เทคนิค Pomodoro ทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที เพิ่ม Productivity ให้โฟกัสดี มีสมาธิ
ไม่มีสมาธิทำงานใช่ไหม? ทำวนไปแต่ไม่เสร็จสักที พักก่อน! แล้วลองใช้เทคนิค Pomodoro ช่วยเพิ่ม Productivity ทำให้โฟกัสได้ดี มีสมาธิทำงานมากขึ้น
Key Points:
- Pomodoro เป็นวิธีการบริหารเวลาในการทำงาน ที่พัฒนาโดย Francesco Cirillo มีขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980
- หลักการของ Pomodoro คือ ให้แบ่งงานออกเป็นส่วนเล็กๆ 3-4 ส่วน แต่ละส่วนให้ใช้เวลาทำงานสั้นๆ ครั้งละ 25 นาที แล้วหยุดพักละ 5 นาที แล้วจึงค่อยเริ่มทำส่วนถัดไป
- หากคุณมีรายการสิ่งที่ต้องทำยาวเหยียด เทคนิค Pomodoro สามารถช่วยให้คุณทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเสร็จเร็วขึ้น
ในโลกแห่งการทำงานที่วุ่นวายและมีหลายสิ่งให้ต้องจัดการในแต่ละวัน อาจทำให้ชาวออฟฟิศหลุดโฟกัส ขาดสมาธิ จนงานไม่เสร็จสักอย่าง แต่รู้หรือไม่? มีสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้คุณก้าวข้ามความยุ่งเหยิงเหล่านั้นได้ นั่นคือ เทคนิคการทำงานแบบ Pomodoro
Pomodoro เป็นวิธีการบริหารเวลาที่พัฒนาโดย Francesco Cirillo ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ทั้งนี้ “Pomodoro” เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า มะเขือเทศ โดย Francesco ตั้งชื่อเทคนิคนี้ตามนาฬิกาจับเวลาในครัวรูปมะเขือเทศ ซึ่งเขาใช้ในการจับเวลาช่วงเวลาทำงาน
- 4 วิธีและขั้นตอนการทำงานตามเทคนิค Pomodoro
สำหรับหลักการของเทคนิค Pomodoro นั้น มีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา โดยมีวิธีปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อ ดังนี้
1. ในแต่ละวันให้คุณจัดสรรเวลาทำงานใหม่ โดยแบ่งงานแต่ละชิ้นออกเป็นส่วนย่อยๆ ให้ใช้เวลาทำงานสั้นๆ ในแต่ละส่วนย่อย และระหว่างนั้นให้แบ่งเวลาหยุดพักตามความจำเป็น (แม้งานจะยังไม่เสร็จก็ให้พักก่อน)
2. กรอบการทำงานที่แนะนำคือ คุณต้องหยุดพัก 5 นาทีหลังจากทำงานทุกๆ 25 นาที (เรียกว่าเซสชั่น “Pomodoro”) หลังจากนั้นให้ทำซ้ำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนงานเสร็จสิ้น (อาจทำ Pomodoro 3-4 รอบต่อการทำงานให้เสร็จ 1 ชิ้น)
3. หลังจากทำงานในรูปแบบ “Pomodoro” ครบ 4 รอบ (หมายถึงทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที แบบนี้ไปเรื่อยๆ 4 ครั้ง) รวมระยะเวลาในการทำงานทั้งหมด 100 นาที และรวมเวลาพักระยะสั้น 15 นาที หลังจากนั้นให้คุณจะพักต่อยาวๆ อีก 15-30 นาที จึงค่อยเริ่มทำงานชิ้นใหม่
4. หลังจากทำ Pomodoro เสร็จแล้ว ให้ทำเครื่องหมายความคืบหน้าด้วยเครื่องหมาย “X” และติดตามว่า ตนเองมีการผัดวันประกันพรุ่งหรือเปลี่ยนไปทำงานอื่นกี่ครั้งในแต่ละช่วงเวลา 25 นาที
- Pomodoro ไม่ใช่การเค้นทำงานได้มากที่สุดในหนึ่งวัน แต่มันคือการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม
Francesco Cirillo บอกอีกว่า แนวคิดหลักของเทคนิคนี้ คือ การแบ่งงานออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อให้เราจัดการงานได้มากขึ้น แถมยังสามารถปรับปรุงการโฟกัส สร้างสมาธิ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ช่วยหลีกเลี่ยงความเหนื่อยหน่ายได้
