วิจัยชี้ 'แรงงานไทย' ความสุขลดลง องค์กรอย่าชะล่าใจ รีบจัดการก่อนสาย
ผลสำรวจล่าสุดเผย “แรงงานไทย” มีความสุขในการทำงานลดลงทุกด้าน ทั้งเจอปัญหาการมีส่วนร่วม ไม่ได้รับการยอมรับในองค์กร สภาพความเป็นอยู่ ผู้เชี่ยวชาญชี้องค์กรควรกลับมาให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับแรก
ในปีนี้การทำงานแบบผสมผสาน ระหว่างทำงานที่บ้านสลับเข้าออฟฟิศ กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง แต่ด้วยปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงการเข้ามาของเอไอ ล้วนทำให้พนักงานในองค์กรรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรน้อยลง
- แรงงานไทยมีความสุขในการทำงานลดลง
รายงานแนวโน้มการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน ประจำปี 2567 ของ Qualtrics บริษัทให้บริการด้านการบริหารจัดการประสบการณ์ ที่ทำการสำรวจพนักงานเกือบ 37,000 คนทั่วโลก โดยมีกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,000 คนจากประเทศไทย พบว่า ตัวชี้วัดการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในทุกด้าน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก มีเกณฑ์ชี้วัดในแต่ละด้าน รายละเอียดดังนี้
- 76% ของพนักงานรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมกับองค์กรในปี 2567 ลดลงจากปี 2566 ที่คิดเป็น 82% แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 68%
- การได้รับการยอมรับจากองค์กรอยู่ที่ 82% ลดลง 5% จากปี 2566 ที่มีคิดเป็น 87% ส่วนการยอมรับของคนทั่วโลกอยู่ที่ 73%
- ในด้านความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในไทยอยู่ที่ 75% ลดลงจากปีก่อนที่ระดับ 84% ส่วนทั่วโลกอยู่ที่ 72%
นอกจากนี้ มีพนักงาน 47% มองว่าบริษัททำได้ดีเกินกว่าความคาดหวังของตน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ในระดับ 38% แต่ยังต่ำกว่าในปี 2566 ที่สูงถึง 58%
เมื่อถามว่าตั้งใจจะทำงานอยู่ที่องค์กรนี้เป็นระยะเวลา 3 ปีขึ้นไปหรือไม่ พบว่า พนักงานไทย 76% ตั้งใจจะทำงานที่เดิม ลดลงจากปี 2566 ที่มีพนักงานถึง 82% ตั้งใจจะทำงานที่เดิม แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 76%
แนวโน้มประสบการณ์ที่ดีของพนักงานไม่ได้ลดลงแค่ในไทย แต่ลดลงทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนในสิงคโปร์เกิดการหยุดชะงัก แสดงให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องกลับมามุ่งเน้นความสำคัญของพนักงานเป็นอันดับแรก
ดร. เซซิเลีย เฮอร์เบิร์ต ประธาน XM Catalyst จากสถาบัน Qualtrics XM กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพและการพัฒนา การสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่สุดในการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างการมีส่วนร่วมของพนักงานและผลการดำเนินงานขององค์กร
- พนักงานในไทยต้องการอะไร ?
ทีมผู้เชี่ยวชาญของ Qualtrics ยังได้วิเคราะห์สิ่งที่ค้นพบในการศึกษานี้ พบแนวโน้มความต้องการของพนักงานในสถานที่ทำงานที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าออฟฟิศแบบผสมผสาน เป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานชอบ พวกเขาอยากเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราว มากกว่าทำงานที่บ้านตลอดเวลา แต่ก็ไม่อยากเข้าออฟฟิศทั้ง 5 วัน โดยสะท้อนออกมาว่าผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญของการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานเชิงบวกสูงต่อเมื่อพนักงานได้ทำงานแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นระดับการมีส่วนร่วม ความตั้งใจที่จะอยู่ทำงานต่อ ความรู้สึกของความเป็นอยู่ที่ดีและการยอมรับในองค์กร
ที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ พบว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานเปิดรับเอไอมากที่สุดในโลก โดยมีพนักงานถึง 62% ยินดีที่จะให้เอไอมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกในระดับ 42% โดยพวกเขารู้สึกสบายใจมากขึ้น ถ้ารู้ว่าตนเองสามารถควบคุมเอไอได้ เช่น มีเอไอเป็นผู้ช่วย ให้เอไอเขียนงานให้ ใช้เอไอติดต่อฝ่ายสนับสนุนในหน้าที่ต่าง ๆ แต่พนักงานยอมรับว่ายังไม่สบายใจที่จะให้เอไอทำงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ด้านการศึกษา ใช้ตัดสินใจจ้างงาน หรือให้เอไอประเมินผลงานของตน
ขณะที่ “พนักงานระดับแนวหน้า” เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร และพนักงานค้าปลีก กลับไม่ความสุข ไม่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้าง ตลอดจนไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญ คือ พวกเขารู้สึกไม่มีปากมีเสียง ไม่มีสิทธิ์เสนอความเห็นอะไร แถมรู้สึกว่าตนเองได้รับค่าจ้างและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ และมักเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อเทียบกับพนักงานทั้งหมด
ส่วน “พนักงานใหม่” ก็มีปัญหากับการทำงานเช่นกัน แม้ว่าในระยะแรก ๆ พวกเขาจะมีไฟในการทำงาน มีความสุขและตื่นเต้นที่ได้ไปทำงาน และในช่วงปีแรกรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นอย่างมาก แต่เมื่อผ่านช่วงปีแรกไปพวกเขากลับรู้สึกว่าได้รับการยอมรับน้อยลง เมื่อเทียบกับพนักงานเก่า
จากข้อมูลเผยให้ว่าในช่วงเดือนแรก ๆ ของการทำงานใหม่ เป็นช่วงที่สำคัญในการสร้างความมุ่งมั่นและความภักดีต่อองค์กร แต่มีหัวหน้าเพียง 41% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับพนักงานใหม่ และพยายามทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรโดยสมบูรณ์
อีกหนึ่งที่ค้นพบในการศึกษาครั้งนี้ คือ พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจกับองค์กรที่ใช้ “อีเมล” ในการทำงาน ทั้งในการส่งไฟล์งาน บันทึกการประชุม หรือแม้แต่สั่งงานและส่งฟีดแบ็กในการทำงาน มากกว่าการโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทั้งแบบไม่ระบุชื่อและไม่เปิดเผยตัวตน
ที่มา: Qualtrics