‘นิการากัว’ โดดเด่นทั้งภูเขาไฟ ทะเลสาบ แถมมี Miss Universe คนแรกของประเทศ
“นิการากัว” แม้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกากลาง แต่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นจุดขายสำคัญ และล่าสุดยังมี “นางงามจักรวาล” คนแรกของประเทศอีกด้วย จึงน่าติดตามต่อว่าหลังจากมี Miss Universe คนแรกแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นได้หรือไม่
Key Points:
- “นิการากัว” เป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของ “สเปน” ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 และ “เม็กซิโก” ในปี 1821 ก่อนจะได้รับเอกราชในปี 1838 ที่นี่จึงใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ
- แม้ว่านิการากัวจะมีภาคการเกษตรเป็นตัวสร้างรายได้หลักเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกากลาง เพราะไม่มีงานให้ประชากรทำอย่างเพียงพอ
- ปัจจุบัน “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ของนิการากัว เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ เนื่องจากที่นี่มีความโดดเด่นทางธรรมชาติ ทั้งทะเลสาบ ภูเขาไฟ และชายหาด เป็นจุดขายสำคัญ ทำให้สร้างรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับ 3
หลังจาก “เชย์นิส ปาลาซิออส” (Sheynnis Palacios) สาวงามประเทศ “นิการากัว” คว้าตำแหน่ง Miss Universe 2023 ได้สำเร็จ นอกจากสร้างความฮือฮาบนเวทีประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 72 แล้ว เหตุการณ์นี้ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้นิการากัวด้วย เพราะเธอคนนี้คือ “นางงามจักรวาล” คนแรกของประเทศ หลังจากประกาศผลไปไม่นาน ชื่อของ “ประเทศนิการากัว” ก็โด่งดังข้ามคืนและติดเทรนด์การค้นหาอย่างรวดเร็ว
เชย์นิส ปาลาซิออส Miss Universe 2023
หลายคนอาจจะพอทราบมาบ้างว่า ประเทศนิการากัวหรือ สาธารณรัฐนิการากัว (Nicaragua) เป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง มีขนาดใหญ่กว่านครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกาเพียงเล็กน้อย แต่กลับมีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุด (ประมาณ 6 ล้านคน)
ครั้งนี้กรุงเทพธุรกิจจะชวนมาส่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของ “นิการากัว” เพราะนอกจากจะมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ยังมีธรรมชาติที่สวยงามเป็นจุดขายอีกด้วย
- “นิการากัว” ประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของ “สเปน” และ “เม็กซิโก”
ก่อนที่นิการากัวจะเป็นประเทศที่มีเอกราชอย่างปัจจุบันนี้ เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของ “สเปน” มาเป็นเวลานานตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 จนถึงศตวรรษที่ 19 โดยนิการากัวได้รับเอกราชจากสเปนในปี 1821 แต่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “เม็กซิโก” อีกหลายปี และแยกตัวออกมาได้สำเร็จในปี 1838
เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนนานหลายปี ทำให้นิการากัวใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ และประชากรส่วนมากมักเป็นลูกครึ่งระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวสเปน แต่ปัจจุบันเริ่มมีชาวอเมริกันเข้าไปอยู่ในนิการากัวเพิ่มขึ้น
สำหรับประวัติศาสตร์ของ “นิการากัว” ที่บันทึกไว้เชื่อว่า กลุ่มคนที่เข้ามาตั้งรกรากในช่วงแรกอาจเกี่ยวข้องกับชาวมายาและชาวแอซเท็กในเม็กซิโก โดยในยุคแรกกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่มากที่สุดคือ “ชาวนิการาโอ” (Nicarao) ที่กลายเป็นชนเผ่าที่มีประชากรมากที่สุดในปัจจุบัน และยังเป็นที่มาของชื่อของประเทศอีกด้วย โดยการนำคำว่า “นิการาโอ” มารวมกับคำว่า “อะกวา” (Agua) ซึ่งแปลว่า “น้ำ” ในภาษาสเปน
ในด้านภูมิศาสตร์นิการากัวมีอาณาเขตทางเหนือติดกับ “ฮอนดูรัส” และทางใต้ติดกับ “คอสตาริกา” มีชายฝั่งตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนชายฝั่งตะวันออกติดกับทะเลแคริบเบียน และยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลายอย่าง เช่น พายุเฮอริเคน แผ่นดินไหว และภูเขาไฟ เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่บนแนววงแหวนแห่งไฟ
