‘จิรพิสิษฐ์’ เบื้องหลัง ‘กางเกงแมวโคราช’ อวดโฉมบนเกมดัง ‘Free Fire’
หลัง “กางเกงแมวโคราช” ได้ร่วมงานกับ “การีนา” ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ โดยการเป็น Skin Item ในเกม “Free Fire” หลายคนอาจอยากรู้ว่าเบื้องหลังการเจรจาเป็นอย่างไร “จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ” จะมาเล่าให้ฟัง
Key Points:
-
“กางเกงแมวโคราช” ยังเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง เพราะล่าสุดได้ไปอวดโฉมในเกมดัง “Free Fire” ของค่ายยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ “การีนา” โดยได้ค่าสื่อโฆษณาไปทั่วโลกในราคา 363 ล้านบาท
-
จุดเริ่มต้นของการเจรจาทำข้อตกลงครั้งนี้เกิดจากความคิดที่ว่า จะต่อยอดกางเกงแมวให้ไปเป็น Soft Power ของไทยและเป็นที่รู้จักในเวทีโลกเพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง โดย “จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ”
- นอกจากกางเกงแมวแล้ว หลายอย่างในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องราวรอบตัวของคนในแต่ละท้องถิ่น สามารถนำไปต่อยอดได้หมด เพราะ “Soft Power” ไม่ได้มีแค่อาหารเท่านั้น
แม้ว่าจะเปิดตัวไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 แต่ชื่อของ “กางเกงแมวโคราช” หรือ “กางเกงแมว” ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มคนไทยด้วยกันเองไปจนถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมซื้อกลับไปเป็นสินค้าที่ระลึก ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจกลายเป็นกระแส Soft Power ที่สำคัญของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
และแล้วกางเกงแมวโคราชก็สามารถเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกได้อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อบริษัทพัฒนาเกมและเผยแพร่เกมออนไลน์ฟรีสัญชาติสิงคโปร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก “การีนา” หรือ “Garena” ตัดสินใจนำกางเกงดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เป็น “Skin Item” ในเกมชื่อดัง “Free Fire”
ไม่ใช่แค่สร้างความภาคภูมิใจและเผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นไทยไปสู่ระดับสากลเท่านั้น แต่การก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมดัง มาพร้อมกับค่าสื่อโฆษณาที่สูงถึง 363 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้แน่นอนว่าต้องผ่านการเจรจาที่ไม่ธรรมดาระหว่างตัวแทนประเทศไทยกับการีนา
กรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับ จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ หรือ โจ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ผู้เจรจาผลักดัน “กางเกงแมวโคราช” ให้ได้ร่วมงานกับ “การีนา”
- เปิดที่มา “กางเกงแมวโคราช” สู่เกมออนไลน์ระดับโลก
เรียกได้ว่าเป็นกระแสโด่งดังทีเดียวสำหรับ “กางเกงแมวโคราช” โดยมีที่มาจากโครงการของหอการค้าที่จัดประกวดออกแบบลาย KORAT MONOGRAM (โคราช โมโนแกรม) สัญลักษณ์เมืองโคราช เพื่อนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ แม้ว่าจะได้ผลตอบรับที่ดี แต่ จิรพิสิษฐ์ มองว่าไม่อยากให้กระแสนี้หายไปจนกลายเป็นสินค้าธรรมดาที่ใครๆ ก็มี จึงอยากผลักดันให้เป็นปัจจัยที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักโคราชได้มากขึ้น จึงได้ติดต่อไปตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อหาช่องทางนำเสนอ ก่อนจะได้พบกับ “เกมออนไลน์”
จิรพิสิษฐ์ เล่าว่าตนมีโอกาสเข้าร่วมประชุมทูตทั่วโลกและมี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งภายในงานมีการพูดถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์, การท่องเที่ยวเมืองรอง และกีฬาอีสปอร์ต โดยภายในงานได้เจอผู้ใหญ่หลายคนทำให้มีโอกาสแบ่งปันไอเดียที่ว่ากางเกงแมวจะต่อยอดได้อย่างไรบ้าง
หลังจากได้รับคำแนะนำจากหลายฝ่ายก็ได้ไปพูดคุยกับ “การีนา” บริษัทพัฒนาและผลิตเกมชื่อดัง เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วก็ได้คำตอบว่า “กางเกงแมวโคราช” สามารถนำไปทำเป็นเสื้อผ้าให้กับตัวละครในเกมได้ (Skin Item) และ จิรพิสิษฐ์ ก็มองการเข้ามามีส่วนร่วมของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดเป็นภาพใหญ่ในเวลาต่อมา และหลังจากนั้นก็สามารถเจรจาจนได้รับค่าสื่อโฆษณาสำหรับประชาสัมพันธ์กางเกงแมวไปทั่วโลกได้ในราคา 363 ล้านบาท
- “Free Fire” และ “การีนา” มีส่วนช่วยพัฒนา “Soft Power” ของไทย ?
