10 เรื่อง “คืออะไร” แห่งปี 2023 คำฮิตใช้กันเยอะ จนคนไทยต้องหาคำตอบในกูเกิล
เปิด 10 คำ ที่ “คนไทย” ค้นหาความหมายมากที่สุดบน “Google” ในหมวด “คืออะไร” ซึ่งเป็น "คำศัพท์" ที่พบเห็นได้บ่อยโซเชียลบนโลกโซเชียลตลอดปี 2023
ในแต่ละปีมี “คำศัพท์” ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายคำก็ฮิตจนไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีแต่คนพูด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะ “ตามทัน” ฟังแล้วไม่เข้าใจจนต้องใช้ “Google” ช่วยค้นหาว่า คำเหล่านั้นมัน “คืออะไร” มีความหมายหรือใช้อย่างไร และนี่คือ 10 คำที่คนไทยอยากรู้มากที่สุดว่าแปลว่าอะไร จนต้องไปหาใน Google
1) อีกี้คืออะไร
“อีกี้” เป็นชื่อตัวละครที่ถูกกล่าวถึงในเพลง “ธาตุทองซาวด์” ของ Youngohm โดยเป็นตัวแทนของผู้หญิงวัยรุ่นที่เป็นสก๊อย ชอบนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ผู้ชาย ทำผมทรงรากไทร มักใส่เสื้อสายเดี่ยวกับกางเกงขาสั้น ซึ่งผู้หญิงเกือบทุกคนในยุค Hi5 ต่างต้องเคยผ่านการแต่งตัวหรือทำผมทรงนี้มาแล้วทั้งนั้น พอเพลงนี้โด่งดัง ผู้ฟังเลยพากันขุดรูปตัวเองสมัยที่เป็นอีกี้ออกมาโชว์กันเต็มหน้าฟีด
2) Y2K คืออะไร
หนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปีนี้ คือ กระแส “Y2K” ที่หมายถึง ช่วงคาบเกี่ยวของปลายยุค 90 จนถึงช่วงต้นยุค 2000 คำนี้ย่อมาจากคำว่า Year 2 Kilo (Kilo = พัน) ซึ่งยุคนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีก้าวเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบและมีแฟชั่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น การแต่งตัวแบบสมาชิกวง Triumph Kingdoms และภาพยนตร์เรื่อง Mean Girls โดยแฟชั่นเหล่านี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2023 จากการแต่งกายของเหล่าคนดัง เช่น “เฮลีย์ บีเบอร์” “เบลลา ฮาดิด” และ “NewJeans”
3) ด้อมส้มคืออะไร
ในหน้าข่าวการเมืองปีนี้จะเห็นคำว่า “ด้อมส้ม” อยู่มากมาย โดยคำนี้มีความหมายว่า แฟนคลับหรือผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เนื่องจากคำนี้มาจากการรวมกันของคำว่า ด้อม หรือ แฟนด้อม ที่แปลว่า แฟนคลับ และ ส้ม ซึ่งเป็นสีประจำพรรคก้าวไกลนั่นเอง
4) ว้าวุ่นคืออะไร
“เรามันก็เท่ซะด้วย ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย” เป็นประโยคดังในชั่วข้ามคืนจากการให้สัมภาษณ์ของ “เก้า - จิรายุ ละอองมณี” นักแสดงและนักร้อง และคนก็นำประโยคนี้ไปใช้ต่อกันจนกลายเป็นไวรัล ซึ่งหลายคนก็อาจจะไม่รู้ว่าความหมายของ “ว้าวุ่น” แปลว่าอะไร รวมถึงทำไมอยู่ดีๆ ถึงฮิตขึ้นมา จนต้องค้นหาที่มาที่ไปและคำแปลใน Google โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายศัพท์ ว้าวุ่น หมายถึง สับสน เช่น จิตใจว้าวุ่น
5) เลือดกรุ๊ปบีคืออะไร