แม้ว่าข้อมูลจาก กระทรวงการต่างประเทศ ของไทย และ National Geographic จะระบุตรงกันว่า “นิการากัว” เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกากลาง เพราะมีงานทำไม่เพียงพอต่อประชากรในประเทศ ทำให้ความยากจนกระจายเป็นวงกว้าง แต่ก็ยังมีเกษตรกรรมเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ เช่น กล้วย อ้อย ฝ้าย ข้าว ข้าวโพด งา และกาแฟ โดย “กาแฟ” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมี “ภูเขาไฟ” ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงตามไปด้วย เป็นที่มาของเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และ “ธรรมชาติ” ยังกลายเป็นหนึ่งในจุดขายด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
การทำงานในไร่กาแฟที่นิการากัว (The Tico Times)
- “ดินแดนแห่งทะเลสาบและภูเขาไฟ” หนึ่งในหมุดหมายสายเที่ยวธรรมชาติ
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ถือเป็นแหล่งรายได้ลำดับ 3 ของ “นิการากัว” เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีพื้นที่คุ้มครองมากกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด
สถานที่ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของนิการากัวก็คือ “ทะเลสาบมานากัว” (Managua) ที่เป็นทะเลสาบน้ำจืดเพียงแห่งเดียวที่มีฉลามอาศัยอยู่ และมีเกาะหลายร้อยเกาะอยู่ในบริเวณทะเลสาบ รวมถึงเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง และใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก ด้วยพื้นที่ 8,264 ตารางกิโลเมตร
จุดเด่นที่ทำให้ทะเลสาบมานากัวได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวก็คือ มีลมพัดมาจากนอกชายฝั่งแปซิฟิกอยู่เสมอ ทั้งยังมีน้ำอุ่นตลอดทั้งปี ทำให้เป็นสถานที่โต้คลื่นยอดนิยม
นอกจากฉลามน้ำจืดแล้ว “นิการากัว” ยังมีสัตว์หายากตามธรรมชาติอีกหลายชนิด เช่น นกทูแคน งูเหลือม ลิง หมูป่า เสือจากัวร์ สล็อธ พะยูน และเต่าทะเล รวมถึงมีแนวปะการังอีกด้วย จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบธรรมชาติได้ไม่ยาก
ไม่ใช่แค่ทะเลสาบเท่านั้นที่ทำให้นิการากัวมีชื่อเสียงในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แต่ยังมี “ภูเขาไฟ” อันโด่งดังอีกมากมาย เช่น San Cristóbal, Cerro Negro, Masaya, Mombacho, Maderas และ Concepción เป็นต้น รวมถึง “ทะเล” ที่นอกจากจะเหมาะกับการโต้คลื่นแล้ว การดำน้ำก็เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเช่นกัน
ภูเขาไฟ Concepción ในนิการากัว (Nicaragua Travels)
นอกจากนี้นิการากัวยังมีเขตสงวนชีวมณฑลอีก 3 แห่งที่ UNESCO รับรอง ได้แก่ Bosawás, Ometepe และ Río San Juan ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หลายชนิด รวมถึงมีแม่น้ำ Río Coco ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยถูกรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของ UNESCO ในอเมริกากลาง
แม้ว่านิการากัวจะมีธรรมชาติที่สมบูรณ์แต่ก็ต้องประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากที่อื่นในโลก เช่น มลพิษทางน้ำ, การพังทลายของดิน และการตัดไม้ทำลายป่า
หากมองในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมด้านอาหาร ไปจนถึงสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของ “นิการากัว” ล้วนมีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ประกอบกับการที่ เชย์นิส ปาลาซิออส ได้เป็น “นางงามจักรวาล” คนแรกของประเทศ ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่า หลังจากนี้นิการากัวจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นและพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ได้อย่างไรบ้าง
อ้างอิงข้อมูล : National Geographic, Visit Nicaragua และ กระทรวงการต่างประเทศ