เผยภาพ 'ดาวพฤหัสบดี' เป็นสีพาสเทล ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

เผยภาพ 'ดาวพฤหัสบดี' เป็นสีพาสเทล ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

'นาซา' เผยภาพถ่ายความละเอียดสูงของ 'ดาวพฤหัสบดี' ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ได้เผยแพร่ภาพถ่ายความละเอียดสูงของ 'ดาวพฤหัสบดี' ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต ที่บันทึกด้วย 'กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล' เนื่องในโอกาสที่ดาวพฤหัสบดีโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี

 

 

สีสันที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่าเป็น 'ภาพถ่ายสีผสมเท็จ' (False Color Image) เกิดจากค่าการสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตที่ไม่เท่ากันในแต่ละส่วนของดาวพฤหัสบดี ยกตัวอย่างเช่น 'จุดแดงใหญ่' ที่อาจจะปรากฏเป็นสีแดงในสายตามนุษย์ แต่ในภาพอัลตราไวโอเลตนี้ปรากฏเป็นสีคล้ำ เนื่องจากอนุภาคเมฆที่อยู่บริเวณนี้สะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตได้น้อยกว่าบริเวณอื่น ส่วนเมฆบริเวณขั้วของดาวพฤหัสบดีที่ปรากฏเป็นสีแดงเนื่องจากอนุภาคบริเวณดังกล่าวสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตได้มากกว่าเล็กน้อย

 

 

ข้อมูลที่ใช้ในการสร้างภาพดาวพฤหัสบดีในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการเคลื่อนที่ของชั้นเมฆบนดาวพฤหัสบดี นักดาราศาสตร์วางแผนที่จะสร้างแผนที่ชั้นเมฆ โดยใช้ข้อมูลของกล้องโทรทรรศอวกาศฮับเบิล เพื่อกำหนดโครงสร้างชั้นเมฆแบบ 3 มิติในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี

 

ภาพถ่ายสีผสมเท็จเกิดจากการนำข้อมูลภาพถ่ายในช่วงคลื่นอื่นๆ ที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ มาผสมรวมกันเป็นภาพเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภาพนี้เกิดจากการนำภาพถ่ายในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตที่แตกต่างกันมาผสมรวมกัน โดยกำหนดให้แต่ละสีแทนด้วยฟิลเตอร์ดังต่อไปนี้ สีน้ำเงิน (F225W) สีเขียว (F275W) และสีแดง (F343N)

 

 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์