คติชีวิตจาก “ศรีบูรพา” | วรากรณ์ สามโกเศศ
"กุหลาบ สายประดิษฐ์" เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” หนึ่งในบุรุษแห่งปัญญาของสังคมไทย ได้ให้ที่สุดแห่งความจริงของชีวิตด้วยภาษาไทยที่งดงามอย่างสมควรใคร่ครวญ
คำกล่าวของผู้ทรงปัญญาเกี่ยวกับชีวิต มีคุณค่าอย่างยิ่งเสมอต่อผู้กระหายเรียนรู้ ซึ่งต้องการมีชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่า
คุณกุหลาบ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” เป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ผู้มีผลงานมากมาย ที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ ข้างหลังภาพ (2479) สงครามชีวิต (2475) แลไปข้างหน้า (2498) ลูกผู้ชาย(2471) ฯลฯ
ท่านเกิดใน พ.ศ. 2449 และถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2517 ด้วยวัย 68 ปี เรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเรียนจบธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
"ศรีบูรพา” พยายามปลุกสังคมไทยให้เข้าใจและเห็นใจคนยากไร้ผ่านคำพูดและเรื่องราวของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน “สงครามชีวิต” ซึ่งเป็นเรื่องราวของความรักของชายหนุ่มผู้ยากจนกับหญิงสาวผู้เคยร่ำรวยและตกอับ
โดยเล่าผ่านจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันอันแสดงออกถึงความรัก ค่านิยม ความเชื่อ ความคิดของแต่ละคน ฯลฯ
ตอนหนึ่ง ชายหนุ่มกล่าวว่า “ฉันอ้อนวอนเพลิน อย่าได้ชำเลืองดูชีวิตของบุคคลที่สูงกว่าเรา พวกนี้เป็นภัยที่สุดสำหรับคนอย่างเธอและฉัน จำไว้ว่าความมั่งมีที่เราอยากได้ แต่ไม่สามารถขึ้นถึงจะฆ่าเธอ สภาพจนที่ต่ำกว่านั้นแหละจะช่วยต่อชีวิตของเธอให้ยืนยาว”
ข้อความนี้สามารถเอามาสอนคนในยุคนี้ ที่ต้องการเลียนแบบวิถีชีวิตของคนมีฐานะจนกระเสือกกระสนเป็นหนี้อย่างเป็นภัยแก่ตนเอง แต่ถ้าหากยอม “อยู่กิน” อย่างต่ำกว่าแล้ว (จนมีเงินออมได้) ก็จะมีหนทางชีวิตอยู่รอดต่อไป
ประโยคนี้ล้ำลึกกว่าแค่เงินทอง ภัยเกิดเแก่ตนเองได้ในหลายลักษณะหากมัวเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่นที่มีฐานะ “เหนือกว่า” อยู่ร่ำไป พูดง่าย ๆ ก็คือ “ศรีบูรพา” กำลังสอนเรื่องชีวิต เรื่องความพอใจในชีวิตของตนเอง ความโลภอยากมั่งมีจะเป็นภัยที่ฆ่าตนเองได้เสมอ
“ศรีบูรพา” ได้สอนชาวธรรมศาสตร์ตลอดจนนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่ถือได้ว่าเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ของสังคมไทยอย่างน่าคิด ข้อความตอนหนึ่งจากบทความ “มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว” (2496) (มธก. ย่อมาจากชื่อดั้งเดิมคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง).
“นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะมีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคน อื่น ๆ
รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”
ข้อความข้างต้นนี้ได้ถูกดัดแปลงโดยกลุ่มนักศึกษากิจกรรม “14 ตุลา “ เป็นข้อความว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” โดยนำมาเผยแพร่ที่งานนิทรรศการการเมืองในปี พ.ศ. 2518
ข้อความสำคัญนี้เตือนใจให้ไม่ลืมประฃาชนผู้โดยแท้จริงแล้วคือเจ้าของมหาวิทยาลัย เพราะเงินทุกบาทที่ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่มาได้ตลอดนั้น ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
“ศรีบูรพา” ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะความแตกต่างทางฐานะของผู้คนดูจะเป็นเรื่องที่เป็นปกติจนถูกมองข้าม
คนที่ร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ รู้ดีว่ากลไกของเศรษฐกิจโดยธรรมชาติทำให้เกิดสถานการณ์ที่ความยากจนของคนบางกลุ่มนั้นเป็นผลพวงจากการหาประโยชน์ของผู้เหนือกว่าทั้งด้านฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างจงใจและอย่างมิได้ตั้งใจ
ดังนั้น คนที่เข้าใจเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริงและมีหัวใจแล้วมักอยู่เคียงข้างคนยากไร้เสมอ
“ข้างหลังภาพ” เป็นนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วกว่า 37 ครั้ง สร้างเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง แปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น
นิยายโรแมนติคนี้มีพล็อตว่า ม.ร.ว.กีรติ สาวงามวัย 35 ปี เป็นภรรยาของเจ้าคุณอายุ 50 ปี ไปเที่ยวญี่ปุ่นและให้นพพร นักศึกษาหนุ่มผู้กำลังเรียนเศรษฐศาสตร์ วัย 22 ปี เป็นผู้นำเที่ยว ทั้งสองเกิดรักชอบพอกันแต่ก็หาทางออกไม่ได้
จนคุณหญิงกีรติเดินทางกลับ 6 ปีผ่านไป เจ้าคุณเสียชีวิตไปแล้ว นพพรกลับมาและแต่งงานกับคู่รัก ท่ามกลางการรอคอยของคุณหญิง นิยายรักแสนเศร้านี้ใช้ภาษาไทยที่สละสลวย และมีข้อความที่กินใจเสมอ ตอนหนึ่งมีความว่า
“แม้เรามิได้เกิดเป็นดอกซากุระ ก็อย่ารังเกียจที่เกิดเป็นบุปผาพรรณอื่นเลย ขอแต่ให้เป็นดอกไม้ที่งามที่สุดในพรรณของเรา/ ภูเขาฟูจิมีอยู่ลูกเดียว แต่เขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่ /
ในโลกนี้มีตำแหน่งและงานสำหรับทุกคน งานใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่ก็เป็นงานที่มีตำแหน่งและเกียรติด้วยกันทั้งนั้น /แม้เป็นดวงอาทิตย์ไม่ได้ จงเป็นดวงดาวเถิด / จะเป็นอะไรก็ตาม จงเป็นสักอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรมิใช่ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่า จงเป็นให้ดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”
ไอเดียในการเขียนข้อความนี้มาจากสุภาษิตของญี่ปุ่น “ศรีบูรพา” เขียนได้งดงามและมีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างน่าไตร่ตรองโดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยอ่านข้อความที่อุดมด้วยปัญญานี้
สำหรับคนโรแมนติกลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้ของคุณหญิงกีรติก่อนตาย “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลดีเด่นของโลกจากองค์กร UNESCO ในปี 2548 ท่านจะเสียชีวิตครบ 50 ปี ในปีหน้า นี่คือมรดกอันล้ำค่าที่ท่านมอบไว้ให้คนรุ่นหลัง.