‘Hedonic Treadmill’ ความสุข ความเศร้าอยู่เพียงไม่นาน เดี๋ยวก็จางหายตามเวลา

‘Hedonic Treadmill’ ความสุข ความเศร้าอยู่เพียงไม่นาน เดี๋ยวก็จางหายตามเวลา

รู้จัก “Hedonic Treadmill” ภาวะที่ความรู้สึกค่อย ๆ ลดลง จนกลับเข้าสู่ปรกติหลังจากเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ร้ายหรือดี พร้อมหาวิธีเพิ่มความสุขแบบง่าย ๆด้วยตัวเอง

เมื่อผู้คนเริ่มมีความรักในระยะแรก มักจะถูกเรียกว่า “ช่วงโปรโมชัน” จะเป็นช่วงที่คู่รักหวานแหวว ทำอะไรพิเศษให้กันเสมอ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็พร้อมให้อภัย เหมือนกับที่สุนทรภู่แต่งกลอนสอนใจไว้ในอภัยมณีว่า 

 “เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน 
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

ในทำนองเดียวกัน แต่พอเลิกรักหรืออกหักก็เจ็บปางตาย จะได้รับคำปลอบใจอยู่เสมอว่า “เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง” ซึ่งก็ดันจริง เพราะพอเวลาผ่านไป สิ่งที่เคยเจ็บปวด ความทุกข์ที่มีค่อย ๆ เบาบางลง สามารถกลับมาเป็นปรกติโดยที่ไม่เศร้าอีกแล้ว ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า “เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง” 

Hedonic Treadmill เป็นภาวะที่ไม่ว่าเราจะประสบกับเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะทั้งดีและร้าย เราจะมีความสุขหรือความสุข อยู่แค่ในระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะยังคงส่งผลกระทบต่อจิตใจอยู่ก็ตาม แต่ความรู้สึกเหล่านั้นจะค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาพปรกติ คำนี้ปรากฏครั้งแรกในการศึกษาของนักจิตวิทยา 2 คน คือ ฟิลิป บริคแมน และ โดนัลด์ ที แคมป์เบล เมื่อปี 1971

บริคแมน และ แคมป์เบล ทำการศึกษาความสุขในระยะยาวของคน 2 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มคนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง กับ กลุ่มคนที่ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาต โดยผลการทดลองพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป คนทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีความสุขหรือความทุกข์มากกว่ากัน เพราะระดับความสุขของกลุ่มคนที่ถูกลอตเตอรี่จะลดลงกลับมาเท่ากับตอนก่อนที่จะถูกลอตเตอรี่ ลักษณะเดียวกันกับกลุ่มคนที่ประสบอุบัติเหตุ แม้ในตอนแรกจะประสบกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระดับความสุขก็จะกลับมาเท่ากับตอนก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุ

ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักจิตวิทยาคิดว่าความสามารถนี้อาจเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของมนุษย์ ด้วยการย้ายเหตุการณ์ในอดีตมาเป็น “ภูมิหลัง” ทางอารมณ์ ซึ่งจะช่วยให้จัดการกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ 

ขณะเดียวกันประสบการณ์ชีวิตมีแนวโน้มที่จะผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางอารมณ์ไปชั่วชีวิต ยกตัวอย่างเช่น โดยพื้นฐานแล้วคนที่แต่งงานแล้วมีแนวโน้มที่จะมีความสุขในระยะยาวมากกว่าคนที่ไม่ได้แต่งงาน ส่วนคนที่หย่าร้างหรือเป็นหม้ายมักจะมีความสุขน้อยลงไปอีกนานหลังจากเผชิญเหตุการณ์นั้น 

ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ดีหรือเลวร้ายก็สามารถทำให้ความสุขของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว หรืออาจถึงขั้นถาวรได้เช่นเดียวกัน

  • มีความสุขไม่เหมือนกัน

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 และประสบการณ์ทางอารมณ์มีแนวโน้มจะอยู่ได้สั้นกว่าความพึงพอใจและความแปลกใหม่ในประสบการณ์ประเภทอื่น ๆ เช่น หลังจากย้ายบ้านหรือได้งานใหม่ไปสักพัก จะเริ่มมีความสุขลดลงจากตอนที่พึ่งได้รับประสบการณ์นี้ใหม่ ๆ เนื่องจากเราไม่รู้สึกตื่นเต้นและปรับตัวให้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมนี้แล้ว

