ไม่มีใครไม่เคยถูก "นินทา" ทำไมการร่วมวงเม้าท์คนอื่นถึงน่าดึงดูดใจ?

ไม่มีใครไม่เคยถูก "นินทา" ทำไมการร่วมวงเม้าท์คนอื่นถึงน่าดึงดูดใจ?

เมื่อความต้องการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลที่สองผ่านตัวแปรที่เรียกว่าบุคคลที่สาม กลับกลายเป็นการ "นินทา" ที่นำมาสู่ความเลวร้ายโดยขาดการระงับอารมณ์ที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตนเอง

เมื่อการ "นินทา" กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวงการสนทนา เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล เช่น ต้องการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลที่สอง โดยยกประเด็นการพูดคุยในเชิงลบเกี่ยวกับบุคคลที่สาม และนำมาสู่การรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความคิดเช่นเดียวกับตนเอง คล้ายๆ กับการหาพวกพ้อง พรรคพวก

การนินทาเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ในยุคอดีตแล้ว ซึ่งพฤติกรรมนี้ของมนุษยชาติได้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีสื่อสังคมโซเชียลเชื่อมต่อผู้คนได้แบบไร้พรมแดน ยิ่งทำให้การนินทาว่าร้ายเกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่กระจายในวงกว้างได้รวดเร็วมากว่ายุคที่ผ่านๆ มา หลายร้อยหลายพันเท่า

 

  • การนินทา คืออะไร? นินทาในโลกออนไลน์อันตรายแค่ไหน?

William Shakespeare ให้คำนิยามของ "การนินทา" ว่า เป็นการกระทำที่บ่อนทำลายความมั่นคงของสังคมหรือองค์กรได้ กล่าวคือ การนินทาสามารถทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายในกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน ในครอบครัวเดียวกัน หรือความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ได้ ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลที่ใช้พูดคุยเกี่ยวกับบุคคลที่สาม มักจะมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลเชิงลบเพื่อทำให้เป้าหมายถูกดูหมิ่น แต่หากข้อมูลที่ถูกพูดถึงเป็นไปในเชิงบวก ก็จะกลายเป็นการยกย่องหรือความอิจฉาริษยา 

การนินทาสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเเละเป็นธรรมชาติมาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และมักเกิดขึ้นเพื่อทำลายความจำเจของกิจวัตรประจำวัน หรือเพื่อเติมชีวิตชีวาให้แก่การสนทนา

ไม่มีใครไม่เคยถูก \"นินทา\" ทำไมการร่วมวงเม้าท์คนอื่นถึงน่าดึงดูดใจ?

สำหรับยุคสมัยนี้ "โซเชียลมีเดีย" กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการนินทาผู้อื่นมากที่สุด เนื่องจากผู้คนใช้ช่องทางออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย สะดวกสบาย แถมยังโพสต์ข้อความโดยไม่ระบุตัวตนก็ได้ซึ่งยิ่งทำให้การนินทาบนสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลเชิงลบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางครั้งพบว่าเหยื่อของการถูกนินทาในโลกออนไลน์ได้รับผลกระทบด้านลบทั้งในด้านจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวัน

 

  • ในทางจิตวิทยา "นินทา" คือความรู้สึกมีอำนาจ

ทางฝั่งของนักจิตวิทยามองว่า การนินทาเกิดจากความรู้สึกส่วนบุคคลที่ไม่สามารถระงับจิตใต้สำนึกเหล่านั้นได้ คนส่วนใหญ่ชอบนินทาคนอื่นเพราะเป็นเรื่องสนุก และเมื่อได้เข้าร่วมวงนินทาทำให้พวกเขารู้สึกโล่งใจว่าเขาไม่ได้กลายเป็นเป้าหมายเชิงลบดังเช่นบุคคลที่สาม ทั้งยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับข้อมูลลับๆ เกี่ยวกับบุคคลอื่น จึงรู้สึกได้ถึงการมีอำนาจ ซึ่งอำนาจเหล่านั้นจะกลายมาเป็นความเลวร้ายต่อบุคคลที่สามโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

โดยทั่วไปการนินทาจะมุ่งเน้นไปที่ด้านลบของรูปลักษณ์ส่วนบุคคล ความสำเร็จส่วนบุคคล และพฤติกรรมส่วนบุคคล ส่วนแรงจูงใจในการนินทา บางคนนินทาเพื่อหาทางแก้แค้นคนที่ไม่ชอบ คนๆ หนึ่งมักจะมองหาคนอื่นที่ไม่ชอบคนๆ เดียวกัน เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง หรือบางครั้งจะมุ่งเน้นไปที่การประเมินในเชิงลบของบุคคลนั้น 

ไม่มีใครไม่เคยถูก \"นินทา\" ทำไมการร่วมวงเม้าท์คนอื่นถึงน่าดึงดูดใจ?

 

  • เปิดวิธีเลี่ยงการนินทาคนอื่น และป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกนินทา

แม้ว่าผู้คนมักชื่นชอบรวมกลุ่มการนินทา ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครอยากกลายเป็นบุคคลที่สามที่โดนนินทา และน่าเสียดายที่ไม่มีใครรอดพ้นความเป็นจริงข้อนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่ชอบการนินทาคนอื่น แต่บางสถานการณ์อาจทำให้คุณต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงนินทา มีคำแนะนำในการเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์เหล่านั้น ดังนี้

  • พยายามแสดงออกให้คนรอบข้างทราบว่าเราไม่ชื่นชอบการนินทา
  • เว้นระยะให้เหมาะสมจากกลุ่มบุคคลที่มีแนวโน้มชอบนินทาว่าร้ายคนอื่น
  • หากเผลอเข้าไปอยู่ในวงการนินทา ขณะพูดคุยให้พยายามเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาเป็นเรื่องอื่นๆ ให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด
  • การใช้จิตวิทยาในการวิเคราะห์สถานการณ์ในระหว่างการสนทนา
  • หากจำเป็นต้องอยู่ในวงสนทนา และเริ่มมีการนินทาคนอื่นเกิดขึ้น ให้เลือกที่จะเงียบ และปล่อยการสนทนาให้เป็นไปโดยไม่ร่วมวงสนทนาที่นำไปสู่การนินทาว่าร้าย 

ในทางกลับกัน หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการนินทาว่าร้าย (เป็นบุคคลที่สามที่ถูกผู้อื่นนินทา) ก็มีวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกนินทามาแนะนำ ดังนี้

  • ปรับมุมมองใหม่ หากเรื่องที่ถูกนินทาเป็นเเค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ปล่อยไป
  • เว้นระยะจากคนที่ชอบนินทาคนอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกแย่ๆ 
  • เข้าไปพูดคุยกับคนที่ชอบนินทาให้ชัดๆ ไปเลย เคลียร์ประเด็นที่อาจจะเข้าใจผิดแบบเปิดใจ
  • ไม่นินทาคนอื่นก่อน 

หากไม่ชอบการนินทาผู้อื่นและไม่อยากโดนนินทาเสียเอง ก็ต้องรู้จักสร้างเกราะป้องกันตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือหยุดยั้งการกระทำที่อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบาดแผลให้ผู้อื่นโดยเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม

----------------------------------------

อ้างอิง : Psychologytoday1, Psychologytoday2