Solomon’s Paradox ชี้แนะตนเองล้มเหลว | วรากรณ์ สามโกเศศ
ในปี 2557 นักจิตวิทยาสองคนชื่อ Igor Grossman และ Ethan Kross แนะนำให้โลกรู้จัก คำว่า Solomon’s Paradox หรือสถานการณ์ที่ย้อนแย้ง
“พี่เขาเป็นคนที่ให้คำแนะนำที่ดีๆ แก่พวกเราเสมอ แต่แปลกนะที่ชีวิตพี่เขาแสนวุ่นวาย เหมือนขาดหางเสือ”
“เพื่อนผมให้คำแนะนำเพื่อดูแลสุขภาพได้ยอดเยี่ยมมาก แต่ดูสารรูปของเขาแล้วไม่น่าอยู่ถึง 60”
“คุณพ่อเป็นคนคิดแก้ปัญหาชั้นยอดให้ผู้อื่น แต่สำหรับปัญหาของตัวท่านแล้ว ทำไมถึงคิดไม่ออกก็ไม่รู้”
คำพูดแบบนี้เราคงได้ยินกันอยู่เนืองๆ และสังเกตเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ด้วยตนเอง นักจิตวิทยาก็เห็นและเรียกมันว่า “Solomon’s Paradox” การเข้าใจความยอกย้อนเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเราเองและตัดสินใจได้ดีขึ้น
Solomon ในที่นี้คือชื่อของ King Solomon แห่งอาณาจักรที่มีชื่อว่า Ancient Israel อยู่ระหว่าง 1,300 ถึง 1,200 ก่อนคริสตกาล ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความฉลาดและปัญญาหลักแหลม
มีเรื่องเล่าว่าหญิง 2 คนแย่งทารกกันโดยต่างอ้างว่าเป็นแม่ Solomon จึงควักดาบออกมาและบอกว่าจะตัดเด็กออกเป็นสองท่อนแล้วแบ่งกันไป หญิงคนหนึ่งร้องไห้และร้องว่ายอมแล้วอย่าทำเลย ยอมยกเด็กให้แล้ว Solomon ก็เลยตัดสินว่าหญิงคนนี้เป็นแม่จริงของเด็ก
Solomon เลื่องลือในการใช้ปัญญาให้คำชี้แนะที่มีเหตุมีผล ถูกต้องตามตรรกะแก่ผู้คนเสมอ แต่สำหรับตัวเขาเองแล้วกลับมีชื่อเสียงเลวร้ายในการดำเนินชีวิต เลี้ยงลูกก็ไม่ได้ดี เหล่าบรรดาสนมที่มีมากมายให้ลูกนอกสมรสจนจำชื่อและหน้าไม่ได้
ชีวิตอีลุ่ยฉุยแฉกในการใช้เงินและใช้ชีวิตส่วนตัว เขาให้คำแนะนำที่เป็นเลิศแก่ผู้อื่น แต่ไม่สามารถให้คำแนะนำและการปฏิบัติที่ดีแก่ตนเองได้
ในปี 2557 นักจิตวิทยาสองคนชื่อ Igor Grossman และ Ethan Kross แนะนำให้โลกรู้จัก คำว่า Solomon’s Paradox หรือสถานการณ์ที่ย้อนแย้ง
กล่าวคือ เมื่อบุคคลหนึ่งมีปัญญาและความสามารถในการให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นได้ดี ก็ควรจะเป็นเช่นเดียวกันสำหรับตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ามันคือความสามารถของบุคคลในการวิเคราะห์เหตุและผลของปัญหาของคนอื่นได้ดีกว่าของตนเอง
งานศึกษาชิ้นนี้ค้นพบ 2 สิ่งคือ
(1) มนุษย์สามารถวิเคราะห์ปัญหาของคนอื่น และหาทางออกที่มีเหตุมีผลได้ดีกว่าปัญหาของตนเอง กล่าวคือมนุษย์มีความเอนเอียงในการใช้ความคิดจัดการเรื่องชีวิตของผู้อื่นได้ดีกว่าเรื่องชีวิตของตนเอง
(2) เมื่อเราพยายามทำตัวให้หลุดพ้นจากการจมปลักพัวพันอยู่ในเรื่องของตนเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าทำให้ตนเองมีระยะห่างจากปัญหาของตัวเราแล้ว ก็จะสามารถตัดสินใจอย่างมีเหตุและผลได้ดีกว่า
ทั้งสองข้อสรุปนี้เราสามารถประยุกต์กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ถ้าไม่รู้ว่ามนุษย์มี Solomon’s Paradox เราอาจนึกว่าสามารถให้คำแนะนำแก่ตัวเราเองได้ดีพอๆ กับที่ให้คำแนะนำแก่คนอื่น
ดังนั้น เราอาจเข้าใจว่าคำแนะนำที่ให้แก่ตนเองนั้นถูกต้องและเหมาะสมดีแล้ว ทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นคำแนะนำที่แย่มาก
