เทรนด์ใหม่วัยทำงาน ตกเย็นเข้าสู่ ‘Dead Zone’ แว่บหาย โผล่อีกทีตอนดึก
ส่องเทรนด์ใหม่วัยทำงาน พนักงานออฟฟิศใช้ช่วงเวลาตอนเย็นสำหรับพักผ่อน จนหัวหน้าไม่สามารถติดต่อได้ เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า “Dead Zone” ขณะที่บางคนชอบทำงานช่วงกลางคืน 18.00-22.00 เพราะเห็นว่า “Work Life Balance” เป็นสิ่งสำคัญและติดนิสัยจากช่วง “Work From Home”
รูปแบบการทำงานในยุคหลังโควิดได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลายเป็นสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ เมื่อสามารถทำงานจากที่บ้านได้ จึงไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าจอทำงานตลอดเวลา พนักงานบางคนจึงใช้เวลาช่วงเย็นไปทำอย่างอื่น เช่น ทำงานบ้าน ออกกำลังกาย เลี้ยงลูก ซื้อของ หาอาหารกิน ไปจนถึงการตีกอล์ฟ
จากแบบสอบถามในเว็บไซต์ Blind ชุมชนสำหรับกลุ่มอาชีพเทคโนโลยี ได้จัดทำแบบสำรวจเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน โดยผลการสำรวจพบว่า 45% ของผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามเกือบ 10,000 คน ยอมรับว่า ตัวเองทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น แต่ก็เป็น 4 ชั่วโมงที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งหน้าจอทั้งวันแต่งานไม่คืบ
- เพราะ Work Life Balance เป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อหลายบริษัทเริ่มเรียกพนักงานกลับเข้าบริษัท พนักงานเหล่านี้ยังคงติดนิสัยทำงานไม่เต็มวันอยู่ แอบเจ้านาย “แว่บ” ออกจากบริษัทไปทำอย่างอื่น โดยเฉพาะในช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่พนักงานสะสางงานเสร็จแล้ว และไม่มีแรงที่จะเริ่มทำงานอื่น พวกเขาจึงหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลาย และรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance) ดังนั้นการนัดประชุมในช่วงตั้งแต่บ่าย 4 โมงเย็นเป็นต้นไป จึงมีโอกาสยกเลิกสูงมาก เพราะไม่มีใครเหลืออยู่ในออฟฟิศ ส่วนคนที่ยังอยู่ สมองก็ไม่พร้อมรับข้อมูลใหม่แล้ว
ช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่า “Dead Zone” หรือเวลาช่วงไร้การตอบสนอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถติดต่อคนในทีมได้ยากที่สุด นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ซีอีโอส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานแบบผสมผสาน และอยากให้เข้ามาทำงานในออฟฟิศมากกว่า เพราะบางเรื่องจำเป็นต้องการใช้การตัดสินใจจากทุกคน
งานวิจัยของ Microsoft ที่ปล่อยออกมาในปี 2023 ระบุว่าในช่วงก่อนที่จะปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่นแบบปัจจุบัน พนักงานจะแบ่งการทำงานในแต่ละวันออกเป็น 2 ช่วง คือก่อนพักกลางวัน และหลังพักกลางวัน แต่หลังจากการทำงานจากที่บ้านได้รับความนิยมมากขึ้น พนักงานเริ่มทำงานในช่วงกลางคืน 18.00-22.00 น. เพิ่มมากขึ้น
ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่เรียกรูปแบบการทำงานเช่นนี้ว่า Triple Peak Day หรือ จุดพีค 3 ช่วงของการทำงานระหว่างวัน คือ เช้า บ่าย และกลางคืน
นักวิจัยของ Microsoft ระบุว่า รูปแบบการทำงานแบบ Triple Peak Day จะยังคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ แต่การทำงานแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตของใครเลย สำหรับหัวหน้างานแล้วเท่ากับต้องทำงานอยู่ทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันค่ำ แทบจะไม่มีเวลาพักด้วยซ้ำ ขณะที่พนักงานสามารถรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่ไม่เป็นเวลา
“Triple Peak Day เป็นรูปแบบการทำงานทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ความท้าทายของงานนี้คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้คนไม่ได้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการทำงานตลอดเวลาเป็นสัญญาณขั้นต้นของการเข้าสู่สภาวะหมดไฟ” ชามซี อิคบาล นักวิจัยของ Microsoft Research กล่าวในรายงาน
- นายจ้างต้องปรับตัว
อัลเบิร์ต ฟ่ง รองประธานฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของ Kanarys บริษัทเทคโนโลยี ยอมรับกับ WSJ ว่า ถ้าไม่ได้กำหนดเวลางานให้ชัดเจน เขาก็จะเผลอเช็กอีเมลในโทรศัพท์ทุกเย็น และเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานวันอาทิตย์เสมอ
ในขณะเดียวกันการนัดประชุมออนไลน์ทำได้ยากขึ้น เพราะแต่ละคนเริ่มทำงานไม่พร้อมกัน แถมปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เคยแก้ได้จากการประชุม กลับกลายเป็นปัญหาข้ามคืนเพียงเพราะพนักงานเข้าประชุมไม่พร้อมกัน โดย มาเรีย บาแนช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเภสัชกรรม “การจัดตารางการประชุมกลายเป็นเรื่องยาก และทำให้เรียนรู้ว่า อย่านัดคนในทีมทำงานตอนเช้า รวมถึงในวันศุกร์ที่ทุกคนเตรียมพักผ่อน”
เพื่อไม่ให้การประชุมกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากของทีมงาน นักวิจัยของ Microsoft แนะนำให้ผู้นำกำหนดแนวทางที่ชัดเจน
“จำเป็นต้องกำหนดข้อตกลงในการทำงานที่ชัดเจน แต่คุณต้องยอมรับว่าคุณไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทุกคนในทีมของคุณจะพร้อมทำงานกี่โมง หรือคนอื่น ๆ จะโอเคกับการทำงานนอกเวลาหรือไม่ ดังนั้นนายจ้างไม่ควรคาดหวังใด ๆ ต่อการตอบสนองของพนักงาน” อิคบาลกล่าว
ขณะที่เมอร์เซเดส อายซีเนนา บริหารระดับสูงของ Komet USA บริษัทผลิตเครื่องมือทันตกรรม ระบุว่า นายจ้างต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่า พวกเขาไม่ต้องทำงานตลอดเวลา เช่น ห้ามประชุมหลัง 16.00 น. หรือช่วงบ่ายวันศุกร์ก่อนวันหยุด
ส่วน แอนโธนี สเตฟาน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเรียนรู้ของ Deloitte บริษัทให้บริการผู้ช่วยส่วนบุคคล กล่าวว่า เขาพยายามจะให้พนักงานได้เลิกงานตรงเวลา แต่ถ้ามีเรื่องฉุกเฉินที่ไม่สามารถรอวันถัดไปได้ เขาจะใส่ #criticalnow ในบรรทัดหัวเรื่องอีเมล เพราะว่าเรื่องส่วนใหญ่สามารถรอการตอบกลับในวันรุ่งขึ้นได้
ที่มา: Fortune, The Wall Street Journal