“เอิ้ก ชาลิสา” ยูทูบเบอร์เจ้าของรายการ “EAT อีสมารูอ้วย” รายการนั่งกินไปคุยไป ได้เล่าว่า เวลาที่เพื่อนชวนไปไหนแล้วเราไม่อยากไป หาทางปฏิเสธไม่ได้ เธอจะตอบไปว่า “ไม่ได้แก ฉันเลือดกรุ๊ปบี” ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวจะทำให้เพื่อนงงว่าเกี่ยวอะไรกับเลือด สุดท้ายก็จากไปเอง จนสุดท้ายถูกนำมาแต่งเป็นเพลงชื่อ “เลือดกรุ๊ปบี” ซึ่งได้รับความนิยมทั่วบ้านทั่วเมือง กลายเป็นหนึ่งเพลงฮิตของปี และทำให้ท่อนฮุคของเพลง “ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน” กลายเป็นอีกหนึ่งคำฮิตของโลกโซเชียล
6) รังสิตมันร้ายคืออะไร
“รังสิตมันร้าย” เป็นเพลงสุดฮิตจาก TikTok ซึ่งมีเนื้อหาในเชิงหยอกล้อหยิกแกมหยอก และมีท่าเต้นเป็นเอกลักษณ์จนคนนำมาทำชาเลนจ์ทั่วเมือง โดยที่มาของวลีหมายถึงความสัมพันธ์ของชาวซอยรังสิตภิรมย์ ที่มักจะซับซ้อนและสนุกสุดเหวี่ยง มีการนัดพบปะเจอกันเพื่อทำกิจกรรม One Night Stand กลายเป็นที่โจษจันกันโดยทั่วไป
7) ส้มรักพ่อคืออะไร
ในช่วง “การเลือกตั้ง 2566” ที่ผ่านมา มีสีสันทางการเมืองมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เวลาที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ลงพื้นที่หาเสียง มักจะมีประชาชนไปรอต้อนรับ และตะโกนบอกรักพิธาด้วยประโยค “ส้มรักพ่อ” ซึ่งส้มหมายถึงแฟนคลับของพรรค และพิธาตอบกลับว่า “พ่อก็รักส้ม” จนกลายเป็นไวรัลไปชั่วเวลาหนึ่ง
8) บักเคมเบะคืออะไร
ผู้ใช้งาน TikTok รายหนึ่งได้ถ่ายวิดีโอคู่กับตัวละครในเรื่อง “โดราเอมอน” และเรียกชื่อตัวละครแต่ละตัว พอถึงคิวของ “ซึเนโอะ” เธอกลับเรียกว่า “บักเคมเบะ” ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทำไมเธอถึงได้เรียกชื่อผิดไปได้ไกลขนาดนั้น และไม่รู้ว่าบักเคมเบะแปลว่าอะไร แต่สร้างความเอ็นดูให้แก่ผู้ชม จนกลายเป็นคลิปที่มีผู้เข้าชมหลายล้านครั้ง
9) Skrt คืออะไร
คำว่า “Skrrt” (สเกิร์ต) เป็นคำสแลงที่เหล่าแร็ปเปอร์ทั้งไทยและต่างประเทศ นิยมมาใช้ในเพลงเพื่อเพิ่มความน่าสนใจในเพลง โดยคำนี้เป็นการเลียนเสียงเวลาล้อรถเสียดสีกับถนน ซึ่งคำนี้อยู่ในเพลงธาตุทองซาวด์เช่นเดียวกับอีกี้ ในท่อน “อีกี้นี้มันเป็นสก๊อย ไปกับผู้บ่อย ผู้พาไป skrt อีกี้ชอบไป skrt แต่เปลี่ยนผู้บ่อย สงสัยไม่เวิร์ก”
10) Sigma คืออะไร
หากพูดถึง “Sigma” (ซิกมา) หลายคนอาจจะคิดถึงสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ แต่ว่า Sigma ในที่นี้มาจาก “Sigma Male” หมายถึงผู้ชายที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้นำ รักอิสระ มีแนวทางการดำเนินชีวิตของตนเอง พึ่งพาตนเอง โดยไม่สนใจกระแสสังคม และเงียบขรึมในบางครั้ง เป็นที่ชื่นชอบของผู้หญิงมากกว่า “Alpha male” ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ชายแทร่” ตามแบบฉบับของผู้ชายในสังคมปิตาธิปไตย