เนื่องจากหอการค้าฯ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทำให้ไม่สามารถรับ “เงินค่าลิขสิทธิ์” มาเก็บไว้ได้ จึงหาทางเพื่อทำให้เกิดมูลค่าสูงสุดด้วยการนำเงินก้อนนี้ไปเป็น “ค่าโฆษณา” เพื่อนำไปเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ออกไปทั่วโลก เพราะโดยทั่วไปแล้วการลงโฆษณาในระดับนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก นอกจากนี้ยังมีรัฐบาลคอยช่วยประชาสัมพันธ์อีกด้วย
การเปิดตัว “กางเกงแมวโคราช” ที่ปรากฏในเกม “Free Fire” ของ “การีนา” จึงกลายเป็นภาพใหญ่ มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมาในไทย และจะเริ่มเปิดตัวเพิ่มในอีกหลายประเทศทั่วโลกภายในปีนี้ โดยเกม Free Fire นั้นมีผู้เล่นประมาณ 160 ประเทศทั่วโลก
แน่นอนว่าการเจรจาลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ย่อมต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาไปจนถึงช่วยจัดหาทนายที่มีความสามารถจากต่างประเทศมาช่วยดูแลเรื่องเอกสาร แต่หลังจากเจรจาได้สำเร็จก็มีจังหวัดอื่นมาสอบถามเพื่อนำไปพัฒนาในจังหวัดตัวเองต่อไป จึงมองว่าเมืองรองอื่นๆ ก็สามารถนำไอเดียนี้ไปใช้ต่อไป
เรียกว่าการที่กางเกงแมวโคราชได้มีโอกาสไปอยู่ในเกมที่มีผู้เล่นทั่วโลกนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งออก “Soft Power” ไปในตัวก็ว่าได้
- Soft Power ไทย ในสายตา “จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ”
คำถามต่อมาสำหรับ “กางเกงแมวโคราช” ก็คือ หลังจากได้มีส่วนร่วมกับ “การีนา” แล้วจะมีทิศทางการต่อยอดอย่างไรต่อไป จิรพิสิษฐ์ ระบุว่ากำลังทำ “อาร์ตทอยส์” ในธีมกล่องสุ่มสายมู เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ของไทย ผ่านตัวอาร์ตทอยส์เพราะนักท่องเที่ยวสามารถซื้อกลับไปได้ โดยอาร์ตทอยส์ที่เป็นตัวแทนของโคราชก็คือ “เจ้าเมื่อย” ออกแบบมาจากแมวโคราช มีแมวทั้งหมด 5 ตัว จาก 5 ภาค เพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าความเป็นไทยออกไปสู่สากล โดยเฉพาะการแนะนำสถานที่ต่างๆ ที่อาจจะไม่ใช่จุดที่คนมาเที่ยวมากนัก เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“Soft Power ไม่ได้มีแค่อาหารและวัฒนธรรม ผมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการพูดถึงเรื่องของการออกแบบ แต่ความจริงต้องช่วยกันพูดในหลายด้าน เป็นตัวอย่างที่สามารถต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ได้” จิรพิสิษฐ์ กล่าว
นอกจากนี้ จิรพิสิษฐ์ ยังเล่าว่าที่ผ่านมามีคนมาปรึกษาว่าอยากออกแบบกางเกงลายอื่นบ้าง จึงแนะนำไปว่าสามารถเอาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่กางเกงมาต่อยอดได้เหมือนกัน เช่น ศิลปะอื่นๆ หรือเรื่องรอบๆ ตัวให้ช่วยกันเอามาพูด เมืองอื่นในประเทศไทยจะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
สุดท้ายนี้ “กางเกงแมวโคราช” เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งออก “วัฒนธรรม” ของไทย ผ่านทางเกมออนไลน์ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้จัก แต่หลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลจะผลักดัน “Soft Power” รูปแบบอื่นออกไปได้อย่างไรบ้าง