เช็กอาการตัวเอง! ‘Schadenfreude’ สะใจเวลาเห็นคนอื่นพลาด เข้าข่ายไหม?

เช็กอาการตัวเอง! ‘Schadenfreude’ สะใจเวลาเห็นคนอื่นพลาด เข้าข่ายไหม?

“Schadenfreude” ความรู้สีกสะใจ สนุก เมื่อเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับคนอื่น เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ต้องระวังในการแสดงออก โดยเฉพาะในที่ทำงาน อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในทีมถึงขั้นแตกหักได้

สังคมในออฟฟิศมีคนหลากหลายประเภทรวมกันอยู่ ซึ่งมีบางคนที่เราไม่ไม่ค่อยถูกชะตารวมอยู่ด้วย และเมื่อเวลา “คนนั้น” ทำอะไรผิดพลาด เราอาจเคยเผลอ “สะใจ” และนำเรื่องนั้นไปตั้งวงซุบซิบกับผองเพื่อนให้ได้รับความสะใจไปด้วยกัน ซึ่งเรารู้อยู่แก่ใจว่าผิดแต่มันก็แอบยิ้มมุมปากไม่ได้

เมื่อคุณรู้สึกดี มีความสุข เวลาเกิดเรื่องร้าย ๆ ความล้มเหลว หรือเกิดปัญหาขึ้นกับคนอื่น แทนที่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ จะเรียกประสบการณ์นั้นว่า Schadenfreude (ชา-เดิน-ฟร็อย-เดอ) เป็นคำที่มาจากภาษาเยอรมัน โดย "schaden" หมายถึงอันตรายหรือความเสียหาย และ "freude" หมายถึงความสุข

 

  • ทุกคนมี ‘อารมณ์ตัวร้าย’ Schadenfreude

อันที่จริง Schadenfreude เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ โดยปรกติแล้วมนุษย์เราไม่ได้เกิดความรู้สึกสะใจที่เรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้นกับคนอื่น แต่อาการ Schadenfreude จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เรารู้สึกอิจฉาริษยา หรือเห็นว่าบุคคลนั้นควรได้รับผลกรรมนั้นแล้ว เช่น คนร้าย อาชญากร ขโมย 

รวมไปถึงในบางสถานการณ์ที่เราจะได้ประโยชน์จาก Schadenfreude เช่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เหมือนการให้กำลังใจตัวเอง รู้สึกว่าโชคดีกว่าคนอื่น และเราจะไม่รู้สึก Schadenfreude กับคนที่เรารู้สึกดี คนในครอบครัว หรือคนที่สนิทด้วย

วิลโก ดับเบิลยู ฟาน ไดจ์ค นักวิจัยด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไลเดน ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำการศึกษาโดยให้นักศึกษาจำนวน 70 คน อ่านบทความ 2 ชิ้นเกี่ยวกับนักศึกษาประสบความสำเร็จ ชิ้นแรกเล่าถึงความสำเร็จของนักศึกษาคนดังกล่าว จากนั้นให้อ่านอีกบทความสัมภาษณ์อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาว่า ตัวนักศึกษาต้องเผชิญกับปัญหาอย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำ (ทำการประเมินก่อนเริ่มการทดลอง) มีแนวโน้มที่จะ “รู้สึกถูกคุกคาม” จากนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จ และเกิดอารมณ์ Schadenfreude ขึ้นได้ง่าย โดยพวกเขารู้สึกเพลิดเพลินและสะใจที่เห็นนักศึกษาเหล่านั้นล้มเหลว

“เมื่อคุณมีไม่ค่อยภูมิใจในตนเอง คุณจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และคุณจะเป็นสุขเมื่อเห็นคนอื่นโชคร้าย แต่ถ้าคุณเห็นคุณค่าในตัวเอง คุณจะไม่สนุกกับความโชคร้ายของคนอื่นอีกต่อไป” ฟาน ไดจ์ค กล่าว

  • สะใจได้ แต่เก็บอาการบ้าง 

Schadenfreude ถือเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนและปรกติแล้วไม่ได้แสดงออกมาให้คนอื่นได้เห็นเท่าไหร่นัก ในแง่หนึ่งประสบการณ์นี้ถือเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ กัดกร่อนความเป็นหนึ่งเดียวและความไว้วางใจของทีมได้เช่นกัน หากเกิดขึ้นในออฟฟิศมักจะถูกแสดงออกมาหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