จากการศึกษาในปี 2017 แสดงให้เห็นว่า หากสร้างประสบการณ์บางอย่างขึ้นด้วยความคิด “ของมันต้องมี” เพราะเห็นทุกคนมีกัน ทำตามกระแส ความสุขที่ได้รับจากประสบการณ์นั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากความพึงพอใจที่ได้รับจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจาก “ความต้องการที่แท้จริง” ที่จะอยู่ตลอดไป เนื่องจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งด้วยตนเอง ไม่ได้ฉาบฉวยตามคนอื่น

ประสบการณ์แต่ละประเภทมอบความสุขที่แตกต่างกันออกไป โดยความสุขแบบ “เฮโดนิสซึม” (Hedonism) เป็นความสุขที่เกิดขึ้นทันทีจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือหลีกเลี่ยงจากการทำสิ่งที่ไม่ชอบ ซึ่งเป็นการสร้างความสุขระยะสั้น แต่สิ้นสุดกิจกรรมแล้วความสุขก็จะลดลงไป 

ส่วนความสุขแบบ “ยูไดโมเนีย” (Eudaimonia) เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความภูมิใจที่ทำกิจกรรมบางอย่างสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ชอบก็ตาม เช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ การช่วยเหลือผู้อื่น การก้าวข้ามปัญหา โดยยูไดโมเนียจะใช้เวลานานในการเกิดกว่าเฮโดนิสซึม แต่เมื่อความสุขแบบยูไดโมเนียเกิดขึ้นแล้ว จะอยู่ยาวนานกว่าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความสุขทั้งสองแบบจะช่วยเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากความล้มเหลวและความสูญเสียได้เร็วขึ้น ดังนั้นหากกำลังเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต หรือรู้สึกล้มเหลวในชีวิต เสียศูนย์ จนไม่รู้ว่าจะก้าวผ่านไปได้อย่างไร คุณสามารถใช้เวลาคร่ำครวญ ร้องไห้เสียใจได้ ไม่จำเป็นต้องฝืน เมื่อคุณพร้อมเมื่อไหร่ ค่อยลุกขึ้นมาวิธีสร้างความสุขและไปให้ถึงจุดมุ่งหมายอีกครั้ง แม้ว่าความสุขนั้นอาจจะไม่ทำให้คุณรู้สึกดีเท่าเดิมก็ตาม

 

  • ความสุขของแต่ละคนไม่เท่ากัน

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว ทุกคนจะกลับมามีความรู้สึกกลับมาเป็นปรกติหลังจากเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “จุดตั้งต้น” (Set Point) แต่จุดตั้งต้นของแต่ละคนไม่เท่ากัน จากการศึกษาเมื่อปี 2006 ของ เอ็ด ไดเนอร์ พบว่า เมื่อความสุขหรือความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ลดลงจนถึงจุดตั้งต้นแล้ว คนส่วนใหญ่อาจมีความรู้สึกเชิงบวกเล็กน้อย ไม่ได้รู้สึก “เป็นกลาง” โดยสมบูรณ์

ซอนย่า ลิวโบเมียร์สกี้ ทำการศึกษาจนพบว่า  50% ของจุดตั้งต้นความสุข (Happiness Set-Point) ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม อีก 10% มาจากอิทธิพลจากเหตุแวดล้อม เช่น สถานที่เกิดและการเลี้ยงดู ส่วนที่เหลือ 40% เป็นส่วนที่สร้างขึ้นเองได้

ดังนั้นเราจึงสามารถเพิ่มจุดตั้งต้นแห่งความสุขได้ด้วยได้ง่าย ๆ ด้วยการรับรู้อารมณ์ของตนเองและไม่ปฏิเสธว่ากำลังมีอารมณ์นั้นอยู่ ใช้เวลาชื่นชมกับสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อยู่กับคนที่สำคัญในชีวิตให้มากขึ้น ตลอดจนโฟกัสกับการทำงานทีละอย่าง หยุดทำหลายอย่างพร้อมกัน มีสติ ฝึกสมาธิ และออกกำลัง


ที่มา: Health LinePsychology TodayThe Potential