เราเห็นแพทย์หรือเพื่อนผู้มีความรู้ดีมากในเรื่องการออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ อาหารและยา ให้คำแนะนำที่ดีเป็นคุ้งเป็นแคว แต่ทั้งหมดนั้น ตนเองมิได้ปฏิบัติตามเลย โดยไม่รู้สึกอะไรเพราะคิดว่าตนเองเป็นข้อยกเว้นพิเศษที่ไม่ต้องทำก็สามารถมีสุขภาพดีได้
ฟังดูอาจแปลก แต่ใจมนุษย์นั้น “ยากแท้หยั่งถึง” เพราะเรานั้น “เชื่อ-ชอบ-รัก” อย่างที่เราเลือกที่จะ “เชื่อ-ชอบ-รัก” อารมณ์นั้นมาเหนือเหตุผล
ถ้าไม่เชื่อลองไปถามแม่ของฆาตกรร้ายๆ ดูก็ได้ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว อาจได้ยินว่า “จริงๆ แล้วเขาเป็นคนดี มีจิตใจดี” หรือส่องกระจกดูตนเองก็จะได้ความรู้สึกว่าถึงจะแก่ไปบ้างแต่ก็ดู “งามสมวัย”
เมื่อเรายอมรับว่า Solomon’s Paradox มีจริงเพราะมนุษย์นั้นเป็นมนุษย์เสมอ มีรัก-โลภ-โกรธ-หลง เป็นเจ้าเรือน ในเรื่องปัญหาของตนเอง อารมณ์มีส่วนสำคัญในการบดบังความคิดและวิจารณญาณ จนอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
นักจิตวิทยาได้เสนอวิธีการที่น่าสนใจในการเอาชนะ Solomon’s Paradox โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ดังต่อไปนี้
(1) สร้างระยะห่างเพื่อความชัดเจน อารมณ์ของตัวเราเองทำให้การคิดวิเคราะห์ที่โล่งชัดเจนเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ต้องพยายามตัดตนเองจากการวิเคราะห์ปัญหาของตนเองด้วย 2 เทคนิค ดังนี้
(ก) จินตนาการว่ากำลังให้คำแนะนำแก่เพื่อนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเรา แบบฝึกหัดการคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดระยะห่างที่ช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างเที่ยงธรรมและปลอดจากอารมณ์ของตัวเราเอง
(ข) พูดกับตนเองในฐานะบุคคลที่สาม การกระทำเช่นนี้ทำให้สามารถมองปัญหาได้จากอีกแง่มุมหนึ่ง ปลอดจากความเอนเอียงของจิตใจเรา วิธีนี้ช่วยให้เกิดความตระหนักในสถานะของตนเองและทำให้ไม่เอนเอียงในการประเมินสถานการณ์
(2) ยอมรับสิ่งที่ค้นพบ เมื่อมีระยะห่างจากตนเอง และเห็นสภาพความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่เอนเอียงแล้ว ขั้นตอนนี้คือการรับเอาคำแนะนำที่ให้กับบุคคลที่สาม (ตนเอง) มาปฏิบัติ ต้องยอมรับความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นจากการรับเอาคำแนะนำดังกล่าวมาปฏิบัติ และ
(3) ลงมือปฏิบัติอย่างไม่รีรอ ขั้นตอนนี้ยากที่สุด เพราะเป็นการนำเอาสิ่งที่ค้นพบ หรือคำแนะนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังและไม่รีรอ ถึงแม้จะเจ็บปวดแต่ก็อาจน้อยกว่าหากทิ้งไว้โดยไม่มีการแก้ไข
โดยสรุป วิธีการที่สำคัญในการเอาชนะ Solomon’s Paradox กล่าวคือสามารถให้คำแนะนำที่ดีแก่ผู้อื่นและตนเองอย่างเท่าเทียมกันก็คือ สร้างระยะห่างจากตนเองเพื่อมิให้อารมณ์เข้ามาแทรกแซงบดบังการใช้เหตุใช้ผลอย่างเที่ยงธรรม
โดยเล่นบทว่ากำลังให้คำแนะนำแก่เพื่อนที่อยู่ในสภาพปัญหาเดียวกับเรา เมื่อได้คำตอบแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติจริงจังอย่างไม่รีรอ
ทำอย่างไรเราจะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์ให้คำตอบแก่ตัวเราเองได้ชัดเจน เหมือนเวลานั่งดูละครและเห็นคำตอบได้ชัด เช่น พุดตานในละครออเจ้า ไม่ควรกลับกรุงเทพฯ ควรอยู่อยุธยาต่อไป เพราะความรักได้นำทางมาแล้ว
(และเราจะได้ดูละครต่อไปอย่างมีความสุขสไตล์แฮปปี้เอนดิ้งของชาว ทุ่งลาเวนเดอร์ด้วย).