  1. สร้างข่าวลือ เมื่อพนักงานพอใจกับความล้มเหลวหรือความผิดพลาดของเพื่อนร่วมงาน พวกเขาอาจจับกลุ่มซุบซิบนินทา ด้วยพลังแห่ง “ปากต่อปาก” ทำให้เกิดการใส่สีตีไข่ เพิ่มเรื่องราวเชิงลบเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นเป้าหมายให้ดูแย่ยิ่งขึ้น
  2. ขัดแข้งขัดขา Schadenfreude อาจทำให้พนักงานที่เหม็นหน้าเพื่อนร่วมงานพยายามทำทุกวิถีทางที่จะ “กำจัด” และขัดขวางคู่แข่งออกไปจากบริษัท
  3. การแข่งขันที่เป็นพิษ แทนที่จะแข่งขันกันทำงานให้มีประสิทธิภาพ แต่ Schadenfreude จะทำให้เกิดสภาพการทำงานที่ไม่สุจริต เกิดการเล่นไม่ซื่อขึ้นได้ 
  4. ทำลายความสามัคคีในทีม เมื่อเกิดความขัดแย้งในการทำงาน ความสามัคคี ความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในทีมอาจลดลง แต่ละคนเริ่มระแวดระวังกันเอง ท้ายที่สุดแล้วก็ลงเอยด้วยการล่มสลายของทีมและแบ่งแยกฝ่าย
  5. ขวัญกำลังใจลดลง การเห็นเพื่อนร่วมงานโดนนินทาสร้างส่งผลกระทบอย่างมากต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน พร้อมระแวงว่าสักวันหนึ่งจะกลายเป็น “เหยื่อ” ของคนในทีมหรือไม่ ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการทำงาน
  6. การเมืองในที่ทำงาน Schadenfreude ส่งผลให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในที่ทำงาน ตามมาด้วยการเล่นพรรคเล่นพวก การเลือกปฏิบัติ เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม หรือ คนที่เป็นภัยคุกคาม

Schadenfreude เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ปรกติตามธรรมชาติ เราจึงควรยอมรับว่าทุกคนล้วนมี “ด้านมืด” นี้อยู่ในจิตใจ มากกว่าการปฏิเสธ ทำเป็นเหมือนว่าไม่มีความรู้สึกนี้ เราสามารถรู้สึกสะใจได้เล็ก ๆ ภายในใจ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้รู้สึกว่า “ชีวิตมีคุณค่า” แต่จำเป็นป้องกันการอารมณ์ และไม่ให้พฤติกรรมเหล่านี้แสดงออกมามากเกินไป เพราะสามารถทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน โดยอาจเน้นไปที่การเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตาและจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน เราสามารถยับยั้งการแสดงอารมณ์ Schadenfreude ได้ด้วยการลองคิดถึงใจเขาใจเรา คงจะรู้สึกแย่ไม่น้อยหากเกิดเรื่องแย่ ๆ ขึ้นกับเรา แทนที่เราจะได้รับความเห็นใจ แต่กลับโดนหัวเราะเยาะใส่

ทั้งนี้การตัดสินคนอื่นจากอารมณ์ชั่วขณะที่เกิดขึ้นจาก Schadenfreude ก็อาจจะ “ไม่แฟร์” เท่าใดนัก เพราะการจะรู้ว่าใครเป็นคนอย่างไรจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาทำความรู้จัก มากกว่าใช้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวเป็นตัวตัดสิน ซึ่งอาจจะต้องดูว่าหลังจาก Schadenfreude แล้วเขาได้สร้างแบดแผลหรือสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นหรือไม่

องค์กรจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการรับรู้ ความเห็นอกเห็นใจ และการแก้ไขข้อขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมค่านิยมที่ดี และส่งเสริมใ้ห้เกิดสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้พนักงานรู้จักยินดี สนับสนุน และฉลองความสำเร็จของกันและกัน มากกว่าจะปล่อยให้เกิด Schadenfreude จนกัดกร่อนความรู้สึกของพนักงาน จนทำลายความรู้สึกของทุกคนในที่สุด

ที่มา: ForbesLinkedInMission to the MoonNBC News