตเตอร์ กางเกงโยคะ ชุดบอล เสื้อกล้าม ฯลฯ จนกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นแห่งความขี้เกียจ (fashion-enabled laziness)
ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป ไม่อยากยุ่งยากกับการรีดผ้าทำให้แบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ หันมาผลิตเสื้อเชิ้ตสำหรับผู้ชาย และเดรสสำหรับผู้หญิงที่เกิดรอยยับได้ยาก (รวมถึงเลอะได้ยาก) สามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะไปทำงาน หรือท่องเที่ยว
การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจไม่รีดเสื้อผ้า ศ. เชตัน ซิงห์ โสลังกี จากไอไอที บอมเบย์ รณรงค์ให้ชาวอินเดียเลิกรีดเสื้อผ้า เพื่อลดใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอน
เตารีดไฟฟ้าโดยปกติจะมีขนาดประมาณ 500-2,000 วัตต์ หากใช้เตารีดไฟฟ้าขนาด 2,000 วัตต์ 15 นาทีทุกวัน จะกินไฟถึง 15 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อเดือน
“ส่วนใหญ่คนจะใส่เสื้อผ้า 2 ชิ้นต่อวัน โดยเสื้อ 1 ตัวจะใช้เวลารีด 5-7 นาที ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 200 กรัม หรือถ้าคนอินเดียทั้งประเทศลุกขึ้นมารีดผ้า ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 250 ล้านกรัมต่อวัน”
ไม่ว่าเพราะการตระหนักถึงภาวะโลกร้อน แฟชั่น เทคโนโลยี หรือความขี้เกียจที่ทำให้พฤติกรรมการใช้เตารีดของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ล้วนทำให้เตารีดค่อย ๆ หายไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่ไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งเราอาจจะเห็นเตารีดไปวางอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของเก่าก็เป็นได้
ที่มา: India Times, Southern Living, The Guardian