“เทคนิค Pomodoro ไม่เหมือนกับวิธีบริหารเวลาส่วนใหญ่ มันไม่ได้เกี่ยวกับการบีบให้เราทำงานได้มากที่สุดในหนึ่งวัน แต่มันเกี่ยวกับการสละเวลาทำสิ่งที่ถูกต้องและให้พื้นที่ตัวเองได้หายใจ” Francesco กล่าว
นอกจากนี้ เขายังแนะนำเพิ่มว่าการแบ่งเวลาทำงานแบบ Pomodoro นั้น ไม่ควรทำๆ หยุดๆ แต่ควรฝึกทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วันขึ้นไป จึงจะเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างในการทำงาน และหากทำต่อเนื่อง 7-20 วัน ก็จะเกิดประโยชน์ในแง่ของประสิทธิภาพและผลิตผล (Productivity) อย่างสูงสุด
หากคุณมีรายการสิ่งที่ต้องทำที่ยาวเหยียด เทคนิค Pomodoro สามารถช่วยให้คุณทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเสร็จเร็วขึ้น โดยบังคับให้คุณยึดติดกับข้อจำกัดด้านเวลาที่เข้มงวด ความรู้สึกที่รู้ตัวว่า “เวลากำลังจะหมดลง” มันสามารถกระตุ้นให้คนเราทำงานตรงหน้าให้เสร็จได้เร็วขึ้น
- เช็กลิสต์ประโยชน์ Pomodoro ที่ดีต่อสุขภาพจิตใจ
การแบ่งเวลาทำงานแบบ Pomodoro นั้น มีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น ช่วยให้ไม่หงุดหงิดขณะทำงาน, ปรับปรุงโฟกัส-มีสมาธิมากขึ้น, ปรับปรุงพลังงานในการทำงานดีขึ้น, สมองไม่เหนื่อยล้าเกินไป, ลดการทำงานแบบ Multi-tasking ซึ่งส่งผลเสียต่อสมองและลดประสิทธิภาพการทำงาน, ลดการผัดวันประกันพรุ่ง, ช่วยให้งานเสร็จตามกำหนด, ช่วยลดความเครียด เป็นต้น
เทคนิค Pomodoro ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยเพิ่ม Productivity และลดการผัดวันประกันพรุ่ง ได้จริง! ยืนยันจากการวิจัยหลายชิ้น โดยหนึ่งในงานวิจัยรายงานว่า “การใช้เทคนิคนี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพของนักเรียนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” เทคนิคนี้ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีสมาธิและเรียนรู้ได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับทุกคน แม้ว่าวิธี Pomodoro จะได้รับความนิยม แต่ก็พบว่ามีข้อเสียบางอย่าง เพราะไม่เหมาะกับการทำงานบางประเภท เช่น งานที่ต้องพูดคุยประสานงานตลอดเวลา, งานที่ต้องเข้าประชุมบ่อยครั้งจนเกิดการหยุดชะงักบ่อยๆ, งานที่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญอย่างกะทันหัน, งานในสภาพแวดล้อมที่เร่งรีบและจำเป็นต้องสลับงานต่างๆ อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
ยกตัวอย่างกรณีของ โคลิน ที. มิลเลอร์ ซึ่งเป็นพนักงานและบล็อกเกอร์ของแพลตฟอร์ม Yahoo! (งานด้านสื่อโซเชียลมีเดีย) เธอแชร์ข้อมูลว่าได้ลองใช้เทคนิคนี้ในการทำงานและพบปัญหาบางประการ เช่น “การประชุม” เป็นตัวขัดขวางไม่ให้เทคนิคนี้มีประสิทธิภาพ” ดังนั้นแม้ว่าคุณจะพยายามทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที แต่ตารางงานนั้นก็จะรวนอยู่ดี
-------------------------------------
อ้างอิง : Lifehack.org, ResearchGate,
Hana Sofiyana, Athifah Utami Universidad de Córdoba Spain